เผยวาระ ครม. 26 ก.ย. 2560
นายกฯเป็นประธานการประชุม ครม.พิจารณาหลายวาระสำคัญ
นายกฯเป็นประธานการประชุม ครม.พิจารณาหลายวาระสำคัญ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหลายวาระสำคัญต้องติดตาม โดยครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขอและการยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ พร้อมขอความเห็นชอบในหลักการแนวทางการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2561 พร้อมกับขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 23 แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย- ไทย (IMT-GT)
ส่วนกระทรวงการคลังเสนอการโอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF1และ FIDF3 และขอขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปีพ.ศ 2557 ที่กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณรายจ่ายอื่นรายการเพิ่มทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ส่วนของสำนักงานก.พ. เสนอเรื่องการพิจารณาทบทวนความจำเป็นเหมาะสมของการกำหนดอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งเภสัชกรจำนวน 316 อัตราให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเสนอการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ขณะที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแผนการยกระดับการบริหารภาครัฐระยะที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการพ. ศ. 2558
สํานักงานปปง. เสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ. ศ. 2560-2564 พร้อมกับเสนอเรื่องขอยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการนำเงินนอกงบประมาณไปใช้ในการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงาน
สำนักงานศาลปกครองเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาความปกครอง (ฉบับที่...) พ.ศ.... สํานักงานศาลยุติธรรมขออนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดพังงาขนาด 14 บัลลังก์ 1 หลังพร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ
สำหรับวาระด้านการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ เสนอการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่1 และกระทรวงการต่างประเทศเสนอการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี