เรียนรู้อาณาจักรริวกิว ‘โอกินาวา’ท่องเที่ยววัฒนธรรมผสมผสาน
เรื่องราวของ “โอกินาวา” เดินทางมาเป็นตอนที่ 3 แล้ว หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกันในภาพรวมในตอนแรก
โดย...ทีมงาน โลก 360 องศา facebook : โลก 360 องศา youtube : โลก 360 องศา
เรื่องราวของ “โอกินาวา” เดินทางมาเป็นตอนที่ 3 แล้ว หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกันในภาพรวมในตอนแรก ตามมาด้วยเคล็ดลับของการเป็นกลุ่มคนที่อายุยืนที่สุดในโลกของชาวโอกินาวาในตอนที่ 2 สำหรับตอนที่ 3 นี้จะพาไปสัมผัสกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนบนเกาะแห่งนี้ซึ่งมีเสน่ห์ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นของญี่ปุ่น
“โอกินาวา” ในวันวาน มีช่วงเวลาที่ศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรืองถึงขีดสุดในยุคอาณาจักรริวกิว มีการคิดค้น
ตลอดจนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมากมาย ระหว่างอาณาจักรริวกิวกับอาณาจักรคู่ค้าอย่างจีน โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นมิตรที่แน่นแฟ้นของอาณาจักรริวกิว
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีนเป็นต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การสรรค์สร้างต่อยอดทางวัฒนธรรมของอาณาจักรริวกิว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดนตรี ปรัชญาในการดำเนินชีวิต ไปจนถึงการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่ยังคงปรากฏหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ แม้ช่วงหนึ่งจะเคยผ่านห้วงเวลาอันเลวร้ายจากภัยสงครามก็ตาม
การศึกษาวัฒนธรรมริวกิว ขอเริ่มต้นที่ ปราสาทชูริโจ (Shurijo Castle) ปราสาทแห่งนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของราชวงศ์ริวกิว และบ่งบอกถึงการเปิดรับและการผสมผสานของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามามีอิทธิพลในยุคนั้นอย่างชัดเจน พื้นที่ของปราสาทชูริโจ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนของเขตกำแพงปราสาทรอบนอก ที่จะได้ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของกำแพงหิน และประตูชูเรอิมง (Shureimon) ส่วนนี้เป็นจุดชมวิวมุมสูงของเมืองนาฮะได้ด้วย อีกส่วนคือเขตปราสาทชั้นใน จะมีพื้นที่จัดแสดงที่ประทับของกษัตริย์ และสมาชิกราชวงศ์ริวกิว รวมถึงโรงประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
สำหรับมุมที่โดดเด่นดูอลังการมากที่สุดของประสาทชูริโจ คืออาคารออกโรงบริหารบ้านเมืองสีแดงสด ซึ่งเป็นที่ที่ให้กษัตริย์บัญชาการงานของบ้านเมือง อาคารแห่งนี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าศิลปะริวกิว ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนอย่างมาก ทั้งสีสันที่ฉูดฉาดและองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของปราสาทดูแตกต่างจากปราสาทในญี่ปุ่นที่เคยพบเห็นทั่วไป ขณะที่งานสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นแท้ ซึ่งแม้ว่าจะมีรากฐานมาจากจีนเช่นเดียวกัน กลับพบว่าพยายามที่จะทำให้แตกต่างด้วยการใช้สีทึบ เน้นการใช้หินเป็นฐานราก และสร้างปราสาทให้มีจำนวนหลายชั้นเพื่อความสูงเด่นเป็นสง่า
ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ปราสาทชูริโจ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ทุกครั้ง จนถึงช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และส่งทหารเข้าไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้งนี้กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างฐานบัญชาการขึ้นที่ใต้ดินของปราสาทซูริโจ ในที่สุดปราสาทแห่งนี้ได้ถูกเรือรบมิสซูรี ของสหรัฐอเมริการ่วมกับเรือรบลำอื่นๆ ระดมยิงปราสาทและฐานทัพเป็นเวลา 3 วัน ทำให้ปราสาทถูกเผาทำลายเสียหายย่อยยับ ต่อมาจึงได้รับการบูรณะขึ้นอีกครั้ง โดยใช้การอ้างอิงจากภาพถ่าย และจากความทรงจำของคนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ในที่สุดปราสาทซูริโจก็กลับมาสมบูรณ์แบบอีกครั้ง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับอีกหลายปราสาทของโอกินาวาโดยองค์การยูเนสโก เรียกรวมๆ ว่า “Gusuku Sites and Related Properties of the Kingdom of Ryukyu”
อีกสถานที่ที่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมของชาวริวกิวได้อย่างหลากหลายแง่มุมในจุดเดียวก็คือ หมู่บ้านวัฒนธรรมริวกิวมูระ ซึ่งโซนแรกสุด เป็นการจัดแสดงบ้านเรือนโบราณ ที่เน้นการใช้วัสดุจากไม้และหินในการก่อสร้าง เพราะเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายที่สุด ขณะที่รอบๆ บ้านจะประดับประดาด้วยพันธุ์ไม้ที่คุ้นตาคนไทยเพราะเป็นพันธุ์ไม้เขตร้อนเหมือนกัน
โซนถัดมาเป็นส่วนจัดแสดงกระบือ สืบเนื่องจากการล่องเรือค้าขายในอดีตของชาวริวกิว ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการเกษตรจึงมีการนำกระบือเข้ามาใช้แรงงานบนเกาะแห่งนี้ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น โอกินาวาเป็นที่เดียวเท่านั้นที่จะพบเห็นกระบือได้ ขณะที่โซนเครื่องปั้น จะจัดแสดงและสาธิตการทำเครื่องปั้นดินเผา โดยที่นี่จะเน้นการปั้น “ชิสะ” (Shisa) ซึ่งเป็นเครื่องรางประจำถิ่นของชาวโอกินาวา
ในภาษาจีนคำว่า “ชิ” หมายถึง “สิงห์” เป็นสัตว์มงคลตามคติความเชื่อในแบบจีน ซึ่งมีหน้าตาดุดัน มีพลังและอำนาจในการปกป้องสิ่งชั่วร้ายตามหลักฮวงจุ้ย โดยสมัยอาณาจักรริวกิวรุ่งเรือง ราชวงศ์จีนได้มอบรูปปั้นสิงห์แกะสลักให้ ปัจจุบันยังคงตั้งอยู่ตรงประตูทางเข้าปราสาทชูริโจ
ต่อมาภายหลังความเชื่อเกี่ยวกับการประดับสิงห์ถูกแพร่หลายไปทั่วเกาะโอกินาวา ได้เกิดการผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่น กลายมาเป็น “ชิสะ” ที่เชื่อกันว่า เป็นการผสมระหว่างสิงห์และสุนัข ด้วยความเชื่อที่ว่า “สิงห์” มีพลังอำนาจน่าเกรงขาม ส่วน “สุนัข” คือสัตว์เลี้ยงคู่บ้าน ที่มีความซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ คอยทำหน้าที่ปกป้องบ้าน ดังนั้นเกือบทุกบ้านจะต้องมีชิสะวางไว้ตรงประตูรั้วบ้าน 1 คู่ และบนปล่องระบายอากาศบนหลังคา
นอกจากนั้นแล้ว ชิสะยังแบ่งออกเป็นตัวผู้และตัวเมีย วิธีการสังเกตเพศของชิสะ คือ ตัวเมียจะหุบปาก เพื่อไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้าบ้าน ส่วนตัวผู้จะอ้าปาก เพื่อรับโชคลาภเงินทองเข้าบ้าน ปัจจุบันรูปร่างชิสะเปลี่ยนไป โดยลดความดุดันลง แต่เพิ่มความน่ารักในสไตล์ญี่ปุ่น หรือมีรูปร่างตลบขบขันมากขึ้น และได้กลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ระลึกที่เป็นที่นิยมซื้อติดไม้ติดมือกลับไปของนักท่องเที่ยว
ส่งท้ายกันด้วย Okinawa World ซึ่งเป็น Theme Park ขนาดใหญ่ ที่เน้นการจัดแสดงเกี่ยวกับธรรมชาติและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของโอกินาวา ภายในแบ่งสัดส่วนพื้นที่ออกเป็นโซนต่างๆ ที่โดดเด่นคือถ้ำหินปูน Gyokusendo ที่มีระยะทางยาวและใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น เป็นถ้ำหินปูนที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามแปลกตา มีอายุมากกว่า 3 แสนปี ระยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตร เคยมีความพยายามนับจำนวนหินงอกหินย้อยทั้งหมดภายในถ้ำแห่งนี้ พบว่ามีมากกว่า 1 ล้านแท่ง และทีมนักสำรวจพบว่า หินย้อยของที่นี่ทุกๆ 3 ปีจะยาวขึ้นเพียง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ในถ้ำแห่งนี้จะมี “อ่างสีคราม” ซึ่งเป็นแอ่งน้ำที่เกิดจากการทับถมของหินปูน เมื่อแสงไฟทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนตในน้ำ จะมองเห็นน้ำเป็นสีฟ้าอ่อนสวยงามตระการตา
นอกจากนี้ Okinawa World ยังมีหมู่บ้านริวกิวจำลอง ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ และวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอมือคาสุริ (Kasuri) และสวนผลไม้ของชาวโอกินาวา ที่นิยมปลูกสับปะรด มะละกอ กล้วย และแก้วมังกร รวมไปถึงส่วนจัดแสดงโรงผลิตแก้วริวกิว หนึ่งในหัตถกรรมขึ้นชื่อของโอกินาวา ที่มีจุดเด่นคือ มีรูปทรงไม่สมส่วน มีสีสันฉูดฉาด และในเนื้อแก้วเต็มไปด้วยฟองอากาศ ภาชนะแก้วริวกิวมีที่มาจากในช่วงสงคราม ชาวโอกินาวาขาดแคลนภาชนะใส่อาหาร จึงเก็บขวดน้ำอัดลมสีต่างๆ ที่ทหารอเมริกันทิ้งไว้ มาหลอมเป็นภาชนะด้วยกรรมวิธีหยาบๆ ผลก็คือได้ภาชนะที่มีสีสันและรูปลักษณ์แปลกตา กลายเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ชื่นชอบของทหารอเมริกัน ที่มีการสั่งซื้อเพื่อส่งกลับบ้านจำนวนมาก จนแก้วชนิดนี้มีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงปัจจุบัน
ส่วนจัดแสดงสุดท้ายที่ไม่ควรพลาดก็คือ พิพิธภัณฑ์งูฮาบุ (Habu Museum Park) ซึ่งเป็นงูสายพันธุ์ท้องถิ่นที่พบได้เฉพาะที่เกาะโอกินาวาเท่านั้น งูชนิดนี้มีพิษร้ายแรง เคยเป็นที่หวาดกลัวของทหารอเมริกัน แต่ชาวโอกินาวานิยมจับมาดองสุรา เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา
วิถีชีวิตของผู้คนแต่ละพื้นที่ล้วนมีที่มาที่ไป ผ่านการคัดกรองสั่งสมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมของชาวโอกินาวาก็เช่นกัน มีมนตร์เสน่ห์ มีความน่าสนใจ น่าค้นหา และได้นำมาเป็นจุดขายกลายเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ประเทศไทยก็เช่นกันในแต่ละภาค แต่ละพื้นที่ก็มีวัฒนธรรมที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ มีเสน่ห์ มีความหลากหลาย สามารถนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่แพ้ชาติใด จะขาดก็แค่การจัดการที่เป็นระบบเท่านั้นเอง