posttoday

ทางเท้าโล่ง-ผู้ค้าอ่วม "วันนี้ขายแทบไม่ได้" เสียงครวญถึงการจัดระเบียบ

11 พฤษภาคม 2560

เสียงสะท้อนจากบรรดาผู้ค้าในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อนโยบายจัดระเบียบทางเท้าและกำจัดแผงลอย

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

สิงหาคม พ.ศ.2560 คือเส้นตายสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร จะจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าใน 48 เขตจาก 50 เขต หรือราว 17,812 ราย ให้แล้วเสร็จ ตามนโยบายรัฐบาลที่ย้ำ ต้องการให้ทางเท้าทั่วเขตเมืองหลวง สะอาดเป็นระเบียบ

ณ วันนี้ทางเท้าหลายพื้นที่ดูสะอาดตาและเป็นมิตรกับคนเดินถนน ทว่า อีกด้านกับมีคำถามเกิดขึ้นว่า ชีวิตวันนี้ของเหล่าพ่อค้าแม่ขายเป็นอย่างไร

จัดระเบียบทางเท้า ทำให้ผู้ค้าตายแบบออโต้ โดยไม่มีทางฟื้น

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศูนย์รวมการคมนาคมและอดีตย่านการค้าที่แสนพลุกพล่าน วันนี้ถูกจัดระเบียบอย่างเคร่งครัด

อำนาจ นนทภักดี หรือ ป๋ายักษ์ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือรสเด็ดป๋ายักษ์ อายุ 63 ปี ผู้ที่ค้าขายบริเวณนี้มากว่า 42 ปี ระบายความคับอกคับใจให้ฟังว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตอนนี้ต่างจากเมื่อก่อนมาก ไม่มีคน ธุรกิจร้านค้าทุกอย่าง ใกล้เจ๊งหมดแล้ว เมื่อก่อนอนุสาวรีย์ฯ เป็นศูนย์รวมการเดินทางของผู้คนทั้งกรุงเทพ และต่างจังหวัดที่จะมาขึ้น-ลงรถตู้ ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น แต่ละวันมีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่มหาศาล ปัจจุบันภายหลังรถตู้สาธารณะถูกจัดระเบียบให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งมีการจัดระเบียบทางเท้า ทำให้บรรยากาศการค่าบริเวณนี้ซบเซา

“เมื่อไม่มีร้านค้า ไม่มีรถตู้ ลูกค้าก็หายหมด เพราะเมื่อก่อนลูกค้าอนุสาวรีย์ฯ คือ ลูกค้าจากรถตู้เป็นหลัก เป็นอย่างนี้มานานแล้ว 20-30 ปี แต่เมื่อไม่มีรถ คนเดินก็ลดลง ร้านค้าก็หดหายไปเกือบ 70% ร้านผมเมื่อก่อนขายได้วันละหลายหมื่น วันนี้ยอดตกลงไปกว่า 60%”

ป๋ายักษ์รับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยการลดจำนวนพนักงาน และปรับราคาก๋วยเตี๋ยวลงจากชามละ 12 บาท เหลือเพียง 10 บาท ยอมทนขายโดยไม่มีกำไรไปก่อนเพื่อดึงดูดลูกค้าไว้ และหวังว่าวันหนึ่งบรรยากาศเดิมๆ จะกลับมา หากไม่เป็นเช่นนั้นก็อาจเหมือนกับคนอื่นที่ทยอยเจ๊งหายไป

“คุณมองธุรกิจ มองการค้าขาย มองว่าคนไทยจะอยู่อย่างไร เอาแต่ออกกฎ ประชาชนผู้ค้าขายรับรู้หรือไม่ ขณะนี้ต่างได้รับความเดือนร้อน เพราะไม่มีที่ขาย อยากสะท้อนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ก่อนที่คุณจะจัดระเบียบสังคมหรืออะไร ควรคิดถึงปากท้องประชาชนรากหญ้าก่อน ว่าจะอยู่อย่างไร ไปยังไง ถึงเป็นส่วนน้อยก็ยังเป็นประชาชน ที่บอกเพียงว่า เดี๋ยวไม่ช้าจะดีเอง แต่กว่าจะถึงตอนนั้นเมื่อไหร่ เพราะพ่อค้า-แม่ค้า หาเงินเป็นรายวัน”

อำนาจ มองว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าแย่ลง ประเทศจะเดินไปไม่ได้ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจคล่องตัว ควรทำให้ธุรกิจการค้าระดับล่างหมุนเวียน เพราะความเป็นจริงขณะนี้สภาพเศรษฐกิจไม่หมุนเวียน เงินกระจุกตัวไหลเข้าศูนย์การค้า ห้างร้าน บริษัทขนาดใหญ่หมด หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไป นับวันมีแต่เจ๊งลง

“ขอกล่าวด้วยความคับอกคับใจ อยากให้มองถึงหลักความเป็นจริง บ้านเมืองจะสะอาดและเจริญได้ ต้องทำให้การคมนาคมสะดวก การค้าดี คนมีช่องทางทำมาหากิน แล้วค่อยจัดระเบียบแบบส่งเสริม ไม่ใช่มาฆ่าทำลายคนไทยที่ทำมาหากิน ประเมินว่าอนุสาวรีย์ชัยฯ คงไม่กลับมาเป็นศูนย์กลางเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ค้าตายแบบออโต้ ไม่มีทางฟื้น เพราะนโยบายที่ออกมาเป็นการฆ่าสนิท ตายสนิทแล้ว”

ทางเท้าโล่ง-ผู้ค้าอ่วม \"วันนี้ขายแทบไม่ได้\" เสียงครวญถึงการจัดระเบียบ อำนาจ นนทภักดี หรือ ป๋ายักษ์

 

แต๋ว ชยปัญญา อายุ 43 ปี แม่ค้าร้านรองเท้า ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บอกว่า ขายของที่นี้มานาน เมื่อก่อนขายดีมาก ลูกค้าเดินตลอดทั้งวันโดยเฉพาะช่วงเย็นถึงค่ำ  ตอนนี้สถานการณ์การค้าขายซบเซายิ่งกว่าหลังเกิดเหตุการณ์เผาห้างเซ็นเตอร์วันเมื่อปี 53 เสียอีก ขณะนั้นจำนวนคนลดลงเพียงชั่วคราว เมื่อห้างปรับปรุงแล้วเสร็จผู้คนก็กลับมา แต่วันนี้เข้าขั้นวิกฤตจริงๆ

“ยอดขายเหลือเพียง 10% จากเมื่อก่อนที่ขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 6 พันบาท ปัจจุบันขายได้เพียงวันละ 1,000 กว่าบาท ยังต้องเสียค่าเช่าอีกวันละ 800 บาท ทำให้ตอนนี้แทบไปไม่รอด บางเดือนพออยู่ได้ บางเดือนติดลบ หากจะให้มีกำไรเหมือนเมื่อก่อน คิดว่าคงไม่มีแล้วแม้ช่วงเทศกาลก็ยังขายไม่ดี และคิดว่าปีนี้ก็คงไม่ได้ต่อสัญญาเช่าแล้ว”

แต๋ว เล่าว่า ที่ผ่านมาพยายามปรับตัวมาตลอดเพื่อให้พออยู่ได้ เช่น เลือกสินค้าราคาไม่สูงมากมาขาย แต่คงคุณภาพเหมือนเดิม ปรับเปลี่ยนจากลงของทุกสัปดาห์เดือนละ 4 ครั้ง ตอนนี้ลงของเดือนละครั้งยังขายไม่หมด เมื่อก่อนมีลูกจ้าง 3-4 คน ขายไม่ทัน วันนี้ต้องขายคนเดียวก็ยังดูแลได้ทั่วร้าน

“ไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน สถานการณ์ถึงจะดีขึ้น คนอื่นหวังว่าสิ้นปีนี้เศรษฐกิจอาจดีขึ้นบ้าง แต่อาชีพค้าขายต้องหาเงินวันต่อวัน ต้นทุนที่มีก็เริ่มลดลงและทุนกำลังจะหมด ไม่รู้ว่าจะรอได้ถึงเมื่อไหร่ ถ้าทุนหมดคงต้องหยุดขาย หรือไปขายที่อื่นเพื่อให้อยู่ได้” แต๋ว กล่าวทิ้งท้ายด้วยสีหน้ายิ้มแบบสิ้นหวัง

เตี๋ย อายุ 58 ปี หัวหน้าวินรถจักรยานยนต์รับจ้างย่านอนุสาวรีย์ฯ หากินบริเวณนี้มา 31 ปี สะท้อนว่า สถานการณ์การค้าย่านอนุสาวรีย์ฯ ลดลงไปมากตั้งแต่ผู้ค้าถูกไล่ที่ไม่ให้ขาย ประกอบกับรถตู้ถูกย้ายให้ไปวิ่งที่อื่น ทำให้ผู้ค้าแย่มาก วินรถจักรยานยนต์ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

หัวหน้าวินจักรยานยนต์รับจ้างรายนี้ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนรายได้เฉลี่ยอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อวัน แต่ขณะนี้วิ่งรถทั้งวันได้ไม่เกิน 500 บาท เนื่องจากไม่มีลูกค้า

“ลดลงไปเยอะ แต่ก็พออยู่ได้ เพราะไม่ต้องเสียค่าอะไร ผมปรับตัวด้วยการหาเงินเพิ่ม เช่น รับจ๊อบส่งเอกสารหรือขากลับจากส่งผู้โดยสารก็ตระเวนหาคน จากที่เมื่อก่อนส่งแล้วจะรีบมารอรับคนใหม่

ชายหนุ่มวัย 58 ปี ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลชุดนี้มีข้อดีหลายอย่าง อาทิ ทำให้บ้านเมืองสงบ จัดการปัญหาจราจร และปราบปรามทุจริตและคอรัปชั่นต่างๆ แต่ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำกลับได้ผลรับผลกระทบในแง่ลบ ตนหวังว่าหลังมีการเลือกตั้งเศรษฐกิจจะดีขึ้น

 

ทางเท้าโล่ง-ผู้ค้าอ่วม \"วันนี้ขายแทบไม่ได้\" เสียงครวญถึงการจัดระเบียบ แต๋ว ชลปัญญา ยืนขายของให้กับลูกค้าที่นานๆ จะเข้ามา

 

วันนี้ผู้ค้าต้องกลายเป็นโจร เพราะไม่มีกิน

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ หนีไม่พ้นตลาดหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่อดีตเคยเป็นแหล่งช้อปปิ้งของคนกรุงฯ

“ขายตรงนี้มา 26 ปี เมื่อก่อนหน้ารามคนเดินตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ช่วงเปิดราม 2 ใหม่ๆ ก็ซบเซานิดหน่อย แต่ยังพอมีคน ไม่เหมือนตอนนี้ อาการหนักจริงหลังจัดระเบียบ ลูกค้าหายไปเกือบ 80%” เรณุกา ฤทธิ์บุญ อายุ 59 ปี เจ้าของร้านขายอาหารอิสลาม เปิดใจสะท้อนแบบตรงประเด็น

เขา เล่าว่า หน้ารามฯ ในอดีตนั้นจะคึกคักมากในช่วง 17.00 น. – 24.00 น. ภายหลังจัดระเบียบหลายร้านปิดตัวลง เพราะแทบไม่มีลูกค้ามาเดิน สู้ค่าเช่าที่ไม่ไหว บางร้านเลือกไปทำมาหากินที่อื่น บ้างก็กลับบ้านต่างจังหวัด ส่วนตนเองปัจจุบันหลังหักต้นทุนค่าอาหารและลูกจ้างแล้ว แทบไม่เหลือ ที่ยังอยู่ได้เพราะขายในพื้นที่ของตัวเอง

“เมื่อคนไม่มีอาชีพ ก็ต้องไปเป็นอาชญากร ทำเรื่องผิดกกฎหมาย เพราะเขาไม่มีอะไรทำ จะขายต่อก็สู้ราคาไม่ไหว ฉันเจอมากับตัว ตั้งแต่ช่วงต้นปีมาอุปกรณ์ภายในร้าน หมอ ตะหลิว ช้อนหายเยอะมาก บางครั้งตื่นมาทำอาหาร ยังเคยเจอคนมายืนส่องดูหน้าบ้าน พอตะโกนถามก็วิ่งหนีออกไป บางครั้งมีรถมาส่งไข่ไก่ เขาวางไว้ข้างบ้าน ยังเคยเห็นคนจะมาขโมยเลย” เจ้าของร้านขายอาหารเล่าประสบการณ์

