พัทยาจี้ผู้บริหารตรวจสอบท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย

03 พฤษภาคม 2560

พัทยา-สภาเมืองพัทยาจี้ผู้บริหารเร่งตรวจสอบท่าจอดเรือแหลมบาลีฮาย หลังรัฐใช้งบกว่า 735 ล้านบาท สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 56 แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้

พัทยา-สภาเมืองพัทยาจี้ผู้บริหารเร่งตรวจสอบท่าจอดเรือแหลมบาลีฮาย หลังรัฐใช้งบกว่า 735 ล้านบาท สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 56 แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้

การประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 นายสินไชย วัฒนศาสตร์สาธร สมาชิกสภาเมืองพัทยาตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารถึงความคืบหน้าของการเปิดใช้โครงการที่จอดเรือเมืองพัทยา บริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี หลังจากที่รัฐใช้งบประมาณไปกว่า 735 ล้านบาทเพื่อจัดสร้างโครงการที่จอดรถ จอดเรือ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และการจัดจราจรทั้งบกและทางน้ำ แต่จนถึงปัจจุบันจะมีเพียงโครงการที่จอดรถเท่านั้นที่เปิดใช้ ขณะที่โครงการที่จอดเรือซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2556 ยังคงถูกปล่อยทิ้งไว้ และมีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก

นายสินไชย กล่าวว่าโครงการที่จอดเรือถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณดำเนินการเป็นจำนวนมากหลายร้อยล้านบาทเพื่อนำมาใช้ประโยชน์แก่สาธารณะ แต่จนแล้วจนรอดผ่านมาหลายปีก็ยังคงถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับแจ้งข้อมูลว่าโครงการเกิดผลกระทบจากภัยธรรมชาติคือ "พายุหว่ามก๋อ" ในปี 2558 จากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆและไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดใช้หรือทำประโยชน์ได้หรือไม่

ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา ชี้แจงว่าจากข้อมูลพบว่าโครงการที่จอดเรือแหลมบาลีฮาย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดย บ.เทสโก้ ที่เข้ามาศึกษาและออกแบบ ก่อนจะว่าจ้างกิจการร่วมค้า Ping เข้ามาดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จก่อนมีการส่งมอบงานในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 แต่ต่อมาในระยะแรกนั้นโครงการเกิดผลกระทบความเสียหายจากคลื่นลมมรสุมและเรือที่แล่นผ่านด้วยความผ่านทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่เข้ากระแทกโครงสร้างของโครงการเกินมาตรฐาน มีการเคลื่อนไหลของตะกอนทรายใต้น้ำ ที่สำคัญยังเกิดปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติจาก "พายุหว่ามก๋อ" ที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างและวัสดุในปี 2558 จึงทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้

จากกรณีดังกล่าวที่ผ่านมา นายชนัฐพงศ์ ศรีวิเศษ ปลัดเมืองพัทยา ซึ่งรักษาการตำแหน่งนายกเมืองพัทยาในขณะนั้น ได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำการสำรวจความเสียหายและสอบสวนข้อเท็จจริงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของภัยธรรมชาติหรือปัญหาเรื่องของหลักทางวิศว กรรมเป็นหลัก ซึ่งจนถึงขณะนี้ผลการตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นการจะใช้งบประมาณเพื่อเข้าไปดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมจึงยังคงถูกระงับไว้ เพื่อรอดูผลการพิจารณาที่ชัดเจน แต่ก็ได้มีคำสั่งให้ทำการเร่งรัดและติดตามอย่างใกล้ชิดแล้ว

ขณะที่ นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา กล่าวว่าโครงการนี้สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2556 โดยในช่วงระหว่างนี้ก่อนจะถึงกรณีปัญหาของ "พายุหว่ามก๋อ" ในปี 2558 ก็มีระยะเวลาถึง 2 ปีที่ว่างเว้นอยู่ แต่ในช่วงดังกล่าวโครงการก็ไม่ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามทางกฎหมายแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องมีเรื่องของการค้ำประกันงานเป็นเวลา 2 ปีหลังการส่งมอบ ซึ่งรับทราบข้อมูลจากสำนักการคลังว่าได้ทำการยึดเงินประกันไว้ แต่จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปี 2560 ก็ไม่ทราบได้ว่ามีการยื่นหนังสือบอกกล่าว (โนติส) เพื่อสงวนสิทธิ์หรือไม่ เพราะจากการสอบถามหลายครั้งก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ซึ่งเรื่องนี้ถึงเวลาที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนและต้องยุติให้ได้

ด้าน นายพิศาล รัตนปราณี รักษาการหัวหน้าฝ่ายกลุ่มกฎหมายเมืองพัทยา ชี้แจงว่าสำหรับการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีโครงการที่จอดเรือนั้นปัจจุบันมีการรวบรวมข้อมูลด้านความเสียหาย และการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังเหลือกรณีของประเด็นด้านหลักวิศวกรรมการก่อสร้างและชาย ฝั่งเท่านั้น ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความผิดพลาดของการออกแบบหรือผลกระทบจากภัยธรรมชาติกันแน่ ซึ่งขณะนี้เมืองพัทยาได้ทำหนังสือประสานขอความร่วมมือไปยังสถาบัน 3 องค์กรหลัก ได้แก่ มหาวิท ยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันเทคโนโลยี เจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เพื่อจัดส่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านชายฝั่งมาร่วมตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนสรุปผลเพื่อส่งพิจารณาต่อไป.

พัทยาจี้ผู้บริหารตรวจสอบท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย


            

Thailand Web Stat