"คุก"ไม่ใช่มีไว้เพื่อ"ขังคนจน" ปรับระบบประกันพิสูจน์บริสุทธิ์
กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงขณะนี้ เมื่อเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนและคณะทำงานรณรงค์ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” อีกต่อไป
โดย...เอกชัย จั่นทอง
ประเด็นการขอให้เปลี่ยนระบบเงินประกัน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” อีกต่อไป ของเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนและคณะทำงาน ผ่านการรณรงค์ change.org ถือว่ากำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนี้ เพราะมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายเพื่อให้คนจนไม่ต้องติดคุก และหวังให้ทุกคนได้ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้รณรงค์สนับสนุนให้เปลี่ยนระบบเงินประกัน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” อีกต่อไป อธิบายที่มาแคมเปญนี้ว่าหลังพบตัวเลขผู้ต้องขังอยู่ระหว่างรอพิจารณาคดีกว่า 6-8 หมื่นคน จนทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ซึ่งตามกฎหมายแล้วบุคคลเหล่านั้นย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะต้องรอจนกว่าศาลจะพิจารณาพิพากษาสิ้นสุด ดังนั้นถ้ายังบริสุทธิ์ก็ไม่ควรไปคุมขังไว้ ดังนั้นเรื่องการประกันตัวต้องเป็นเรื่องหลัก การไม่ประกันต้องเป็นเรื่องยกเว้น
ปัญหาแนวทางปฏิบัติการประกันตัวที่ให้ใช้หลักทรัพย์เป็นวงเงินประกัน เช่น ต้องโทษประหารชีวิต หลักทรัพย์คือ 8 แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต 6 แสนบาท ถามว่าแล้วสักกี่คนมีเงินจำนวนดังกล่าว จึงกลายเป็นปัญหาว่าการจะได้ประกันตัวหรือไม่ คือคุณมีเงินหรือเปล่า? ทำให้บานปลายไปสู่เรื่องความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นคนจนไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนคนมีเงินก็ออกมาสู้คดีข้างนอกได้
“การใช้เงินกำหนดหลักการประกันจึงมีปัญหาเกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 110 เขียนชัดเจนว่า ในคดีอาญาในการปล่อยตัวชั่วคราวศาลจะกำหนดหลักประกันหรือไม่ก็ได้ หมายความว่า ในกฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้เขียนว่าต้องใช้เงินกำหนดหลักประกัน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจศาล แต่เข้าใจว่าที่ศาลใช้เงินเป็นตัวประกันมีความชัดเจนง่ายที่สุด”
ปริญญา ให้ภาพการรณรงค์ต่อว่า การใช้เงินค้ำในหลักการประกันตัวจึงทำให้มีปัญหา และทำให้เกิดอาชีพ “นายหน้าค้าประกัน” ปล่อยเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้คนยากจนเพื่อนำมาประกันตัวก็กลายเป็นปัญหาไปอีก เพราะไม่มีใครอยากติดคุกต้องจำใจกู้หนี้ยืมสิน
ทั้งหมดคือจุดเริ่มต้นทำให้มีการรณรงค์ขึ้นมาเพื่อเชิญประชาชนให้ร่วมลงชื่อ หวังให้เกิดความตระหนักต่อสาธารณะว่า “มันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของทุกคน” ที่ถูกกล่าวหาในชั้นพนักงานสอบสวน หรือจำเลยในชั้นศาล เพราะตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาคดีจนสิ้นสุด ก็มีสิทธิในการต่อสู้คดี ถ้าศาลสั่งจำคุกแล้วจึงต้องติดคุก ดังนั้นควรอยู่นอกคุก ถ้าประชาชนออกมาช่วยกันรณรงค์จะเกิดประโยชน์และทำให้สังคมเกิดความตระหนักในเรื่องนี้ขึ้นมา
“การประกันตัวมีวิธีหลายอย่างเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งก็ต้องดูว่าใช้วิธีแบบใดได้บ้าง เรื่องนี้ผู้พิพากษาหลายศาลได้นำร่องใช้วิธีการพิจารณาอื่นๆ ปล่อยตัวโดยไม่ใช้เงินประกันตัวในศาลหลายแห่งแล้ว”
รองอธิการบดี มธ. บอกด้วยว่าไม่ได้คาดหวังเรื่องการรณรงค์ว่าจะมีจำนวนเท่าใด เพียงแต่คิดว่าคงสะท้อนเรื่องความตื่นตัวและการตระหนักของประชาชนมากกว่า ยอมรับถ้าได้จำนวนผู้รณรงค์ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรวยหรือจนควรต้องเสมอภาคกัน เพราะคนรวยวางเงินประกันสูงแค่ไหนก็หลบหนีได้เช่นกัน
ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ร่วมรณรงค์แคมเปญนี้ เผยจุดประสงค์ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญรณรงค์เปลี่ยนระบบเงินประกัน “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” อีกต่อไป ว่าส่วนตัวเห็นด้วยและคิดว่าเป็นความพยายามที่มีการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือคนจนคนด้อยโอกาส ซึ่งมันตรงกับสิ่งที่ตัวเองและกระทรวงยุติธรรมอยากทำ เพราะมีสิทธิความเป็นพลเมืองไทย
เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ใช้ระยะเวลาทางคดีตั้งแต่เริ่มต้นจนจบคดีมันไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีศาลตั้งอยู่ในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ คดีจะเข้ามาที่จังหวัดหมด เช่น ศาลแขวงสั่งจำคุกโทษไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท คดีก็อยู่ที่จังหวัด ถามว่าคนจนที่หาเช้าไม่พอกินเพลต้องมาต่อสู้คดีตรงนี้มันก็เป็นประเด็นแล้ว
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมให้ความเห็นด้วยว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญบอกว่า ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาถือว่ายังไม่มีความผิด เพราะยังไม่มีคำพิพากษา ดังนั้นคนเหล่านี้มีสิทธิพบทนายความ ออกมารวบรวมพยานหลักฐานแสวงหาข้อเท็จจริงว่าตัวเองบริสุทธิ์
“ที่สำคัญถ้าถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจะหมดพลังและกลายเป็นภาระรัฐต้องดูแล โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ที่ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนรอพิจารณาคดี แต่ถ้าออกมาอยู่ข้างนอกได้จะเป็นพลังที่เลี้ยงดูครอบครัวทำงานได้ และไม่เป็นภาระรัฐ และหากพบว่าทำผิดก็เข้าเรือนจำไป”
ธวัชชัย ขยายความอีกว่าสมัยก่อนคนที่ป่วยในบ้านมีคนจน 1 คน ต้องขายไร่นาหรือขายตัวเพื่อนำเงินมารักษาญาติพี่น้องจนถึงขั้นล้มละลาย เช่นเดียวกับในกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีญาติพี่น้องตกเป็นจำเลย 1 คน ก็อาจถึงขั้นหมดไร่หมดนาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม และยังไม่รู้ว่าผลจะออกอย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “กองทุนยุติธรรม”ของกระทรวงยุติธรรม เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ยากจน
อย่างไรก็ตาม แคมเปญนี้มันเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น เพราะคนจนก็เสียภาษีผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงควรได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย