โรคถุงลมโป่งพอง
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease, COPD) หรือโรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคปอดเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับ
โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease, COPD) หรือโรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคปอดเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยควันบุหรี่จะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองภายในหลอดลมและเนื้อปอด ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังภายในปอด
เมื่อเป็นอยู่นานเข้าจะเกิดภาวะหลอดลมตีบและถุงลมในปอดถูกทำลาย เกิดภาวะถุงลมโป่งพองและมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจเกิดขึ้น นอกจากควันบุหรี่แล้ว ควันจากการการหุงหาอาหารหรือการทำงานอื่นๆ ก็ทำให้เกิดภาวะโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพองได้ ถ้าสูดดมต่อเนื่องเป็นเวลานาน
อาการที่สำคัญของโรคนี้ คือ เมื่อมีการตีบตันของทางเดินหายใจส่วนล่างหรือหลอดลม ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง หายใจเข้าออกลำบาก มีอาการหอบเหนื่อย ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากและจะเริ่มมีอาการขณะที่ออกแรง
เมื่ออาการของโรคเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการมากแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในปอดจากการสูบบุหรี่จะเกิดขึ้นอย่างถาวร คือ ปอดเสื่อมสภาพไปแล้ว แม้ผู้ป่วยจะหยุดสูบบุหรี่ก็ตามร่างกายจะไม่สามารถสร้างเนื้อเยื่อปอดขึ้นมาใหม่ได้ แต่การหยุดสูบบุหรี่ก็ยังคงมีความสำคัญมาก คือ ทำให้สมรรถภาพปอดที่เหลืออยู่มีการเสื่อมช้าลง
โรคถุงลมโป่งพองเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลก จากการประเมินขององค์การอนามัยโรค พบว่า โรค COPD จะกลายเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับที่ 4 ในปี 2020 สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องประมาณ 10 ล้านคน ในประชากรกลุ่มนี้มากกว่า 50% จะเกิดโรค COPD ในอนาคต
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรค COPD จะยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญต่อไป เนื่องจากโรคนี้ผู้ป่วยมักมีประวัติการสูบบุหรี่มานาน จึงมักเป็นผู้ป่วยที่มีอายุมาก และมีปัญหาโรคเรื้อรังของระบบอื่นร่วมด้วย
อาการของโรค คือ เหนื่อยง่าย เหนื่อยเวลาออกแรง หายใจไม่ทัน ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก อาการเหล่านี้จะค่อยๆ เป็นมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังไม่เลิกบุหรี่ กระทั่งถึงจุดหนึ่งผู้ป่วยจะเหนื่อยมากจนทำกิจวัตรประจำวันไม่ไหว
จากการสังเกต พบว่า กิจกรรมหนึ่งที่ผู้ป่วยกลัวมากที่สุด คือ การขึ้นบันได เนื่องจากต้องใช้พลังงานมากทำให้หายใจไม่ทัน ผู้ป่วยส่วนมากต้องตั้งหลักก่อนก้าวขึ้นบันไดและต้องหยุดเป็นระยะ อาการเหนื่อยจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดแม้จะอยู่เฉยๆ ก็มีอาการเหนื่อยและอาจต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจทั้งวันทั้งคืน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการกำเริบเฉียบพลันได้ หากได้รับสิ่งกระตุ้นบางอย่าง เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ซึ่งกระตุ้นให้หลอดลมที่ตีบแคบอยู่แล้วมีการตีบมากขึ้น มีเสมหะมากขึ้นจนเกิดการอุดกั้นของหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากเฉียบพลัน หอบมาก และอาจหายใจไม่ไหว ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจเกิดภาวะหายใจวายหรือหายใจไม่ไหว ทำให้เสียชีวิตได้
โรคถุงลมโป่งพอง รักษาได้หรือไม่ ดังที่ได้กล่าวมา ก็คือ ปอดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร แต่อาจมีบางส่วนที่อาการดีขึ้นหลังการใช้ยาขยายหลอดลมชนิดสูด การรักษาโดยใช้ยาเพียงอย่างเดียวจึงได้ผลไม่ดี จำเป็นต้อรักษาด้วยวิธีการอื่นผสมผสาน คือ
- ลดหรือชะลอการเสื่อมสมรรถภาพปอด ซึ่งการเลิกสูบบุหรี่เป็นวิธีเดียวที่ทำให้ปอดเสื่อมช้าลงได้ ผู้สูบบุหรี่ทุกรายควรเลิกสูบ ไม่ว่าจะเป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันนี้ทางการแพทย์จัดว่า การสูบบุหรี่เป็นภาวะโรคเรื้อรังที่สามารถให้การรักษา คือ มีวิธีการที่ช่วยเหลือให้ผู้ที่สูบบุหรี่เลิกสูบได้
- ใช้ยาขยายหลอดลมชนิดสูดหรือรับประทานเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขี้น มีอาการหอบเหนื่อยน้อยลง เพิ่มคุณภาพชีวิตชองผู้ป่วยได้
- ฝึกออกกำลังกาย และฝึกการหายใจ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรงซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้กล้ามเนื้อได้ดีขึ้น อาการเหนื่อยลดลง และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังมักจะมีปัญหาเรื่องหายใจออกได้ช้า เนื่องจากทางเดินหายใจตีบตัน
ดังนั้น ต้องพยายามหายใจออกช้าๆ และให้นานที่สุด เพื่อให้ลมออกมาหมดก่อนจะหายใจครั้งต่อไป ถ้าหายใจเร็วเกินไปจะทำให้เวลาในการหายใจออกสั้น ลมหายใจออกไม่หมด เกิดภาวะลมค้างอยู่ในปอด อาการหายใจยิ่งลำบากและเหนื่อยมากขึ้น
- ผู้ป่วยควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละหนึ่งครั้ง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรงได้
- การรักษาโรคอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักเป็นผู้สูงอายุ จึงมักพบปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งโรคซึมเศร้า เป็นต้น
จะเห็นแล้วว่าโรคถุงลมโป่งพองสามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุ เช่น ควันบุหรี่ เป็นต้น ร่วมกับการรักษาโดยใช้ยาที่เหมาะสม ตลอดจนการออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัด และดูแลความผิดปกติอื่นๆ ผู้ป่วยก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข