posttoday

วิพากษ์ปัญหา "โพสต์ภาพศพ" จากมุมมองกู้ภัย-สื่อ

12 กรกฎาคม 2560

ส่องปัญหาและทางแก้ไขการส่งต่อภาพผู้เสียชีวิตในสังคมออนไลน์จาก หน่วยกู้ภัย สื่อมวลชน และนักวิชาการด้านสื่อ

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

การนำภาพศพผู้เสียชีวิตมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ กลายเป็นประเด็นที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมทุกครั้งในยามที่เกิดเหตุอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุร้ายแรง

ทว่าแม้จะมีเสียงตักเตือนจำนวนมากจากสังคม แต่ก็ยังมีการเผยแพร่ภาพไม่เหมาะสมออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมีผู้คนจำนวนหนึ่งต่างพากันเข้าไปกดไลค์กดแชร์แถมด้วยการแสดงความเห็นว่า "ขออโหสิกรรมที่เข้ามาดู" ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีผู้เข้าไปตักเตือนก็กลับถูกต่อว่ากลับโดยอ้างว่าการนำภาพผู้เสียชีวิตมาแชร์ก็เพื่อเป็น "อุทาหรณ์"

เมื่อเกิดกระแสตำหนิถึงความไม่เหมาะสมในการเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิต สปอร์ตไลท์มักส่องไปที่ "หน่วยกู้ภัย และ สื่อมวลชน" โดยอัตโนมัติเนื่องจากเป็นผู้ที่สามารถ "เข้าถึง" ที่เกิดเหตุได้ตามหน้าที่

วันนี้โพสต์ทูเดย์คุยกับตัวแทนจากมูลนิธิร่วมกตัญญู และ กรรมการควบคุมจริยธรรมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ "สาเหตุ" ที่ทำให้ยังมีภาพไม่สมควรเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกมา 

ตามหาญาติ-เตือนภัย เหตุมูลนิธิปล่อยภาพ แต่ต้องเซ็นเซอร์

อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ หัวหน้ารถกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู เล่าว่าการส่งภาพศพในอุบัติเหตุต่างๆ ของทางมูลนิธิฯ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อประโยชน์ 3 เรื่องหลัก คือ 1.ตามหาญาติผู้ประสบอุบัติเหตุที่ไม่มีเอกสารหลักฐานติดตัวให้รับทราบ 2.เตือนภัย ให้คนทั่วไปรับทราบ แต่การนำเสนอต้องผ่านการเซ็นเซอร์ และ 3.เป็นช่องทางสื่อสารขอความช่วยเหลือนอกจากวิทยุสื่อสาร ปัจจุบันใช้โปรแกรมไลน์ในการส่งข้อมูลให้กับ 3 กลุ่มหลัก คือ ภายในหน่วยงานเพื่อแจ้งผลการปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มสมาชิกอาสาสมัครกู้ภัยทั่วประเทศ และใช้ติดติอสื่อสารกับสื่อมวลชน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ รายนี้มองว่าการส่งภาพนั้นขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ส่งแต่ละคน แต่มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยส่วนใหญ่กว่า 80% เซ็นเซอร์ภาพผู้เสียหายเพราะทุกคนรับทราบเรื่องข้อกฎหมาย แต่หากจำเป็นกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่มีญาติก็อาจขึ้นข้อความว่า “ขออภัยที่เราไม่ได้เบลอหน้า เพื่อให้ช่วยติดตามหาญาติ”

“ภาพที่หลุดออกมายอมรับว่าเมื่อก่อนมี แต่ตอนนี้น้อยลงมาก ทำถูกกันมาเป็น 100 ครั้งไม่มีใครว่า แต่คนส่วนน้อยทำผิดครั้งเดียว ก็ยกขึ้นมาเป็นประเด็น ทำให้คนทำงานไม่สบายใจ แต่ยังไงหากเจอเราจะส่งข้อความไปเตือนให้เซ็นเซอร์หรือลบภาพ เพราะทุกวันนี้กลุ่มอาสาก็เตือนกันเอง เช่นเดียวกับภาคสังคม”

อัญวุฒิ มองว่าทางออกเรื่องนี้มูลนิธิกู้ภัยเป็นเพียงส่วนน้อยซึ่งมีการคอยเตือนกันอยู่ตลอด แต่ผู้ที่โพสต์ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากประชาชน จึงคิดว่าเรื่องนี้ต้องปลูกฝังให้ทุกคนตระหนักว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ แต่ถึงอย่างไรสถานการณ์ขณะนี้ดีขึ้น

“อยากให้ทุกคนช่วยกันตรวจสอบเพราะสื่อมี 2 มุม 2 ด้าน ในทุกเรื่อง ฉะนั้นทุกคนควรช่วยกันดูแลและนำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์มาใช้ให้มากที่สุด”

