หอชมเมืองกรุงเทพฯ และไอเฟล

08 กรกฎาคม 2560

บ้านเรากำลังจะสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร สูง 459 เมตร ให้เป็นจุดน่าสนใจจุดหนึ่งในการท่องเที่ยว

โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา

บ้านเรากำลังจะสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร สูง 459 เมตร ให้เป็นจุดน่าสนใจจุดหนึ่งในการท่องเที่ยว

หากยืนยันว่าเป็นความสูงนี้จริงก็จะเท่ากับว่าประเทศไทยกำลังจะมีงานก่อสร้างที่สูงกว่าตึก Petronas ของมาเลเซียเสียอีก เพราะตึก Petronas สูงเพียง 451.9 เมตรเท่านั้น

หอชมเมืองมีอยู่มากมายในโลก และหลายแห่งจะโฆษณาว่า

“ถ้าไม่ได้ขึ้นไปบนยอดสุดของหอชมเมืองของเขาก็เท่ากับไปไม่ถึงเมืองนั้น”

คนขึ้นไปเที่ยวบนหอหลายแห่งในโลกจะได้ประสบการณ์คล้ายๆ กัน คือ ได้เห็นทัศนียภาพของเมืองทั้งเบื้องล่างและเบื้องหน้าที่ไกลออกไปลิบๆ โดยยังมีกล้องส่องทางไกลไว้บริการให้ดูไปยังจุดต่างๆ ซึ่งจะมีผังภาพที่วางอยู่ข้างๆ ไว้เทียบเคียง ทำให้ทราบว่าตรงไหนคืออะไร

บนหอมักจะมีบริการไปรษณีย์ให้ส่งโปสต์การ์ด หรือจดหมาย ซึ่งการประทับตราไปรษณีย์บนจดหมายที่ยอดหอนั้นสุดแสนมีค่าสำหรับบางวาระ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันแม่ วันวาเลนไทน์ ฯลฯ ซึ่งจะมีคนขึ้นไปส่งไปรษณีย์กันมากเชียวค่ะ

หอบางแห่งมีภัตตาคารหรู และที่ขาดไม่ได้ คือ จะมีห้องสุขาบนหอสำหรับคนที่ขึ้นบนที่สูงแล้วกลั้นไม่ไหว ฯลฯ

จากการที่ได้ไปขึ้นหอคอย หอนาฬิกา หอกระโดดสกี หอระฆัง รวมทั้งหลังคาโบสถ์ และมหาวิหารหลายแห่ง 

ก็ถามตัวเองว่า...

หอสูงที่ไหนบ้างที่เขาสร้างให้เราประทับใจที่สุด?

ก็ขอตอบว่า...หอไอเฟล

ซึ่งไปขึ้นมานานมากแล้ว แต่ก็สามารถจำหลายอย่างและประทับใจมากกว่าหอ Petronas ที่ไปขึ้นตอนหลังเสียอีก

เมื่อวิเคราะห์ว่า ทำไมหอไอเฟลจึงทำให้เราประทับใจได้มากขนาดนั้น

ตอบได้เลยว่า...เพราะเขาทำให้เราได้สัมผัสและรับรู้เนื้อหาค่ะ

ในหลักนิเทศศาสตร์ ก็คือ เรื่องของ Contents หรือ Messages นั่นเอง

ดั้งเดิมแล้วตอนที่สร้างหอไอเฟลขึ้น คือ พื้นที่จัดงานแสดงสินค้า หรือ EXPO Paris 1889 ซึ่งได้ตั้งหัวข้อว่า French Revolution

(สำหรับปี 2017 คือปีนี้ หรือหลัง EXPO Paris 1889 มา 128 ปี จัดที่คาซัคสถาน ชื่อหัวข้อว่า... Future Energy เพิ่งเปิดงานไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.นี้ ทำไมจึงเงียบจังคะ)

ในงาน EXPO Paris 1889 หอคอยไอเฟลตั้งอยู่ในพื้นที่ลานกว้างของ Champ de Mars ที่เคยใช้ฝึกทหารของกองทัพฝรั่งเศส

เขาสร้างไอเฟลเพื่อจะใช้เป็นหอสูงให้คนขึ้นไปดูพื้นที่จัดงาน EXPO เบื้องล่างและชมมหานครปารีสทั่วไป หากอากาศดีจะมองได้ไกลไปถึงพระราชวังแวร์ซาย

ฝรั่งเศสต้องการอวดปารีส เมืองที่ได้กลายเป็น Metropolitan มาพักใหญ่ อันเป็นผลมาจากการรื้อเมืองปารีสเก่าลงแทบหมด แล้วสร้างเมืองใหม่ขึ้นแทนในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3    

ปารีสอยากอวดเมืองใหม่ที่มีตึกนีโอคลาสสิกสีครีมนวล โอเปร่าเฮาส์ น้ำพุมากมาย บูเลวาร์ดกว้างขวาง ฯลฯ

Paris Expo 1889 จงใจปรับเวลาจัดงานให้ตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติใหญ่ของประชาชนที่ล้มราชวงศ์บูร์บองพอดี จึงได้ตั้งหัวข้อการจัดงานว่า “French Revolution”

ซึ่งกินความถึงการปฏิวัติการเมือง การปฏิวัติด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ของฝรั่งเศส แค่นี้ก็หวือหวาแล้วค่ะ

