posttoday

5แง่มุมดีๆที่ "ตูน บอดี้สแลม" และก้าวคนละก้าวสร้างให้แก่สังคม

12 พฤศจิกายน 2560

กรมสุขภาพจิตเผยปรากฏการณ์ของ "ตูน บอดี้สแลม" และโครงการก้าวคนละก้าว สร้าง 5 แง่มุมดีๆให้กับสังคม

กรมสุขภาพจิตเผยปรากฏการณ์ของ "ตูน บอดี้สแลม" และโครงการก้าวคนละก้าว สร้าง 5 แง่มุมดีๆให้กับสังคม

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงปรากฏการณ์กระแสการให้กำลังใจ “ตูน บอดี้สแลม" และทีมนักวิ่ง ในโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เบตง – แม่สาย 2,191 กิโลเมตร ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเห็นมุมดีๆ ที่ช่วยสร้างความสุขให้กับชีวิตได้ ได้แก่

1. การรวมพลังทำความดีด้วยใจ รู้จักให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน  ที่นอกจากเงินบริจาคแล้ว ยังจะเห็นถึงน้ำใจของคนไทยด้วยกัน ตลอดจนการไม่ฉกฉวยผลประโยชน์จากโครงการ ซึ่งเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความสุขทางใจให้เกิดขึ้นได้

2. การมองตนเองว่ามีค่า เห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น ชื่นชม ให้กำลังใจกันและกัน จะช่วยให้มีกำลังใจและมีพลังในการใช้ชีวิตได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ชีวิตมีความสุข และยังช่วยลดความเครียดลงได้

3. การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความหวัง ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่ดีที่ชัดเจนจะเป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จ ขณะที่ ความหวังถือเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจคนเรา จะช่วยทำให้เกิดความมุมานะ ความเพียรพยายามให้เกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะต้องอยู่กับความยากลำบากเพียงใดก็ตาม

4. การสร้างกำลังใจจากคนใกล้ตัว เช่น คนรัก คนในครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง กลุ่มแฟนคลับ  เป็นต้น เหล่านี้ทำให้รู้สึกถึงความเป็นพวกพ้อง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยให้สามารถก้าวผ่านปัญหาต่างๆได้ ตลอดจนจะยิ่งทำให้มีความเข้มแข็ง และไม่ย่อท้อต่อการก้าวไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

5. การออกกำลังกาย ช่วยให้สมองหลั่งสารสร้างความสุข ทำให้อารมณ์แจ่มใสเบิกบาน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด จิตใจร่าเริงแจ่มใสมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ทำให้คนที่อยู่รอบข้างพลอยมีความสุขและมีกำลังใจที่ดีในการใช้ชีวิตต่อไป

ทั้งหมดนี้ หากเราทุกคนลองนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การทำความดี ดังพระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมทั้ง การเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น การชื่นชม ให้กำลังใจ มีเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับชีวิตและมีความหวัง รู้จักสร้างกำลังใจ ตลอดจนการออกกำลังกาย มีอารมณ์เบิกบานแจ่มใส ย่อมช่วยให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้านพญ.วิรัลพัชร กิตติธะระพันธุ์ รอง ผอ.สำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ปรากฏการณ์นี้ยังได้สะท้อนถึงบุคคลต้นแบบ หรือ ไอดอล (Idol) ที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ที่แสดงถึงความเสียสละทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์เพียงเท่านั้น เหล่านี้ช่วยสร้างการจดจำที่ดี เกิดเป็นภาพในใจให้กับเด็กและเยาวชน ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบหรือทำตามในสิ่งดีๆ ขึ้นได้ ดังเห็นได้จากการที่เด็กๆ นำเงินจากกระปุกออมสินมาร่วมบริจาค หรือแม้แต่ผู้ที่รู้สึกซึมเศร้า ก็สามารถลุกขึ้นมาสู้ต่อ เพราะเห็นคุณค่าของตัวเองในการทำความดีเพื่อผู้อื่น โดยมีแรงบันดาลใจจากการเห็นแบบอย่างการทำความดี พวกเขาเรียนรู้ว่าทุกคนทำความดีได้แม้ไม่มีสตางค์

"การมีต้นแบบที่ดีจึงมีความสำคัญกับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก เพราะวัยนี้เป็นวัยที่แสวงหาต้นแบบ ต้องการการยอมรับจากเพื่อนและสังคม บุคคลต้นแบบของพวกเขา จะเป็นคนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ ดารา หรือนักร้องที่ชื่นชอบ ถ้าบุคคลต้นแบบมีการสื่อสารในทางที่ดี สื่อสารเชิงบวก ประพฤติตัวในทางที่ดี ทำความดี เมื่อเด็กและเยาวชนเลือกรับแต่สิ่งที่ดี จากต้นแบบที่ดี ย่อมก่อให้เกิดบรรทัดฐานของสังคมที่ดีที่สามารถขยายวงกว้างออกไป เป็นสังคมที่มีแต่สิ่งดีๆ มีพฤติกรรมที่ดี มีน้ำใจ ช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งพวกเขาจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่จะช่วยสร้างสังคม สร้างชาติให้ดีขึ้นได้ ดังสำนวน คบเด็ก สร้างชาติ"พญ.วิรัลพัชรกล่าว