เรณุกา กล่าวว่า รัฐบาลเอาแต่พูดว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งที่จริงพ่อค้าแม่ค้าได้สัมผัสกับสถานการณ์จริงแล้วว่า มันไม่ดีแต่ย่ำแย่ และไม่ได้รับการแก้ไข หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่ต่างจากตายทั้งเป็น

“ทำไมรัฐบาลถึงไม่ยอมแก้ไขเรื่องปากท้องประชาชนก่อน ขณะนี้ประชาชน ไม่มีกิน ถ้าไม่แก้เชื่อว่า อนาคตจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย ทั้งปัญหาจากความเครียด ปัญหาอาชญากรรม”

ทางเท้าโล่ง-ผู้ค้าอ่วม \"วันนี้ขายแทบไม่ได้\" เสียงครวญถึงการจัดระเบียบ เวลา 19.00 น. อดีตเคยเป็นช่วงที่มีคนพลุกพล่าน ปัจจุบันคนบางตา

 

นัน อายุ 58 ปี เจ้าขายร้านรองเท้าหน้าราม เล่าว่า การค้าบริเวณตลาดหน้ารามปัจจุบัน แย่กว่าช่วงที่มีปัญหาทางการเมือง เมื่อก่อนเคยขายได้วันละ 5,000-9,000 บาทต่อวัน ทุกวันนี้ไม่เกิน 4,000 บาท

“คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นคืนมา มาตรการจัดระเบียบครั้งนี้มาผิดทาง ไม่ใช่การจัดระเบียบที่แท้จริง อยากให้รัฐทบทวนหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนแบบนี้”

วอนรัฐ หันหน้าคุยประชาชน เพื่อความอยู่รอด

เบญจพล นาคพันธุ์ ตัวแทนกลุ่มผู้ค้าหน้าราม และกรรมการจัดหาบเร่แผงลอย บางกระปิ เล่าว่า ขายของหน้ารามมา 33 ปี ฝ่ามรสุมมาหลายอย่างตั้งแต่มหาวิทยาลัยรามคำแหงขยายวิทยาเขต ความรุนแรงจากเหตุชุมนุนทางการเมือง อย่างไรก็ตามไม่มีอะไรหนักหนาเท่ากับการจัดระเบียบบนทางเท้า ปัจจุบันต้องย้ายร้านเสื้อผ้าไปอยู่ในซอยวัดพระไกรสีห์ (น้อย) เนื่องจากไม่มีรายได้จากบริเวณเดิม

“การที่รัฐจัดระเบียบครั้งแรกในช่วงปี 58 นั้น เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งและตีเส้นให้แผงลอยขายในบริเวณและเวลาที่กำหนด เป็นวิธีที่ดี มีระเบียบ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายมาก ทุกคนยินดีปฏิบัติตาม แต่ครั้งล่าสุดที่ประกาศห้ามขายบนทางเท้าเลย ผมว่ามันผิดผิดหลัก แม้จะช่วยเหลือโดยการจัดหาสถานที่ค้าขายให้ใหม่ บริเวณตลาดตะวันนา 2 (แถวถนนลาดพร้าว) แต่เมื่อผู้ค้าย้ายไปก็ไม่มีลูกค้าเลย สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ เลิกกิจการไปแล้วไม่ต่ำกว่าครึ่ง เพราะทนภาระที่ต้องแบกรับไม่ไหว”

เบญจพล เรียกร้องว่า อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ค้าและประชาชน หันมาหาทางออกร่วมกันในการจัดระเบียบทางเท้า โดยทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่ทิ้งขว้างให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลำบาก และหากปล่อยไว้สถานการณ์หน้ารามจะยิ่งแย่กว่านี้

ทางเท้าโล่ง-ผู้ค้าอ่วม \"วันนี้ขายแทบไม่ได้\" เสียงครวญถึงการจัดระเบียบ