ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (24)
สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเกศ ประสูติในสมัยกรุงธนบุรี
โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเกศ ประสูติในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 12 ค่ำ ปีมะเส็งเบญจศก จ.ศ. 1135 ตรงกับวันที่ 9 มี.ค. 2316 พระโอรสลำดับที่ 6 ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าขรัวเงิน และเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เมื่อครั้นรัชกาลที่ 1 ในปี 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงประกอบพระราชพิธีอุปราชาภิเษก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่งก็ทรงตั้งพระบัณฑูรน้อยและเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิทักษ์มนตรีขึ้นเป็นกรมหลวงทั้งสองพระองค์ และในครั้งเดียวกันนี้ ก็ได้โปรดตั้งกรมเจ้านายด้วยอีก 7 พระองค์ ซึ่งใน 7 พระองค์นี้ ได้มีเจ้าฟ้าเกศอยู่ด้วย มีข้อความตามประกาศนั้นว่า โปรดตั้งสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าเกศพระโอรสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย เป็นกรมขุนอิศรานุรักษ์ขณะทรงมีพระชันษาได้ 34 ปี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อปี 2351 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระชันษาได้ 11 ปี ถึงกำหนดจะโสกันต์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราเก่า เพื่อให้เป็นแบบแผนไว้ในแผ่นดินต่อไป จึงนับได้ว่าเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ที่ได้รับพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างเต็มตำรา ในการนี้โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์รับสมมติเป็นพระอิศวรมีข้อความปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 ว่า
“...จึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ แต่งพระองค์ฉลองพระองค์ครุยพระชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาใหญ่ยอดเขาไกรลาศทรงรับพระกรชั้นทักษิณ ทิศตะวันตกกลางบันไดนาค จูงกรขึ้นไปบนเขาไกรลาศ ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านตะวันออก...”
ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ 2 ได้มีการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นผู้อำนวยการซึ่งได้มีจดหมายเหตุจดข้อความละเอียดลงไว้ แล้วในการนี้ก็ได้มีพระนามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย โดยได้ทรงเป็นผู้รับพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วอุ้มเชิญเสด็จลงสรงในแพสนานนี้ในมณฑลพิธีนั้น
สมเด็จเจ้าฟ้าเกศ กรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการมหาดไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นแม่ทัพยกไปรักษาเมืองพระตะบอง (เมื่อปี 2358) ทรงมีฝีพระหัตถ์ในทางช่าง เช่น ทรงจำแบบอย่างเรือรบญวนมาดัดแปลงเป็นเรือสำหรับใช้เดินทางไกล ทรงแต่งเก๋ง แต่งแพ สร้างสวนขวา พระประธานวัดรังษีสุทธาวาสในวัดบวรนิเวศ
ในพระราชพงศาวดารฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ว่าทรงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นผู้สำเร็จราชการมหาดไทยในคราวเดียวกันกับที่โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระเชษฐา เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณ และได้มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ได้ทรงเกี่ยวข้องกับราชการทางด้านการทหารด้วยเช่นกัน
มูลเหตุแห่งเรื่องนี้ เนื่องด้วยความแตกร้าวจากเมืองเขมร และเมืองญวน และเกี่ยวโยงมาถึงเมืองพระตะบอง ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามเวลานั้น ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ได้กล่าวถึงเรื่องตอนนี้โดยพิสดาร ความว่า
“...ใบบอกพระยารามคำแหง และพระยาอภัยภูเบศร์ บอกเรื่องเขมรยกกองล่องแดนเมืองพระตะบอง เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน 6 ปีกุน สัปตศก พ.ศ. 2358 ได้ทรงทราบความจึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพกรุงเทพฯ สมทบกับกองทัพเมืองนครราชสีมาให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นแม่ทัพยกไปตั้งรักษาเมืองพระตะบองไว้ แล้วโปรดให้มีศุภอักษรแจ้งความไปยังเสนาบดีเมืองญวน ให้ทูลแก่พระเจ้าเวียดนามยาลองให้ทราบเหตุการณ์ ที่ข้าหลวงญวนมายุยงให้เขมรกำเริบขึ้นดังนี้”ป
รากฏว่า เมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เสด็จกลับจากราชการที่เมืองเขมรแล้วได้ทรงจำแบบอย่างเรือญวนซึ่งเป็นเรือรบ มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นเรือสำหรับเดินทางไกลในยามปกติ ซึ่งปรากฏตามความในพระราชพงศาวดารฉบับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงเรื่องนี้ไว้ความว่า
“...ส่วนเรือญวน ซึ่งเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ ใช้แจวมีเก๋งสำหรับไปทางไกลนั้น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงดำริขึ้นก่อน แล้วจึงเป็นตัวอย่างทำใช้กันต่อไป มีทั้งของหลวงของเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่” แล้วทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า “เรือญวนที่กล่าวนี้มีตั้ง 20 แจว ข้างท้ายเรือปักธง อาวุธและหางนกยูง ยังมีใช้จนรัชกาลที่ 5 เหมือนกันแต่หมดไปก่อนเรือสำปั้นเก๋ง ที่เรียกว่าเรือญวนนั้น คือเรือชนิดนี้เดิมญวนใช้ แต่ตั้งเก๋งค่อนมาข้างท้ายมาก เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทอดพระเนตรเห็นเมื่อคราวเป็นแม่ทัพลงไปเมืองพระตะบอง ไปทรงจำอย่างแก้ไขตั้งเก๋งให้ค่อนข้างกลางลำ จึงเรียกว่าเรือญวนเหมือนกับที่เรียกเรือสำปั้นตามศัพท์จีนฉะนั้น”
ตามพระราชพงศาวดารย่อมเห็นได้ว่า เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ซึ่งดำรงศักดิ์เป็นลำดับรองจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ดังนั้นเมื่อมีพระราชพิธีหรือการงานใดๆ ก็ตาม ย่อมจะปรากฏพระนามของสองพระองค์นี้อยู่ในอันดับหน้าเสมอ อย่างเช่นที่มีการสร้างสวนขวา ซึ่งเมื่อสร้างสำเร็จแล้ว ก็ได้มีการฉลองด้วย และซึ่งในการฉลองนี้ก็ได้มีการแต่งเก๋งแต่งแพเป็นการมโหฬาร และในการนี้ทั้งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ก็เป็นผู้มีพระนามว่าได้ทรงแต่งเก๋งแต่งแพด้วยกันทั้งสองพระองค์