ชนกภรณ์ การุณยธัช เจ้าหญิงบนหลังม้า
กีฬาขี่ม้าเป็นกีฬาที่มีคนนิยมในแวดวงที่ค่อนข้างจำกัดในเมืองไทย ทำให้วงการนี้มีนักกีฬาเป็นที่รู้จักไม่มากนัก
โดย...กษม จักรเครือ
กีฬาขี่ม้าเป็นกีฬาที่มีคนนิยมในแวดวงที่ค่อนข้างจำกัดในเมืองไทย ทำให้วงการนี้มีนักกีฬาเป็นที่รู้จักไม่มากนัก แต่สำหรับในต่างประเทศ “Thai Girl” ที่ชื่อ “ปรีดิ์อัญ” ชนกภรณ์ การุณยธัช ปรีดิ์อัญ นักขี่ม้าสาววัย 19 ปี เป็นที่รู้จักในสายตาของวงการขี่ม้าโลกมาหลายปี
ล่าสุด เธอสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการขี่ม้าไทย หลังสามารถผ่านรอบคัดเลือกจนได้ไปร่วมการแข่งขัน World Equestrian Games 2018 หรือการแข่งขันขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ในระดับความสูง 160 เมตร (ซีเนียร์ แชมเปี้ยนชิพ) จะจัดขึ้นที่ไทรยอน รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐ ระหว่างวันที่ 10-23 ก.ย. 2018
ปรีดิ์อัญ กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ เธอต้องใช้ความพยายามและความทุ่มเทอย่างหนัก เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นชีวิตนักกีฬาขี่ม้า ว่า เกิดจากความเบื่อที่ต้องไปนั่งรอพี่สาว “เปรมอัฐ” วรัญภรณ์ การุณยธัช หัดขี่ม้า ตอนนั้นเธออายุเพียง 5 ขวบ เธอก็เลยขอเรียนขี่ม้าด้วยคน พอได้เรียนจริงก็เกิดมีปัญหาเล็กน้อยเรื่องความกลัว เพราะเธอยังเล็กนัก
“หนูไม่เคยคิดเลยว่าจะมาเป็นนักกีฬาขี่ม้า เพราะตอนเด็กไปเฝ้าพี่สาวขี่ม้า รู้สึกเบื่อๆ เลยขอลองขี่บ้าง ช่วงนั้นจำได้ว่าเรียนไม่รู้เรื่องเลย มีแต่ม้าวิ่งวนไปวนมาในหัว” สาวน้อยเล่าพลางหัวเราะและเกริ่นต่อว่า เรียนขี่ม้าครั้งแรกที่ “ฮอร์สชู พอยต์” กับคุณครูศรี และครูโตโต้ โดยฝึกขี่ในประเภทศิลปะบังคับม้า เรียนอยู่ประมาณ 7 ปี ก็หันมาฝึกขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางโดยมีครูสมใจเป็นผู้ฝึกสอนให้ จากนั้นได้เรียนกับ สจ๊วต มิตเชล ครูชาวออสซี่ มาฝึกสอนจนประสบความสำเร็จในการแข่งขันทั้งภายในประเทศและการแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งปรีดิ์อัญสามารถชนะทั้ง 3 สนาม และประสบความสำเร็จอย่างมาก
“ช่วงนั้นหลงใหลในการขี่ม้ามาก จึงขออนุญาตคุณแม่ดร็อปการเรียน และฝึกขี่ม้าแบบเต็มรูปแบบ เรียนกับครูต่างชาติ ทั้งออสเตรเลียและไอร์แลนด์ มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเพราะต้องไปอยู่ต่างประเทศคนเดียว เพื่อนก็ไม่มี อาหารการกินก็ไม่ถูกปาก เคยคิดท้อเหมือนกัน ถึงขนาดโทรหาคุณแม่ว่าขอกลับเมืองไทย คุณแม่ก็ไม่ได้ห้ามอะไร เพียงแค่บอกว่าคนเราโอกาสไม่ได้มาบ่อยๆ หากได้รับมันก็ควรจะทุ่มเทให้เต็มที่และสุดกำลัง
เป็นข้อคิดสะกิดใจที่ทำให้ชีวิตของสาวน้อยคนนี้มีฮึดและเดินต่อไปบนเส้นทางหลังอานม้า
“หนูคิดว่าทุกคนมีพรสวรรค์อยู่ในตัวเอง ถ้าคุณทำในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่าย่อท้อ ขอให้สู้ไปกับมัน ความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า”