วิพากษ์ปัญหา \"โพสต์ภาพศพ\" จากมุมมองกู้ภัย-สื่อ "ขออโหสิกรรมที่เข้ามาดู" คอมเมนท์ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักทิ้งไว้หลังจากเข้ามาดูภาพผู้เสียชีวิต

ภาพความสูญเสียไม่ว่าเหตุใด “ไม่ควรเผยแพร่”

จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันหลักการว่าภาพความเสียหายจากอุบัติเหตุหรือเหตุฆาตกรรมต่างๆ ไม่ว่ากรณีใดเป็นเรื่องที่ไม่ควรนำออกมาเผยแพร่ เพราะเป็นหลักพื้นฐานและกฎเหล็กของสื่อมวลชน แต่ที่ในสังคมยังมีคนบางกลุ่มส่งภาพประเภทนี้อยู่ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอบรมเรียนรู้เหมือนสื่อวิชาชีพ จึงไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานเรื่องความรับผิดชอบของสื่อมวลชนแท้จริง เพราะหลักการคือ ต้องไม่ซ้ำเติมผู้สูญเสีย

กรรมการสมาคมนักข่าวฯ รายนี้ มองว่าการส่งต่อภาพผู้เสียชีวิตทางจิตวิทยาคือการตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเรื่องราวอะไรคนทั่วไปมักให้ความสนใจ แม้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงอยากให้คิดซักนิดว่าหากตนเองเป็นครอบครัวผู้เสียชีวิต คงไม่อยากทำเช่นนั้นเหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย

“ถ้าหากเป็นเราจะรู้สึกไหม เรื่องเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ควรคำนึงถึงเรื่องของความเป็นมนุษย์ เพื่อนมนุษย์ไม่ควรจะซ้ำเติม ต้องระมัดระวัง”

ทางออกเรื่องนี้คิดว่าต้องสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิ ให้กับผู้ใช้โซเชียลมีเดียควบคู่ไปกับการใช้สื่อออนไลน์ว่าการกระทำอย่างไม่คิดเป็นการซ้ำเติมผู้อื่น และอาจมีความผิดทางกฎหมายฐานหมิ่นประมาทผู้เสียชีวิต แต่ถึงอย่างไรคิดว่ากฎหมายไม่สำคัญเท่าจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ ที่ต้องระมัดระวังไม่ควรละเมิดศักดิ์ศรีของผู้สูญเสีย

จักร์กฤษ แสดงความรู้สึกว่าปัญหานี้ไม่น่ากังวลเพราะวิวัฒนาการเมื่อถึงจุดหนึ่งที่คนในสังคมตระหนักรู้ว่าอะไรไม่ควรโพสต์ เช่นเดียวกับช่วงเกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ ช่วงแรกก็มีภาพความสูญเสียเผยแพร่ออกมาจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นสังคมมีการตักเตือนกันสุดท้ายสถาการณ์ดีขึ้น จึงคิดว่าวันนี้ผู้ใช้สังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจแล้ว

วิพากษ์ปัญหา \"โพสต์ภาพศพ\" จากมุมมองกู้ภัย-สื่อ ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายนำภาพผู้เสียชีวิตมาเผยแพร่โดยไม่เซ็นเซอร์

 

จิตสำนึก หนทางยุติการเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิต

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าปัญหานี้เกิดจากความไม่รู้ โดยภาพผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่ถูกเผยแพร่มาจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิซึ่งได้เข้าไปในพื้นที่ จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่กระทบต่อสิทธิของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ลดลงไปมาก แต่ถึงอย่างไรยังคงต้องคอยตักเตือนและให้ความรู้กันอยู่

การที่บางมูลนิธิฯ อ้างว่าเผยแพร่ภาพศพเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ มองว่าไม่จริงเป็นเพียงข้ออ้างเพราะการเผยแพร่ภาพเหล่านั้นไม่ตอบโจทย์ที่จะใช้เป็นอุทาหรณ์ได้ แต่กลับเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและไม่ให้เกียรติผู้ประสบเหตุมากกว่า อีกทั้งยังสร้างผลกระทบทางจิตใจแก่ญาติผู้เสียหาย ดังนั้นอยากให้สังคมช่วยเป็นกระบอกเสียงเตือนผู้นำภาพความสูญเสียออกมาเผยแพร่

มานะ มองว่าวันนี้แม้มีกฎหมายควบคุมดูแลเรื่องเหล่านี้แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ 100% เพราะปัญหานี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก ฉะนั้นเป็นเรื่องที่มาตรการทางสังคมต้องช่วยกันทำความเข้าใจ

“ผมไม่เชื่อว่ากฎหมายจะทำอะไรได้ ถ้าหากมันมีช่องทางและคนจะนำเสนอ แต่สิ่งสำคัญเราต้องช่วยเตือนและสร้างจิตสำนึกกันมากกว่านี้ หากปล่อยไป มันจะทำให้เด็กรุ่นต่อไปเสพความตาย กลายเป็นคนหยาบกระด้าง เพราะเห็นภาพพวกนี้มากเกินไป”