posttoday

'สุรช-เฉลิมโชค' ล่ำซำ ผู้กุมอนาคตล็อกซเล่ย์

23 เมษายน 2560

บริษัท ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) เป็นองค์กรที่มีอายุมายาวนานถึง 78 ปี ประกอบธุรกิจที่หลากหลาย ถึงตอนนี้เป็นยุคของทายาทรุ่นที่ 4

โดย...ประลองยุทธ ผงงอย

บริษัท ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) เป็นองค์กรที่มีอายุมายาวนานถึง 78 ปี ประกอบธุรกิจที่หลากหลาย ถึงตอนนี้เป็นยุคของทายาทรุ่นที่ 4 ที่เข้ารับไม้ต่อ เพื่อสานธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนต่อไป คณะกรรมการบริษัทจึงตัดสินใจตั้ง 2 ทายาทล่ำซำ คือ “สุรช ล่ำซำ” ขึ้นนั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารงานคู่กับ “เฉลิมโชค ล่ำซำ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยให้มีอำนาจในการบริหารที่เท่าเทียมกัน

“เราจะทำงานคู่กัน แต่แบ่งความรับผิดชอบกัน โดยคุณตุ้ยจะดูแลรับผิดชอบจัดการงานโครงการราชการทั้งหมด ส่วนผมจะดูแลรับผิดชอบภาพรวมของบริษัท กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เป็นพ่อบ้าน มีหน้าที่เก็บกวาดหารายได้” สุรช กล่าว

สุรช วัย 51 ปี มีประสบการณ์ทำงานอย่างโชกโชนกับบริษัทไอทีชื่อดังมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาโท จนปี 2553 จึงกลับมาเริ่มต้นทำงานที่ล็อกซเล่ย์ ซึ่งเป็นบริษัทครอบครัว ในตำแหน่งเริ่มต้นคือ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่

ในขณะที่ เฉลิมโชค หรือ “ตุ้ย” วัย 44 ปี หลังเรียนจบปริญญาโทจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยซีแอตเติล สหรัฐ เมื่อกลับมาก็ตัดสินใจเข้ารับราชการทหารเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ที่กรมข่าวทหารบก เขากล่าวว่า เป็นความตั้งใจที่ต้องการเตรียมตัวก่อนจะกลับมาช่วยงานที่ล็อกซเล่ย์ ซึ่งมีธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวข้องกับงานราชการค่อนข้างมาก จนกระทั่งได้ติดยศร้อยโท

เพราะล็อกซเล่ย์มีคนหัวแถวที่รับผิดชอบงานบริหารถึง 2 คน แนวคิดและมุมมองของทั้งคู่จึงมีผลต่อองค์กรอย่างไม่สามารถแยกได้

ในฐานะที่อาวุโสกว่า สุรช มององค์กรเก่าแก่อย่างล็อกซเล่ย์ ว่า ต้องแบ่งเป็นช่วง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 ยุค ยุคแรก คือช่วงก่อตั้งบริษัท โดยคุณปู่ของผู้บริหารทั้งสอง ยุคต่อมาถือเป็นช่วงบุกเบิก โดย “คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช” รุ่นสามคือ “ธงชัย ล่ำซำ” มาถึงรุ่นสี่คือรุ่นตัวเองและเฉลิมโชค ที่ก้าวข้ามจากยุคอะนาล็อกมาเป็นยุคดิจิทัล

ช่วงเริ่มต้นของล็อกซเล่ย์ทำธุรกิจซื้อมาขายไป อาทิ ค้าข้าว ไม้ ฯลฯ จนยุคต่อมาเริ่มเข้าสู่ธุรกิจเทเลคอม และปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ยุคของดิจิทัล ในแต่ละรุ่นได้ปรับตัวประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจเพื่อธุรกิจดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในยุคดิจิทัลก็เริ่มเข้าจับธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ธุรกิจหลักยังคงทำเทรดดิ้งหรือผู้ประมูลงานโครงการราชการรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ

“ยุคผมเกิดในยุคอะนาล็อก ต้องยอมรับว่าในธุรกิจบางอย่างที่มีคำศัพท์เกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น อี-คอมเมิร์ซ ฟินเทค เราอาจช้ากว่าคนที่เกิดในยุคนี้ แล้วเริ่มทำในยุคนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทกำลังเริ่มศึกษา เพราะเพื่อมองต่อไปว่าอนาคตของล็อกซเล่ย์คืออะไร” สุรช กล่าว

ด้าน เฉลิมโชค มีมุมมองการเข้าสานธุรกิจต่อในรุ่นสี่ว่า การทำธุรกิจในตอนนี้มีความยากขึ้นจากสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่แม้จะมีจำนวนคู่แข่งเดิมที่หายไป แต่ก็มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาจำนวนมากกว่าคู่เดิมที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ บริษัทจึงต้องหาจุดเด่นหรือจุดแข็ง

“จุดแข็งของเราคือความน่าเชื่อถือและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง การวางนโยบายจะทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส จะทำให้ชื่อของล็อกซเล่ย์คงอยู่ตลอดไป นอกจากนี้จะเลิกทำธุรกิจที่ขาดทุน และธุรกิจที่มีความเสี่ยง” เฉลิมโชค กล่าว

เขามองว่าด้วยสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนไป ประเด็นแรก จากเดิมที่มองว่านโยบายในการทำธุรกิจจะเลือกประมูลงานที่ทำแล้วมีกำไร เปลี่ยนจากเดิมที่จะเข้าประมูล โดยเน้นเสนอราคาที่ต่ำที่สุดเพื่อหวังที่จะได้งานที่ต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาจะมีปัญหาไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อย

ประเด็นที่สอง การลดขอบเขตการทำงานที่บริษัทไม่มีความชำนาญ และต้องพึ่งพาให้คนภายนอกมาช่วยในบางครั้งจะมีปัญหามาก อาจไม่คุ้มความเหนื่่อย ดังนั้นอนาคตจะพิจารณาเลือกรับงานมากขึ้น

ประเด็นรายได้ของบริษัทนั้น สุรชกำหนดแผนกลยุทธ์ที่สำคัญ คือการเพิ่มสัดส่วนแหล่งรายได้ประจำที่จะมาจากทั้งซัพพลายเออร์และลูกค้า เช่น บริษัทมีสินค้าที่ดีอยู่หนึ่งชนิดที่ถืออยู่ยังไง เชื่อว่าจะยังมีลูกค้าที่ซื้อสินค้าต่อเนื่อง จึงเป็นแหล่งรายได้ประจำ ซึ่งบริษัทยังต้องมีบริการหลังการขายที่ดี