  แต่ลึกๆ แล้วฝรั่งเศสนั้นอัดอั้นกับการที่อังกฤษจัดงาน Expo ครั้งแรก คือ The Great Exhibition ในปี 1851 ในหัวข้อ Industry of All Nations ซึ่งจัดได้ยิ่งใหญ่มาก เหตุการณ์นี้จัดเมื่อ 38 ปี ก่อนหน้าที่จะจัดที่ฝรั่งเศส   

อังกฤษจัด The Great Exhibition ในปี 1851 ขึ้นที่ Hyde Park โดยได้สร้าง Chrystal Palace หรือปราสาทแก้วมหึมา สูงขนาดคลุมต้นไม้ในงานได้ งานครั้งนั้นคนทั่วโลกเข้าชมมากถึง 6 ล้านคน ทำให้ตื่นตาตื่นใจไปตามๆ กัน

หลังจากนั้นมา แม้อังกฤษได้จัด Expo อีก 1 ครั้ง และฝรั่งเศสได้จัด Expo ถึง 3 ครั้ง ก็ไม่ดังเท่าอังกฤษจัดครั้งแรก แต่ Paris Expo ปี 1889 เที่ยวนี้ฝรั่งเศสพร้อมและขอจัดหนักค่ะ

โลกได้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเต็มขึ้น คนยุโรปสามารถนำเหล็กชิ้นใหญ่มาขึ้นรูปปรับแต่งให้รายละเอียดได้ราวกับงานปั้นกับมือ ทำให้เกิดศิลปะเหล็กที่จะเข้าสู่ยุค Art Nouveau

วิศวกรชื่อ Gustave Eiffel รู้จังหวะว่าศิลปะ Art Nouveau กำลังจะเกิด จึงทำการเสนอแบบก่อสร้างหอคอยผสานศิลปะต้นยุค Art Nouveau ด้วยหอคอยซึ่งประกอบขึ้นด้วยเหล็กหลายรูปร่างให้สูง 300 เมตร

ซึ่งจะเป็นหอคอยสูงที่สุดในโลก งานวิศวกรรมหอไอเฟลจะแสดงงานก่อสร้างเหล็กของฝรั่งเศสที่น่าทึ่ง เพราะแม้เป็นโครงสร้างเหล็กหนัก 7,300 ตันก็จริง แต่หากย่อลงมาให้สูงขนาดเก้าอี้นั่งขนาด 2 ฟุตครึ่ง หอไอเฟลจะมีน้ำหนักเฉลี่ยที่แต่ละขาแค่เพียง 7 กรัมเท่านั้น

แค่นั้นก็อึ้งกันตาค้างแล้วค่ะ... แต่เสียงต่อต้านในการก่อสร้างหอไอเฟลก็ดังอื้ออึงเพราะค่าก่อสร้างที่สูงถึง 7.8 ล้านฟรังก์ พวกนักเขียนและพวกศิลปินราว 300 คน รวมกันออกมาด่าว่าจ่ายเงินไปแพงเพื่อสร้างโครงเหล็กเปลือยเปล่าทุเรศบ้าบอขึ้นในงาน 

คณะกรรมการไม่ฟังเสียง ในที่สุด Eiffel Tower ก็เกิดขึ้น แต่ก็ปลอบใจพวกต่อต้านไปว่า

“พวกท่านทนดูไปหน่อยก็แล้วกัน... หลังงาน Paris Expo 20 ปี เดี๋ยวจะทำการรื้อหอไอเฟลลง”

แต่หอไอเฟลก็รอดจากการถูกรื้อทิ้งเมื่อรัฐบาลต้องการหาเสาวิทยุสูงพอที่ไว้ดักฟังสัญญาณวิทยุข้าศึกในมหาสมุทรแอตแลนติกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ฯลฯ

หอชมเมืองกรุงเทพฯ และไอเฟลประมาณนี้แหละค่ะ... คือ เนื้อหาที่เกี่ยวกับหอไอเฟลซึ่งวันนี้ได้กลายมาเป็น La Dame de Fer หรือ The Iron Lady เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาให้เราได้ยิน เห็น และสัมผัส ขณะที่เราอยู่ที่หอไอเฟลแล้ว

ทำให้เราเกิดความประทับใจกับหอไอเฟลได้อย่างประหลาด

หอไอเฟลครองตำแหน่งเป็นหอคอยหรืออาคารสูงที่สุดในโลกมานานราว 30 ปี จนกระทั่งอาคาร Chrysler ได้สร้างขึ้นใน New York สูงกว่าหอไอเฟล 19 เมตร

และหลังจากนั้นมาความสูงของหอคอยและอาคารกลายเป็นสถิติที่ถูกไล่ล่าทำลายมาอย่างต่อเนื่อง

เราทราบว่า การสร้างหอคอยชมเมืองกรุงเทพฯ ครั้งนี้จะใช้เป็นที่แสดงแนวคิดในปรัชญา “ศาสตร์พระราชา” และสะท้อนรูปแบบในเอกลักษณ์ของความเป็นไทย

ท่านต้องสร้างเนื้อหาและวิธีการสื่อสารให้หอชมเมืองกรุงเทพฯ สามารถแสดงแนวคิดนั้นได้ชัดเจนประทับใจให้คนจำไปมิรู้ลืมให้ได้นะคะ     

(พบกันวันเสาร์หน้าค่ะ)
Thailand Web Stat