แห่พระศรีศากยมุนี

13 สิงหาคม 2560

หลายท่านไปสวดมนต์ หรือชมความยิ่งใหญ่พระวิหารสุทัศน์มาแล้ว เชื่อว่าบางท่านคงมีความคิดที่ค้างคาใจมาบ้าง อย่างน้อยก็สนเท่ห์ว่า หลวงพ่อพระศรีศากยมุนี

โดย...ส.สต

หลายท่านไปสวดมนต์ หรือชมความยิ่งใหญ่พระวิหารสุทัศน์มาแล้ว เชื่อว่าบางท่านคงมีความคิดที่ค้างคาใจมาบ้าง อย่างน้อยก็สนเท่ห์ว่า หลวงพ่อพระศรีศากยมุนี ใหญ่โตมโหฬาร ในพระวิหารหลวงนั้น มีความเป็นมาอย่างไร ผมก็เคยคิดและได้คำตอบจากหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อชุดประวัติศาสตร์เชิงนวนิยาย ภาพประวัติศาสตร์ (กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) เขียนโดยอาจารย์เปลื้อง ณ นคร และเหม เวชกร เขียนภาพประกอบ จัดพิมพ์โดยบริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช เมื่อปี 2542 จึงขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้

อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ท่านเขียนเล่าว่า เมื่อสร้างกรุงเทพพระมหานคร ถือว่าที่ตรงบริเวณเสาชิงช้านั้นเป็นใจกลางพระนคร จึงได้ตั้งเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์มีเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้น ตามประเพณีพระนครโบราณ ต่อมาทรงพระราชดำริจะสร้างพระอารามมีพระวิหารใหญ่ อย่างวิหารวัดพนัญเชิง กรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้กลางพระนคร จึงกะสร้างพระอารามขึ้น ณ ที่ติดกับเสาชิงช้านั้น และจะพระราชทานนามว่า “มหาสุทธาวาส” แต่ภายหลังได้เปลี่ยนใหม่เป็น “สุทัศน์” ได้เริ่มก่อรากพระอุโบสถเมื่อปี 2350 และโปรดให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี ลงมาจากเมืองสุโขทัย เพื่อจะให้เป็นพระประธาน ณ พระวิหารใหญ่นั้น

พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 3 วาคืบ เป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หล่อแต่ครั้งกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัย เป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย เมื่อสิ้นวงศ์พระร่วง สุโขทัยไม่ได้เป็นราชธานี และพระวิหารหลวงนั้นชำรุดหักพัง พระศรีศากยมุนีต้องตากแดดตากฝนก็ชำรุดลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดให้อัญเชิญลงมาดังกล่าวข้างต้น ใส่แพล่องลงมาจนถึงหน้าพระตำหนักแพให้ทอดทุ่นกลางน้ำ มีมหรสพสมโภช 3 วัน จากนั้นชักพระขึ้นจากแพ แต่พระใหญ่จะเข้าทางประตูท่าช้างไม่ได้ คือแต่ก่อนตรงท่าช้างเป็นกำแพงมีประตูเมือง จึงต้องรื้อประตูและกำแพง แล้วจึงก่อกำแพงทำประตูเมืองใหม่ ที่ตรงนั้นจึงได้เรียกว่า “ท่าพระ” ประตูก็เรียก “ประตูท่าพระ” ชักเลื่อนพระมาตามถนนเสาชิงช้า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ ไม่ทรงฉลองพระบาท จนถึงโรงซึ่งสร้างขึ้นชั่วคราวที่ข้างโบสถ์พราหมณ์ เชิญพระประดิษฐานพักไว้ ณ ที่นั้น

ในรัชกาลที่ 1 ยังไม่ทันได้สร้างพระวิหาร พระวิหารสร้างต่อถึงรัชกาลที่ 2 ปรากฏตามจดหมายเหตุความทรงจำฯ ว่า “แล้วทรงพระราชดำริให้ช่างเขียนเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ ยกเข้าไปทรงพระศรัทธาลงลายพระหัตถ์ สลักภาพกับกรมหมื่นจิตรภักดิ์” คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงสลักลายบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์ ด้วยฝีมือพระหัตถ์อย่างวิจิตรงดงาม

 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ มีพระราชประสงค์อยากจะให้สลักบานอย่างพระวิหารพระศรีศากยมุนี โปรดกรมขุนราชสีห์ และช่างสลักมี พระยาจินดารังสรรค์ เป็นต้น ไปคิดอ่านสลักให้เหมือนเช่นนั้นไม่สำเร็จ ต้องสลักเป็นสองชั้นซ้อนกันลงเพราะถากไม่เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงถากรูปหุ่นดีนัก จึงได้ถากลายบานนี้เพราะเป็นการเหลือวิสัยที่ช่างเขียนหรือช่างสลักจะทำ”

ลายสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศน์ เป็นศิลปกรรมชิ้นวิเศษสุดในประเทศไทยอยู่จนทุกวันนี้

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดให้กรมหมื่นดำรงหริรักษ์ หล่อพระปฏิมา หน้าตักกว้าง 10 ศอก 8 นิ้ว เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ ถวายพระนามว่า “พระพุทธตรีโลกเชฏฐ”

Thailand Web Stat