posttoday

ทำในสิ่งที่รัก หรือรักในสิ่งที่ทำ

27 สิงหาคม 2560

ความรู้สึกเหล่านี้เสมือนเป็นสัญญาณเตือนให้คุณกลับมาทบทวนตนเองว่าคุณกำลังดำเนินชีวิตอย่างไร

โดย...เมย์ลภัส บุญสิทธิ์วิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการโค้ช สลิงชอท กรุ๊ป

“วันจันทร์มาถึงแล้ว...”

คุณรู้สึกอย่างไรกันบ้างในเช้าต้นสัปดาห์

ก.หดหู่ เซ็ง เบื่อ รอวันศุกร์

ข.เฉยๆ ทำงานตามหน้าที่

ค.เบิกบาน ทำงานด้วยความกระตือรือร้น

ความรู้สึกเหล่านี้เสมือนเป็นสัญญาณเตือนให้คุณกลับมาทบทวนตนเองว่าคุณกำลังดำเนินชีวิตอย่างไร

Shawn Achor อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำงานวิจัยความสัมพันธ์ของความสำเร็จและความสุข เขาได้สังเกตว่านักศึกษาฮาร์วาร์ดเมื่อสอบเข้าได้แล้ว นักศึกษาเกือบ 90% เริ่มเกิดความเหนื่อยล้า ท้อแท้ จากความกดดันรอบด้าน

เช่น ภาระงานที่มากติดต่อกัน การต้องประคองตัวเองให้สอบให้ได้คะแนนดีเพียงพอที่จะจบได้ หรือ ผลักดันให้ตนเองทำคะแนนได้ดียิ่งขึ้นเพื่อเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำในอนาคต

ในงานวิจัยนี้แทนที่เขาจะมุ่งความสนใจศึกษาปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาไม่มีความสุขกับการเรียน เขาวิจัยเจาะลึกเฉพาะนักศึกษาที่สอบได้คะแนนสูงเป็นอันดับต้นๆ และยังคงมีความสุขในการเรียน จนพบว่า นิยาม “ความสำเร็จจะนำไปสู่ความสุข” อาจทำให้คนหลงลืมไปว่า ในทางกลับกัน “ความสำเร็จเกิดจากความสุขใจที่จะทำ”

กระแส “ทำในสิ่งที่รัก” ทำให้คนพยายามไขว่คว้าหาสิ่งที่รักเพื่อตอบสมการแห่งความสุขความสำเร็จตามนิยาม

แต่บางครั้งการมองหาสิ่งที่รักนั้นก็อาจทำให้ยิ่งห่างไกลจากความสุขตรงหน้าที่สามารถมีได้ง่ายดาย

ความสุขในการทำงานนั้นอาจไม่ใช่การได้อะไรดั่งใจตน แต่คือความยินดีต้อนรับกับอุปสรรคระหว่างทางสู่ความสำเร็จ

เมื่อต้นสัปดาห์มาเยือนอาจเป็นต้นทางในการฝึกให้ตนเองกลับมาตระหนักรู้ถึงต้นตอของความสุขในการทำงาน โดยการตั้งคำถามกับตนเองว่า “อะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้คุณยังคงทำในสิ่งที่ทำอยู่”

การให้ความหมายกับสิ่งที่ทำนั้นทำให้สามารถเห็นคุณค่าของงานตรงหน้า และนำคุณค่านั้นกลับมาเป็นพลังในการทำงานต่อไป

Shawn Achor ได้แนะนำวิธีการเรียกความสุขในการทำงานไว้ดังนี้

1.เขียนขอบคุณเหตุการณ์ต่างๆ 3 อย่าง

2.ส่งข้อความแสดงถึงความรู้สึกดีๆ ให้คนที่รู้จัก

3.ทำสมาธิ 2 นาที

4.ออกกำลังกาย 10 นาที

5.เขียนบันทึกบรรยายประสบการณ์ที่มีความหมายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา

แบบฝึกหัดเหล่านี้เป็นการเรียกพลังบวกในการทำงาน

งานวิจัยพบว่าเพียงทำกิจกรรมอย่างน้อยหนึ่งอย่าง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ก็มีผลทำให้สามารถกลับมาเห็นคุณค่าในปัจจุบัน และเกิดความสุขในการทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญ

สังเกตว่าแบบฝึกหัดข้างต้นเป็นการฝึกให้ได้กลับมาทบทวนตนเองและเชื่อมโยงกับคนอื่น ซึ่งเป็น “ต้นทางแห่งความสุข” โดยไม่ต้องรอให้ถึง “ปลายทางแห่งความสำเร็จ”

ให้ต้นสัปดาห์เป็นต้นทางแห่งความสุขความสำเร็จตรงหน้า ไม่ว่าจะได้ทำในสิ่งที่รัก หรือรักในสิ่งที่ทำ