สมเด็จกรมพระนริศฯ ศิลปิน 4 แผ่นดิน
ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร เปิดวังปลายเนินให้สาธารณชนได้ชม
โดย...ส.สต
ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร เปิดวังปลายเนินให้สาธารณชนได้ชมเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันนริศ พร้อมทั้งเล่าพระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งเป็นสมเด็จปู่ให้ผู้สนใจฟังทั้งภาคภาษาไทยและอังกฤษ ผู้เขียนจึงขอถ่ายทอดมาพร้อมทั้งภาพถ่ายพระตำหนัก
ม.ร.ว.จักรรถ ได้เล่าว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสมเด็จปู่ของเขานั้นถือได้ว่าเป็นศิลปิน 4 แผ่นดิน เพราะรับราชการมาถึง 4 แผ่นดิน นับแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 สมเด็จปู่ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันอังคารที่ 28 เม.ย. 2406 เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระมารดาคือ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย และทรงเป็นต้นราชสกุล “จิตรพงศ์”
เกิดผิดที่ผิดเวลา
ม.ร.ว.จักรรถ เล่าว่าตนเคยสอนลูกศิษย์ว่า สมเด็จปู่ของตนนั้นเกิดผิดที่ ผิดเวลาที่ว่าเกิดผิดที่ เพราะเกิดในฐานะพระราชกุมาร จึงได้รับการปรนนิบัติและอุ้มชูเป็นพิเศษ เมื่อเจริญวัย ในฐานะเป็นเด็กชายอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อไปไม่ได้ จึงต้องออกมาอยู่ข้างนอก เมื่อออกมาอยู่ข้างนอกเกี่ยวข้องกับคนภายนอกมากก็ไม่ได้เพราะเป็นพระราชกุมาร ท่านเคยทรงพระนิพนธ์ว่าอยากเป็นศิลปินตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่โอกาสไม่ให้ เพราะการเป็นศิลปินต้องสมัครฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงคนใดคนหนึ่ง โดยเสียค่าครู และต้องย้ายไปอยู่บ้านครู พร้อมทั้งรับใช้ทุกอย่าง เพื่อแลกกับวิชาที่ครูจะสอนให้ (ในฐานะ
พระราชกุมารจึงทำไม่ได้) นี่คือเกิดผิดที่
ที่ว่าเกิดผิดเวลา ในสมัยนั้นยังไม่มีการสอนศิลปะทั่วไป ที่ได้เรียนก็ตามแบบโบราณที่สอนให้เขียนตามประเพณีโบราณ หรือตามที่ครูสอนมาเท่านั้น
เมื่อเป็นดังนี้สมเด็จปู่เรียนวิชาต่างๆ มาได้อย่างไร? ม.ร.ว.จักรรถ เล่าว่า การเรียนวิชาดนตรีไทยนั้น สมเด็จปู่ทรงใช้เวลาว่าง หรือหลังจากเสร็จพระราชกิจ แล้วจะเสด็จไปยังวงปี่พาทย์ที่บรรเลงในช่วงที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหาร เพื่อดูและศึกษาไปด้วย ต่อมานักดนตรีเห็นว่าสนพระทัยก็สอนให้ตีฉิ่งเป็นอันดับแรก
10 ขวบเขียนเข้าตาฝรั่ง
ส่วนการเขียนภาพนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการเขียนภาพที่พระวิหารคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว สมเด็จปู่ก็มาดู มาชะเง้อดูเขาทำงานด้วยความสนพระทัย เมื่อกลับที่ประทับก็ลองทำ ลองฝึก ด้วยตนเอง แบบวิธีครูพักลักจำ
กาลเวลาผ่านไป เมื่อถึงวัยอันสมควร ท่านได้เข้าโรงเรียนมหาดเล็ก เรียนจบออกมาได้รับพระราชทานยศนายร้อยตรี
ม.ร.ว.จักรรถ เล่าว่าโอกาสที่สมเด็จปู่ได้โดยไม่คาดฝัน เมื่อมีพระชนมายุ 10 กว่าพรรษา ตอนนั้นเกิดสุริยุปราคา สามารถเห็นในเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้จัดปาร์ตี้ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา ได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ เขียนภาพที่ตนเห็นบนท้องฟ้า ให้ฝรั่งที่มาร่วมงานเป็นผู้ตัดสิน ผลออกมาภาพที่สมเด็จปู่ทรงเขียนเมื่อพระชนมายุ 10 พรรษาได้รับรางวัลที่ 1 ฝรั่งผู้ตัดสินพอใจบอกว่าจะขอนำไปตีพิมพ์ในนิตยสารดาราศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่มีใครเห็นภาพนั้นว่าตีพิมพ์หรือไม่ จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีเพื่อนมาบอกจึงได้พบว่าภาพนั้นถูกตีพิมพ์จริง
ม.ร.ว.จักรรถ เล่าว่าสมเด็จปู่ทรงมีแววมาแต่เด็ก เช่น ทรงเขียนภาพคล้องช้างก็เขียนเป็นภาพเงากลับ ข้างหน้ามืด ข้างหลังสว่าง (Back light) ต่างจากภาพเขียนโบราณที่ด้านหน้าสว่าง แสดงว่าพระองค์เป็นศิลปิน ไม่ยอมรับประเพณีโบราณทั้งหมด แต่เอาความคิดของตนเป็นที่ตั้งด้วย ตามที่ได้รับการบอกเล่ามานั้น (สมเด็จปู่สิ้นพระชนม์ เมื่อ ม.ร.ว.จักรรถ ผู้เล่ามีอายุเพียง 2 ขวบ) สมเด็จปู่ทรงทำงานตลอดแม้กระทั่งเวลาเสวย จะทรงใช้พระหัตถ์ข้างซ้ายเขียน ส่วนข้างขวาใช้เสวย
ร.5 ทรงชม
ชีวิตรับราชการนั้น ทรงเป็นเสนาบดีหลายกระทรวง และนายช่าง รับผิดชอบงานโยธา เป็นนายช่างโยธา จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชม โดยเรียกว่า นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ปัจจุบันคนในวงการเรียกว่าสมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม จะเรียกอย่างไรก็ตาม ท่านคือศิลปินใหญ่แห่งกรุงสยาม
พร้อมกันนั้นก็ชี้ให้ดูภาพบันไดขึ้นตำหนักปลายเนิน ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยโบราณ เป็นบันไดที่สมเด็จปู่ออกแบบให้ขึ้นได้อย่างปลอดภัย ไม่เมื่อย ไม่เหนื่อย เพราะทรงคำนวณการวางขั้นบันไดตามหลักสถาปัตย์ ตรงกับที่นักสถาปัตย์ในประเทศอังกฤษคิดไว้ ท่านคิดคำนวณออกมา โดยไม่เคยไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เป็นอัจฉริยะอย่างยิ่ง
ที่มาของตำหนักปลายเนินนั้น สืบเนื่องมาจากสมเด็จปู่ปอดไม่ค่อยดี ขณะที่กรุงเทพฯ ในสมัยนั้นมีฝุ่นละอองมาก จึงมีความคิดที่จะหาที่ดินย่านชานเมืองเพื่อปลูกบ้านเป็นที่พักผ่อน เมื่อมีผู้ขายที่ดินผืนนี้ (ที่ตั้งตำหนักปลายเนิน) ซึ่งมี 13 ไร่ ในราคาตารางวาละเจ็ดบาท จึงซื้อทั้งหมด ที่นี่จึงเป็นฐานของตระกูลจิตรพงศ์ ปัจจุบันได้แบ่งออกเป็น 8 แปลง สำหรับบุตร-ธิดา 8 คนของท่าน
ส่วนตัวบ้านทรงไทยนั้น สมเด็จปู่ซื้อจากเจ้าของบ้านชื่อ ภู่ ภมรมนตรี สร้างเป็นท้องพระโรง หรือหอนั่ง ในตอนต้น ต่อมาก็ปลูกถัดไปใช้เป็นหอนอน ปลูกเป็นแถวเหมือนขบวนรถไฟเพื่อให้ทุกบ้านได้รับลมเหมือนกันทุกหลัง ต่างกับการปลูกบ้านไทยทั่วไปที่มักปลูกเป็นหมู่
ศ.ศิลป์ ปั้นรูปถวาย 6 ครั้ง
บนตำหนัก ที่เป็นท้องพระโรงเต็มไปด้วยผลงานของสมเด็จปู่ นอกจากหอนั่ง อาสน์สงฆ์ ธรรมาสน์เทศน์ ก็มีภาพเขียนต้นฉบับเพื่อสร้างพัดรองจำนวนหนึ่ง รวมทั้งพระรูปเหมือน (หล่อ) สมเด็จปู่ ที่นายช่างชาวอิตาเลียน คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ปั้นถวาย และเป็นศิลปินไทย หรือเจ้านายพระองค์เดียวที่ เฟโรชี ต่อมามีชื่อไทยว่า ศิลป์ พีระศรี ปั้นพระรูปถวายในโอกาสต่างๆ ถึง 6 วาระด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อ เฟโรชี ที่ชนะเลิศในการประกวดเพื่อเข้ามาทำงานด้านศิลปะในไทยตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 5 เขาใช้เวลาเดินทาง 2 เดือนจากอิตาลีมาไทย แต่พอมาถึงราชสำนักไทยไม่ต้อนรับ แถมไล่ให้กลับอีกต่างหาก สร้างความตกใจแก่เฟโรชีเป็นอย่างมาก ต่อมาเฟโรชีได้พบกับสมเด็จปู่ สมเด็จปู่ทรงทราบเรื่อง จึงให้ปั้นรูปให้ดู โดยพระองค์ทรงถอดฉลองพระองค์ (เสื้อ) นั่งเป็นแบบให้ปั้น ปั้นเสร็จส่งเข้าวัง พร้อมกับบอกว่าฝีมือดีใช้ได้ แต่ถูกคนในวังด่าว่าฝรั่งไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง จับเจ้านายเปลือยกายได้อย่างไร เฟโรชีจึงต้องปั้นอีก เป็นพระรูปที่มีฉลองพระองค์ พระรูปปั้น 2 รูปนั้นประดิษฐานที่ท้องพระโรงตำหนักปลายเนินในขณะนี้
มีเรื่องเล่าเรื่องบุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ที่ห้องเสวยของสมเด็จปู่ ว่าสมเด็จปู่ได้มาโดยบังเอิญเมื่อเข้าไปในวัดแห่งหนึ่ง พบพระภิกษุกำลังจะรื้อบุษบกนั้นทำฟืน จึงยับยั้ง และทำผาติกรรม เมื่อสมเด็จปู่เขียนภาพทศชาดก ใช้บุษบกนี้เป็นแบบเขียนราชรถของเนมิราชชาดกด้วย
รับพระราชทานเพลิงศพในเมรุที่ออกแบบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาพระประวัติ จะพบผลงานของสมเด็จปู่ หรือพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทั้งด้านปกครอง ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวรรณกรรม มากล้นตั้งแต่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสนาบดี นายช่าง นักออกแบบด้านสถาปัตยกรรม เช่น พระเมรุ และตาลปัตรพัดรอง โดยรวมแล้วท่านคือศิลปิน 4 แผ่นดิน นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2490 ก็ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุมาศองค์เดียวกันกับที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบสร้างถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งของศิลปิน 4 แผ่นดิน นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม