posttoday

ปลดล็อกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

27 สิงหาคม 2560

ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายควรนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร การแพทย์แผนไทย

โดย...มานิตย์ สนับบุญ

...ครานั้นขุนแผนแสนศักดา ดูท้องฟ้าแสงจำรัส

รัศมี สบยามตามตำราว่าฤกษ์ดี สั่งให้ตีฆ้องชัยไว้เดโช ยกจากวัดใหม่ชัยชุมพล พวกพหลพร้อมพรั่งตั้งโห่ พระสงฆ์สวดชยันโต ออกทุ่งโพธิ์สามต้นขับพลมา โห่ร้องฆ้องลั่นมาหึ่งหึ่ง นายจันสามพันตึงเป็นกองหน้า กองหลังศรีอาจราชอาญา พวกทหารสามพันห้าต่างคลาไคล บ้างคอนกระสอบหอบกัญชา ตุ้งก่าใส่ย่ามตามเหงื่อไหล บ้างเหล้าใส่กระบอกหอกคอนไป ล้าเมื่อไรใส่อึกไม่อื้ออึง บ้างห่อใบกระท่อมตะพายแล่ง  เงี่ยนยาหน้าแห้งตะแคงขึง ถุนกระท่อมในห่อพอตึงตึง ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกันฯ ...

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามอาสา ที่  ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าคนไทยรู้จักใช้ใบกระท่อมเป็นสมุนไพรบำรุงกำลังมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น

“คิดว่าถึงเวลาที่ทุกฝ่ายควรนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร การแพทย์แผนไทย ในทางพื้นบ้านกระท่อมใช้เป็นยาแก้ปวด บำรุงกำลัง ยาลดเบาหวาน ทำให้ง่วงก็ได้ ตื่นก็ได้ เรื่องยาบำรุงกำลังชายก็ได้ เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นวัฒนธรรม” ภญ.สุภาภรณ์ บอกถึงแนวคิดการยกเลิกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด

ภญ.สุภาภรณ์ บอกว่า กระท่อมเป็นที่พึ่งสุขภาพก่อนยุคยาแผนปัจจุบัน เป็นสมุนไพรที่มีระบุไว้ในตำรับยาหลายขนานที่ใช้แก้ปัญหาสาธารณสุขในยุคก่อนปี 2500 ได้แก่ โรคบิด ท้องเสีย แก้ปวดบวม ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ระงับประสาท แก้เบาหวาน แก้ผอมเหลือง และใช้ภายนอกในการรักษาเริมงูสวัด ห้ามเลือด เป็นต้น

ปลดล็อกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

“ตำรับยาไทย กล่าวว่า ใบกระท่อมมีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย ไม่ชวนรับประทาน แต่ถ้ารับประทานเพียงเป็นยาอย่าให้ถึงกับติด ก็จะมีคุณเป็นอันมาก แต่หากกินเป็นประจำทุกวันก็มีโอกาสติดได้ง่าย ถ้าไม่ได้กินแล้วจะไม่มีแรงทำงาน จะเกิดอาการปวดเมื่อยตามกระดูก ตามข้อ ส่วนอาการอื่นๆ ก็มีบ้างเล็กน้อย เช่น หงุดหงิด กระวนกระวาย ง่วงนอน หาวทั้งวัน เป็นต้น แต่ชาวบ้านที่เคยใช้กระท่อมเล่าว่าเลิกกระท่อมง่ายกว่าเลิกกินหมากและเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ยิ่งยากกว่าเลิกกระท่อมหลายเท่าตัว  การที่กระท่อมทำให้ติดได้ มีโทษได้หากใช้ในทางที่ผิดนี่เอง  ทำให้มีกฎหมายควบคุมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 มีการตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อมห้ามปลูกและครอบครอง รวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม ต่อมาพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จัดกระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา”

เมื่อกระท่อมถูกจัดให้เป็นยาเสพติดตั้งแต่เมื่อ 70 กว่าปีก่อน ความรู้ของชาวบ้านที่เคยกินเคยใช้กระท่อมก็เริ่มเลือนรางหายไป ที่ยังแอบใช้อยู่ก็มีส่วนน้อย ยกเว้นในภาคใต้ที่ยังมีการใช้กันอยู่ 

 

ปลดล็อกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

หมอยาและชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เล่าว่าสมัยก่อนกระท่อมเป็นต้นไม้ที่ปลูกไว้แทบทุกบ้าน เพราะมากด้วยคุณประโยชน์ หยิบนำมาใช้ได้สะดวกยามจำเป็น ส่วนใหญ่จะนิยมนำมาเคี้ยวกินสดๆ และถูกนำมาจัดเรียงใส่ในสำรับหมากของแต่ละบ้านอีกด้วย บ้างก็พกติดตัวไว้เคี้ยวกินยามเหนื่อยล้าอ่อนแรงจากการทำงานใช้กำลัง หรือออกแรงหนักๆ บ้างก็นำมารับประทานเมื่อร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะเชื่อว่าสามารถลดอาการเจ็บปวดจากโรคที่เป็นอยู่ได้ บ้างก็นำใบอ่อนมาเคี้ยวกินเล่นยามว่าง หรือเป็นผักกินกับข้าวช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย และบำรุงสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้กระท่อมเป็นยาสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวและมีกำลังกลับคืนมา โดยนำใบมาต้มกับน้ำให้เดือดแล้วนำมาดื่ม ดังนั้นการใช้ใบกระท่อมของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ

“ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายควรนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางสมุนไพร การแพทย์แผนไทย มียาหลายอย่างที่เราต้องนำเข้า กระท่อมจะมีบทบาทที่จะนำมาใช้เป็นยา จึงควรพัฒนากฎหมายยกมาเป็นสมุนไพรควบคุมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 จะทำให้มีการแจ้งว่าใครจะขออนุญาตปลูก ครอบครองไม่เกินเท่าไร  เพื่อจะให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ผ่านการแพทย์แผนไทย ผ่านโรงพยาบาลของรัฐ เพราะปัจจุบันอังกฤษและญี่ปุ่นมีการพัฒนาสารออกฤทธิ์จากกระท่อม อาจมีการต่อโครงสร้างนิดหน่อย จดสิทธิบัตรเป็นยาแก้ปวด”

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า สังคมไทยควรช่วยกันหาทางออก ในอนาคตอาจใช้แทนกาแฟก็ได้ หรือเครื่องดื่มน้ำดำที่นิยมกันทั่วโลกก็มีส่วนผสมของใบโคคา เพราะฉะนั้นในอนาคตอาจมีเครื่องดื่มกระท่อมเป็นยา เป็นเครื่องดื่ม ที่เราขาดโอกาสพัฒนา

ปลดล็อกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์