posttoday

คืนคนดีสู่สังคมไม่ได้ผล! คุกกลายเป็นแหล่งเพาะอาชญากร

02 ตุลาคม 2560

อธิบดีราชทัณฑ์คนใหม่ชี้นโยบายคืนคนดีสู่สังคมไม่ได้ผล เรือนจำกลายเป็นแหล่งเพาะอาชญากร คนทำผิดซ้ำอื้อ! พร้อมเร่งแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

อธิบดีราชทัณฑ์คนใหม่ชี้นโยบายคืนคนดีสู่สังคมไม่ได้ผล เรือนจำกลายเป็นแหล่งเพาะอาชญากร คนทำผิดซ้ำอื้อ! พร้อมเร่งแก้ปัญหานักโทษล้นคุก

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. พ.ต.อ ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เรียกประชุมผู้บริหารและมอบนโยบายให้ผบ.เรือนจำทั่วประเทศ หลังเข้ารับตำแหน่งเป็นวันแรกโดยกล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะรับตำแหน่งได้เข้าหารือกับผู้ใหญ่ในกรมราชทัณฑ์ขอคำแนะนำ เพราะงานเราไม่มีวันหยุด และเป็นงานที่ท้าทายมาก สังคมจึงเคลือบแคลงสงสัยการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเรือนจำบางแห่งมีอายุมากกว่า 100 ปี โครงสร้างอาคารต่างจากมาตรฐานสากล

อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่พ้นโทษและกลับไปกระทำความผิดซ้ำเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์มีนโยบายคืนคนดีสู่สังคม แต่จากสถานการณ์กลับกลายเป็นว่าคืนคนเดิมสู่สังคม ดังนั้น การกระทำผิดซ้ำเป็นปัญหาหลักและปัญหาสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังให้สมดุลกับการดูแลความปลอดภัยให้สังคม ไม่ควรเน้นผลักดันผู้ต้องโทษกลับคืนสู่สังคมเพียงอย่างเดียว ต้องให้สำนึกผิดได้รับโทษและเกรงกลัวต่อบาปด้วย

"กระบวนการทางอาญาของไทยเป็นการบังคับโทษ ซึ่งมีโทษจำคุกมากเกินไป ทำให้มีผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ทำให้ผลของการปรับพฤตินิสัยของผู้ต้องขังไม่ค่อยได้ผล เมื่อแก้ไขฟื้นฟูเยียวยาไม่ได้ผล ทำให้สภาพภายในเรือนจำมีลักษณะเป็นเหมือนเรือนเพาะชำอาชญากร ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใดผู้ต้องขังหลายรายที่มีโทษถึงประหารชีวิต แต่กลับถูกคุมขังจริงเพียง 10 ปี เรื่องดังกล่าวจึงเป็นโจทย์ที่ต้องคิดแก้ไข  ปัจจุบันเจ้าหน้าที่เรือนจำทั่วประเทศเพียง 10,000 คน สามารถดูแลผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคน ซึ่งจากสถิติพบว่ามีผู้ต้องขังพยายามหลบหนีหลัก 10 คนเท่านั้น แต่ยังไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้หรือไม่ เพราะอาจมีบางกรณีที่ผู้ต้องขังหลบหนีและสามารถจับกุมได้ ทำให้ไม่มีการรายงานเข้ามาที่กรมราชทัณฑ์ จึงขอให้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์บริหารตามความเป็นจริง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด "พ.ต.อ ณรัชต์ กล่าว

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่า ปัญหาสำคัญของงานราชทัณฑ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือเรื่องผู้ต้องขังล้นคุก เนื่องจากมีผู้ทำผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญาถึงขั้นจำคุกจำนวนมาก ทำให้การแก้ไขฟื้นฟูด้อยประสิทธิภาพ และยังไม่เห็นผลอย่างชัดเจนเท่าที่ควร นอกจากนี้เรือนจำส่วนใหญ่มีสภาพเก่าและทรุดโทรมเนื่องจากมีอายุการใช้งานมานานมีลักษณะเป็นโรงเรือนทำให้ต้องควบคุมผู้ต้องขังแบบรวม ประกอบกับจำนวนผู้ต้องขังที่มีมากทำให้อัตราส่วนของเจ้าหน้าที่ต่อการควบคุมผู้ต้องขังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงทำให้ดูแลผู้ต้องขังไม่ทั่วถึง ดังนั้นเมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษออกมาส่วนหนึ่งจึงย้อนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

"กรมราชทัณฑ์จะยึดตามแนวทางตามนโยบาย 5 ก้าวย่างของพล.อ ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เคยให้ไว้ คือ ห้ามลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามต่างๆเช่น มียาเสพติด โทรศัพท์มือถือ เข้าไปในเรือนจำ นอกจากนี้จะต้องจัดระเบียบเรือนจำทั่วประเทศให้มีความสะอาด รวมทั้งฝึกวินัย และสมาธิให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อให้สังคมยอมรับเมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษไปแล้ว อย่างไรก็ตามภารกิจของกรมฯจะเป็นไปตามขั้นตอนโดยยึดหลักของกฎหมายเป็นกรอบปฎิบัติ คือ กักขัง แก้ไข ยึดหลักกฎหมาย วางกรอบแนวทางแก้ไขปัญหา กลั่นกรองจำแนกจัดชั้นผู้ต้องขัง พักและลดโทษให้กำลังใจ และให้กลับตัวเพื่อคืนคนดีกลับสู่สังคมต่อไป"พ.ต.อ ณรัชต์ กล่าว