ตลอดเวลา 14 ปี เธอยังไม่เคยหันหลังให้กีฬาขี่ม้า และมาถึงช่วงที่พรสวรรค์และพลังความพยายามของเธอได้ฉายแววให้ชื่นใจ แต่เส้นทางสายนี้ไม่มีทางราบ มีแต่ความมุ่งมั่นและหัวใจที่เกินร้อยเท่านั้นถึงจะสำเร็จได้
ช่วงอยู่ที่ไอร์แลนด์ 2 ปี เธอเล่าว่า ได้ลงแข่งขันขี่ม้าปีละ 36 ทัวร์นาเมนต์ หรือเกือบทุกอาทิตย์ เพราะโค้ชเชื่อว่าการแข่งขันจะให้ประสบการณ์ที่ดี จนในที่สุดวงการขี่ม้าโลกก็รู้จักเธอและเรียกขานเธอว่า “Thai Girl”
รางวัลแห่งความสำเร็จ เธอกวาดรางวัลใหญ่มาแล้วมากมาย แม้กระทั่งถ้วยพระราชทาน King’s Cup ระดับบุคคลทั่วไป ด้วยวัยเพียง 15 ปี และยังตามล่ารางวัลในยุโรปมาแล้วนักต่อนัก ทว่ารางวัลที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอในฐานะนักกีฬาขี่ม้าจากประเทศไทย คือ การสามารถ Qualify เข้าไปแข่งขันในรอบ Grand Prix (การแข่งม้ากรังด์ปรีซ์ประจำปี) ที่ประเทศฝรั่งเศสได้สำเร็จ อีกผลงานแห่งความภูมิใจ คือ เธอได้เป็นคนไทยคนแรกที่ผ่านการควอลิฟาย ได้เข้าไปแข่งในรอบไฟนอล ของรายการ “20th 145 cm European Youngster Cup under 25 Final Round 2014” ที่ Salzburg ประเทศออสเตรีย
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักกีฬาตัวเล็กๆ จะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ปัจจัยภายนอกอาจเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ แต่ปัจจัยภายในตัวนักกีฬาจะถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ สำหรับ “ปรีดิ์อัญ” แล้ว เธอมีแรงผลักดันจากองค์ความรู้ของเธอเช่นกัน
“อีกแรงผลักที่ทำให้รู้สึกอยากชนะ คือ อยากมีตัวตน เพราะในวงการแข่งขัน โดยเฉพาะระดับโลก เขาไม่มองเรา เขาไม่เห็นหัวเราด้วยซ้ำ แล้วยิ่งเราไม่ได้มีผลงานอะไร ก็ยิ่งไม่มีคนสนใจแต่พอวันที่หนูชนะ ก็เริ่มมีคนเข้ามาคุยมากขึ้น คือ สนใจม้าของหนู หนูก็คุยด้วย แต่บางคนก็เวอร์เกิน หนูก็ไม่อยากคุยด้วยเลย มันมีแบบนี้จริงๆ แต่เวลาเราชนะ มันก็เป็นความภูมิใจของตัวเอง และที่สำคัญได้ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นด้วย”
สำหรับ World Equestrian Games ที่ปรีดิ์อัญผ่านรอบคัดเลือกมาได้นั้น มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้การแข่งขันชิงแชมป์โลกและโอลิมปิก จัดขึ้นทุก 4 ปี ซึ่งปรีดิ์อัญมั่นใจว่า กว่าการแข่งขันจะเริ่มในเดือน ก.ย.ปีหน้า ผลงานของเธอจะทำให้เธอติด Top 10 ของนักกีฬาแข่งขันขี่ม้าจากประเทศที่เป็นตัวเก็ง ซึ่งนั่นหมายถึงชื่อเสียงของประเทศไทยที่เธอเป็นตัวแทนด้วย
เส้นทางบนหลังอานของสาวน้อยคนนี้ ยังอีกยาวไกล วิ่งไปข้างหน้า โดยมีเครื่องกีดขวาง ที่เรียกว่าอุปสรรคที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
แนวคิดและแนวทางปฏิบัติถือเป็นแบบอย่างของเยาวชนรุ่นใหม่ที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างเป็นที่สุด