ชาร์จแบตมือถือรักษ์โลก
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน การที่มองโลกให้เป็นสีเขียว
โดย...พริบพันดาว ภาพ : static-32.sinclairstoryline.com
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน การที่มองโลกให้เป็นสีเขียว คิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ที่ใช้ได้จริงในชีวิตปกติ เพื่อประหยัดพลังงานและลดขยะพลาสติกนำมาใช้ใหม่ เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไกลตัวและยากยิ่ง เพราะต้องพึ่งพาอาศัยบรรดานักวิทยาศาสตร์ช่างประดิษฐ์ทั้งหลาย
แบตเตอรี่ถือเป็นเรื่องสำคัญของสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือในยุคปัจจุบัน ที่จำเป็นจะต้องอาศัยแหล่งพลังงานที่สามารถจะเก็บไฟไว้ และจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ใช้ในการทำงานได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่สำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ไปแล้ว เพราะไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็ต้องมีพกติดตัวกันไว้ตลอดเวลา
แบตเตอรี่ในมือถือและแท็บเล็ตส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นจะเป็นแบบ Li-ion และ Li-Polymer ทั้งสองแบบมีลักษณะการทำงานในลักษณะนับรอบการชาร์จ (Cycle) แต่ไม่ได้นับเป็นจำนวนครั้ง โดยแรงดันในการชาร์จจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ก็คือ 1C หมายถึง การชาร์จ ณ ระดับพลังงานแบตเตอรี่มากกว่า 65-70%, 2C หมายถึง การชาร์จ ณ ระดับพลังงานแบตเตอรี่ 35-60% และ 3C หมายถึง การชาร์จ ณ ระดับพลังงานต่ำกว่า 30%
เพราะฉะนั้นการชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ยุคปัจจุบัน
เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ศูนย์อาชีพและวิทยาลัยเขตฮาร์ดิน ในเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นเครื่องชาร์จโทรศัพท์ด้วยการรับขวดพลาสติกแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปย่อยสลายกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล
การนำขวดพลาสติกมาทิ้งในเครื่องนี้ขวดเดียวจะสามารถแลกเปลี่ยนกับการชาร์จสมาร์ทโฟนได้เท่ากับ 15 นาที ซึ่งตัวเครื่องนี้จะใช้พลังงานน้อยกว่าในการชาร์จไฟกว่าเต้าเสียบปกติ และช่วยประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นมากกว่าการชาร์จมือถือกับไฟฟ้าในแบบปกติ
เครื่องชาร์จโทรศัพท์มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการนำของเหลือใช้มาใช้ใหม่ และช่วยในการประหยัดพลังงานโดยเปล่าประโยชน์แบบคูณสองเลยทีเดียว
พลังงานสีเขียวเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่านักเรียนที่เข้าชั้นเรียนวิชาจัดการพลังงาน ได้สร้างสรรค์เครื่องชาร์จโทรศัพท์จากขวดพลาสติกรีไซเคิลนี้ขึ้นมา นักเรียนคนหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมในการคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องนี้ขึ้นมา เจมส์ โรเจอร์ บอกว่า มันมีการทำงานโดยการใส่ขวดพลาสติกลงไปในเครื่อง ซึ่งจะไปกระตุ้นพลังงานให้เข้าสู่ช่องเสียบยูเอสบีเพื่อที่จะชาร์จเพิ่มแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟน ซึ่งมีหน่วยวัดคือขวดพลาสติก 1 ขวด มีเวลาในการชาร์จได้ถึง 15 นาที เครื่องหนึ่งเครื่องมีช่องยูเอสบีไว้ชาร์จสมาร์ทโฟนถึง 32 ช่องด้วยกัน
การสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในเทอมสุดท้ายของการเรียนเรื่องการจัดการพลังงาน ด้วยแนวคิดที่ว่าอย่างน้อยในกระเป๋าเป้นักเรียนหรือกระเป๋าของคนทุกคนที่พบเห็นที่โรงเรียนอย่างน้อยก็มีขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มไว้ 1 ขวดอย่างแน่นอน โดยชื่อดั้งเดิมที่ตั้งให้เครื่องตัวนี้มีชื่อว่า เดโบราห์ แต่ส่วนมากคนจะสะกดผิดเป็นดูห์บอร์เออห์ สุดท้ายก็ต้องเรียกตามที่สะกดผิด
“ผมไม่ชอบเวลาที่ผู้คนไม่ค่อยนำของที่ใช้แล้วมาสู่กระบวนการรีไซเคิล และผมก็ไม่ชอบเวลาที่สมาร์ทโฟนแบตเตอรี่หมด ซึ่งเราสามารถนำทั้งสองอย่างมาทำรวมกันได้” โจ สเตคเกอร์ อาจารย์ซึ่งสอนวิชาการจัดการพลังงาน กล่าวถึงโครงการนี้ที่ให้ลูกศิษย์ได้คิดค้นและเขาเป็นที่ปรึกษา
บรรดานักเรียนที่ช่วยกันประดิษฐ์เครื่องชาร์จโทรศัพท์ผ่านการทิ้งขวดพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิลต่างเห็นพ้องต้องกันว่า พวกเขาหวังให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่เครื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่นที่จะช่วยกันคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชิ้นอื่นๆ ขึ้นมาบ้าง
ตอนนี้ก็จะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมาใช้กับเครื่องชาร์จสมาร์ทโฟนด้วยขวดน้ำรีไซเคิล เพื่อให้สะดวกกับการใช้งานมากขึ้น และคาดว่าจะเป็นต้นแบบให้กับการใช้งานในเชิงกิจการเพื่อสังคม
น่าสนใจสำหรับเมืองไทยเลยทีเดียว ถ้ามีการนำแนวคิดนี้มาเลียนอย่างและประยุกต์ใช้ผลิตเครื่องชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนโดยแลกเปลี่ยนขวดพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล