posttoday

"นักเรียนโอลิมปิกไม่เคยหายไป แค่คุณไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพัฒนาชาติ"

10 สิงหาคม 2560

สังคมสงสัย "เด็กไทยชนะโอลิมปิกวิชาการแล้วหายไปไหน?" วันนี้มาหาคำตอบกับ "วริท วิจิตรวรศาสตร์" นักเรียนโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ สาขาดาราศาสตร์ ปี 2559

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี เรามักเห็นข่าวน่ายินดีและภูมิใจอยู่เสมอว่า เด็กจากประเทศไทยคว้ารางวัลบนเวทีโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ทว่าหลังเสร็จสิ้นช่วงพิธีเฉลิมฉลองสดุดีอย่างยิ่งใหญ่ เรื่องราวของเด็กเก่งเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกนำเสนอสู่สาธารณะอีกเลย ส่งผลให้ผู้คนตั้งคำถามขึ้นว่า “เด็กเก่งไทย หายไปไหน”

โพสต์ทูเดย์ได้พูดคุยกับ วริท วิจิตรวรศาสตร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ดีกรีเจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ สาขาดาราศาสตร์ ปี 2559

เขาจะมาบอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตนักเรียนรางวัลโอลิมปิกวิชาการว่า หลังได้รางวัลระดับโลกแล้วพวกเขาเป็นอย่างไร พร้อมกับไขความ (ไม่) ลับวิธีเรียนอย่างไรให้เก่ง

เส้นทางสู่นักเรียนโอลิมปิกวิชาการ

สถิติเหรียญรางวัลเวทีโอลิมปิกวิชาการตั้งแต่ไทยเริ่มส่งแข่งขันเมื่อปี 2532 ถึงปี 2554 มีมากกว่า 300 เหรียญ อาทิ ปี 32 ได้ 1 เหรียญทองแดง , ปี 33 ได้ 3 เหรียญทองแดง , ปี 35 ได้ 5 เหรียญทองแดง 3 เหรียญเงิน 1 เหรียญทอง , ปี 41 ได้ 4 เหรียญทองแดง 4 เหรียญเงิน 1 เหรียญทอง , ปี 47 ได้ 9 เหรียญทองแดง 6 เหรียญเงิน 2 เหรียญทอง , ปี 50 ได้ 4 เหรียญทองแดง 10 เหรียญเงิน 5 เหรียญทอง , ปี 54 ได้ 2 เหรียญทองแดง 7 เหรียญเงิน และ 10 เหรียญทอง

วริท เล่าว่านักเรียนโอลิมปิกวิชาการทุกคน ก็คือเด็กที่มาจากโรงเรียนทั่วประเทศ และมาสอบแข่งขันความถนัดเฉพาะทางรายวิชาซึ่งมีประมาณ 10 วิชา เช่น  ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ โลกและอวกาศ ภูมิศาสตร์ เพื่อให้ผ่าน และได้รับเลือกเข้าร่วมการอบรม-เก็บตัว เรียนรู้วิชาเฉพาะทางอย่างเข้มข้น ภายในศูนย์หรือที่เรียกติดปากว่า "ค่าย "ของมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาฯ หรือ สอวน. ก่อนทำการแข่งขันเวทีโอลิมปิกระดับชาติและเป็นตัวตัวแทนประเทศไปลงแข่งกับนานาชาติ เมื่อถึงตอนนั้นสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. จะเข้ามารับช่วงดูแลต่อก่อนไปแข่งเวทีระดับโลก

นักเรียนโอลิมปิกฯ บรรยายความรู้สึกการเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันเวทีระหว่างประเทศว่า ตอนได้ไปแข่งดาราศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศครั้งที่ 21 ที่ประเทศบัลแกเรีย ขณะนั้นรู้สึกกดดันและตื่นเต้นมาก แต่อีกมุมก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศ จึงคิดว่าต้องพยายามทำเต็มที่ และเปลี่ยนความกดดันเป็นแรงผลักดัน และเมื่อวันจริงมาถึง จำได้ว่ามีทีมเข้าร่วม 16 ประเทศ ถึงเวลาแข่งขันก็พยายามทำเต็มที่ สุดท้ายคว้าเหรียญเงินกลับมาให้ตัวเอง ครอบครัว และคนไทยได้ภูมิใจ

\"นักเรียนโอลิมปิกไม่เคยหายไป แค่คุณไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพัฒนาชาติ\" วริท (คนที่สองจากซ้าย) พร้อมทีมนักเรียนไทยที่เข้าแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 21

ชีวิตนักเรียนโอลิมปิก หลังพิธีสดุดีอันยิ่งใหญ่

 

วริท เปิดใจว่าชีวิตนักเรียนโอลิมปิกส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อได้รับรางวัลกลับมา ก็เตรียมตัวสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยตามระบบเหมือนนักเรียนทั่วไป แต่ตรงนี้ทาง สอวน. จะมีทุนให้แก่ผู้แทนประเทศเลือกว่าจะรับทุนเรียนต่อต่างประเทศหรือไม่ และนักเรียนส่วนหนึ่งหากไม่เลือกทุน สอวน. ก็อาจเลือกสอบชิงทุนตามความสนใจ เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง หรือ ทุนคิง ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

โดยแต่ละทุนจะมีสัญญาข้อผูกมัดไม่เหมือนกัน บางทุนต้องทำงานให้หน่วยงานที่กำหนดเพื่อชดใช้ทุน หรือบางทุนระบุเพียงให้ทำงานในประเทศเท่านั้น สุดท้ายอยู่ที่ผู้ขอรับทุนพิจารณาว่าจะเดินเส้นทางใด

แต่ขอยืนยันว่า นักเรียนโอลิมปิกวิชาการหรือแม้แต่นักเรียนทุนส่วนใหญ่ ไม่เคยห่างหายไปไหน ยังทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษา วิชาการ หน่วยงานของประเทศแล้วแต่สายงานที่เลือก ส่วนสาเหตุที่สังคมไม่ทราบชีวิตความเป็นอยู่ของคนเหล่านี้ เพราะสื่อไม่เคยนำเสนอให้สังคมรับทราบ เหมือนช่วงที่พวกเขาได้รับรางวัลมาใหม่ๆ จึงไม่มีใครทราบว่าบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้ ยังทำงานเบื้องหลังช่วยเหลือพัฒนาประเทศอยู่ 

“เมื่อไม่ได้ใส่สูท หรือ สวมเหรียญรางวัล พวกเขาก็คือวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความฝัน และเดินตามเส้นทางตัวเอง เขาไม่ได้หายไปไหน ยังคงช่วยพัฒนาประเทศอยู่ เพียงแต่สังคมอาจไม่เคยรับรู้”

\"นักเรียนโอลิมปิกไม่เคยหายไป แค่คุณไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพัฒนาชาติ\"

"มุ่งมั่น พยายาม ตั้งใจจริง" หัวใจความสำเร็จ 

 

นักเรียนโอลิมปิกวิชาการคนนี้ เปิดใจเส้นทางสู่ความสำเร็จทางการศึกษาว่า วางเป้าหมายตั้งแต่เรียนระดับชั้นประถมศึกษาว่าอยากเป็นนักเรียนโอลิมปิกวิชาการ จึงพยายามเรียนพิเศษทั้งในและนอกโรงเรียน รวมถึงศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง บางครั้งมีอุปสรรคบ้าง เพราะความเป็นวัยรุ่นก็อยากมีกิจกรรมเล่นสนุกกับเพื่อน ทั้งการเตะฟุตบอลหรือเล่นเกม

ดังนั้นจึงต้องพยายามแบ่งเวลาให้ดี โดยพยายามทำการบ้านให้เสร็จตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน หลังจากนั้นจึงไปเล่นกับเพื่อน พอกลับถึงบ้านจะทบทวนความรู้ นั่งทดลองทำโจทย์ข้อสอบเก่าๆ เพื่อฝึกฝนความรู้อยู่เสมอ แต่ถึงอย่างไรก็จะหาเวลาพักผ่อนเพื่อไม่ให้เครียดจนเกินไป

การก้าวมาเป็นนักเรียนโอลิมปิกวิชาการ คิดว่าทุกคนสามารถเป็นได้เพราะมีโอกาสเท่ากัน ไม่ว่าอยู่กรุงเทพหรือต่างจังหวัด แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าทุ่มเท มุ่งมั่น พยายามกับมันมากน้อยเพียงแค่ไหน เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ ยอมรับว่าต้องใช้ความพยายามมากพอสมควร

“ผมคิดว่าเส้นทางการเป็นนักเรียนโอลิมปิก ทุกคนเป็นได้ เพราะเราวิ่งอยู่บนเส้นทางสายเดียวกัน แต่บางครั้งคนมักคิดว่าอยู่กรุงเทพ มีทรัพยากรพื้นฐานดีกว่าต่างจังหวัด ก็น่าจะถึงเส้นชัยก่อนเสมอ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเมื่อถึงเวลาแข่งจริง ถ้าเราเดินไม่ยอมวิ่ง มันมีโอกาสถูกคนที่เริ่มภายหลัง แซงได้ สุดท้ายมันอยู่ที่ว่า คุณมุ่งมั่น พยายามแค่ไหน”

วริท บอกว่านักเรียนโอลิมปิกไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดเสมอไป ในโรงเรียนแม้ตนเป็นนักเรียนโอลิมปิก แต่บางเทอมเกรดเฉลี่ยน้อยกว่าเพื่อนนักเรียน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ทุ่มเทให้การแข่งขัน บางวันต้องขาดเรียนเพื่อไปเข้าค่ายอบรม และต้องกลับมาทบทวนบทเรียนต่อ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องบริหารเวลาให้ดี 

“อุปสรรคบนเส้นทางความสำเร็จ คือ ความเป็นวัยรุ่น บางครั้งเพื่อนชวนเที่ยว เตะบอล แต่เราต้องนั่งเรียน บางครั้งเหนื่อย น้อยใจบ้าง แต่คิดว่ามันต้องทำ เราเลือกแล้ว สุดท้ายอยู่ที่ตัวเรา จะกำจัดอุปสรรคเหล่านั้นทิ้งไป หรือทำให้เหลือน้อยได้อย่างไร เพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จ”

นักเรียนโอลิมปิกวิชาการรายนี้ ทิ้งท้ายว่าหลักการของความสำเร็จ คือ มุ่งมั่น พยายาม ตั้งใจจริง หากคิดอยากประสบความสำเร็จ ต้องพยายาม แม้บางครั้งอาจผิดหวัง ท้อแท้ แต่ต้องพยายามต่อไปและมองไปข้างหน้า เราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

\"นักเรียนโอลิมปิกไม่เคยหายไป แค่คุณไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพัฒนาชาติ\"

\"นักเรียนโอลิมปิกไม่เคยหายไป แค่คุณไม่รู้ว่าพวกเขากำลังพัฒนาชาติ\"