ไตรมาสแรก คนไทยแห่ลงทุนนอก
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 4,361 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ 28 เม.ย.ที่ระดับ 34.60 บาท/เหรียญสหรัฐ)
สำหรับเดือน มี.ค.เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิเดือนเดียวถึง 7,004 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท) เป็นผลมาจากนักลงทุนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในออสเตรเลีย สหรัฐ และจีน
นอกจากนี้ คนไทยมีการนำเงินไปฝากในต่างประเทศมากขึ้น และชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน รวมถึงการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจการให้คำปรึกษา การผลิตเครื่องจักร และการขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐ เป็นสำคัญ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1-2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับจังหวะเวลาการปรับลดขนาดงบดุลในระยะต่อไป โดยเฉพาะหากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกทยอยลดลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐดำเนินอย่างต่อเนื่อง สำหรับในระยะสั้น คงต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ และกระแสการเมืองในภูมิภาคสำคัญของโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากปัจจัยดังกล่าวคลายความกังวลลง ก็อาจจะทำให้ความสนใจของตลาดกลับมาที่ประเด็นความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดรอบเดือน มิ.ย. 2560
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดผลกระทบต่อไทยว่า การคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี การคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะส่งผลให้มีเงินทุนบางส่วนยังคงไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย อันอาจส่งผลให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวน
อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป หากเฟดยังคงส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่องของสหรัฐ (รวมทั้ง มีโอกาสที่จะได้เห็นการเริ่มปรับลดงบดุล) ก็อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคงส่งผ่านมายังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และคงเพิ่มความอ่อนไหวต่อประเด็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนและความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.นั้น ดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงมองว่าจีดีพีไตรมาสแรกจะขยายตัวที่ระดับมากกว่า 3% และมองครึ่งแรกโตประมาณ 3% และในครึ่งปีหลังจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่ประมาณ 3.8% ทำให้ทั้งปีโตได้ตามคาดที่ 3.4%
ดอน นาครทรรพ
“ปีนี้จะให้โตที่ระดับ 4% อย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอยากได้หรือไม่นั้น ปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่การลงทุนภาคเอกชน ถ้าลงทุนเอกชนเกิดขึ้นได้ก็สามารถเป็นไปได้ แต่ถ้าลงทุนเอกชนไม่เดิน 3.5% ก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ดีปีนี้เรามองการลงทุนภาคเอกชนทั้งปีไว้ที่ 2.4%” ดอน กล่าว
สำหรับปัจจัยดีอีกด้านที่หนุนให้เศรษฐกิจโตได้ คือ การส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีในทุกตลาด ยกเว้นตลาดออสเตรเลียที่ยังโตติดลบ และถ้าส่งออกยังดีต่อเนื่อง และยังได้ผลดีด้านราคาที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย ก็น่าจะช่วยให้ส่งออกมีโอกาสโตสูงกว่าคาดที่ 2.2% ก็เป็นได้ แต่ขณะนี้ ธปท.ยังไม่มีการทบทวนปรับประมาณแต่อย่างใดจนกว่าจะกำหนดครั้งหน้าในเดือน ก.ค.ปีนี้
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 10.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 12.1% ตามการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนการผลิตอุปกรณ์ที่รองรับ Internet of Things (IoT) ชิ้นส่วนรถยนต์ และสมาร์ทโฟน
สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ ขยายตัวทั้งด้านราคาตามราคาน้ำมันดิบที่สูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน และด้านปริมาณตามการขยายตัวของการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์จากอุปสงค์จีนและอาเซียนที่เพิ่มขึ้น
ทางด้านสินค้าหมวดยานยนต์ ตามการส่งออกรถยนต์เชิงพาณิชย์ไปออสเตรเลียจากการที่ผู้ประกอบการหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดตะวันออก กลางที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และการส่งออกรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ไปยุโรปและอาเซียน ตามการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ในช่วงก่อนหน้า
สินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและแผงกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากการขยายกำลังการผลิตและการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการระบายสินค้าคงคลังโดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ ส่งผลให้โดยรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว 2% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปที่ไม่รวมรัสเซียชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ที่ในปีนี้ตรงกับเดือน เม.ย.เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางปรับดีขึ้น โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจ
การซื้อรถยนต์ ปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ครัวเรือนโดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามราคายางและผลผลิตข้าว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้น รวมทั้งสถาบันการเงินมีมุมมองที่ลดความเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลงบ้าง ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นตามราคาที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัว 11.9% จากการใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัว 3.5% จากฐานที่สูงในปีก่อนที่มีการเบิกจ่ายตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งการลงทุนในภาคก่อสร้างและเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังจากมีการเร่งลงทุนในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในธุรกิจการค้า พลังงาน และโทรคมนาคม สะท้อนว่าการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็งนัก อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่อง
สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 22.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากไม่รวมทองคำขยายตัว 21.4% ตามการขยายตัวของการนำเข้า โดยเฉพาะในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในกลุ่มเชื้อเพลิงและโลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า