ขายหมูปิ้งยังไงให้รวย? ถอดประสบการณ์ "เฮียนพ หมูนุ่ม" เจ้าพ่อหมูปิ้งร้อยล้าน
ถอดรหัสความสำเร็จและความล้มเหลวในการขายหมูปิ้ง จากปากเจ้าของบริษัทหมูนุ่ม ซึ่งมียอดขายกว่าปีละร้อยล้านบาท
โดยวรรณโชค ไชยสะอาด
ภาพเนื้อหมูสดจำนวนมากกำลังถูกสับและหยิบเสียบใส่ไม้ชิ้นแล้วชิ้นเล่าด้วยความขยันขันแข็งของเหล่าแรงงาน ภายในบริษัทหมูนุ่ม จำกัด บนถนนติวานนท์ 59 จ.นนทบุรี แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของ เฮียนพ "ชวพจน์ ชูหิรัญ" เจ้าของบริษัท
ท่ามกลางความสงสัยเรื่องโอกาสประสบความสำเร็จในธุรกิจหมูปิ้ง วันนี้เฮียนพพร้อมแล้วที่จะฉายภาพปัจจัยความรุ่งโรจน์และโอกาสล้มเหลวให้ฟัง
หมูปิ้งขายยังไงก็รวย? "ไม่จริงครับ" เฮียนพตอบคำถามแรกพร้อมส่งเสียงหัวเราะ...
4 เหตุผลทำคนอยากขายหมูปิ้ง
เมื่อ 10 ปีก่อน “เฮียนพ” เป็นเพียงแค่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรายได้วันละไม่กี่ร้อย จนกระทั่งได้พบกับสูตรเด็ดเปลี่ยนชีวิตจาก “อั้ว อักษร” แม่ค้าหมูปิ้งหน้าสถานีตำรวจ อ.ปากเกร็ด ด้วยทำเล ความสามารถและอีกหลากหลายปัจจัย ส่งผลให้ปัจจุบันเขามีโรงงานผลิตและส่งออกหมูปิ้งเฉลี่ยวันละ 1 แสนไม้
เขาวิเคราะห์ว่ามี 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หมูปิ้งกลายเป็นสินค้าที่คนคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ เมื่ออยากค้าขาย
ความคุ้นเคย
“อาหารเช้าของคนไทยมีอยู่ 3-4 อย่างเท่านั้น ขนมครก น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ และหมูปิ้งมีอยู่แค่นี้แหละครับ ตอนหลังมีแซนวิชเพิ่มเข้ามา เพราะฉะนั้นคนไทยโดยเฉพาะคนเมืองจะคุ้นเคยกับหมูปิ้งมาก ตั้งแต่เป็นนักเรียนจนกระทั่งทำงาน”
ตัวเลขกำไรที่ชัดเจน
“คุณได้กำไรจากการขายหมูและข้าวเหนียวเป็นกำไรสองทาง มีการอธิบายชัดเจน ควบคุมต้นทุนได้ ราคาส่งไม้ละ 6 บาท ขาย 10 บาทได้ทันทีเลย 4 บาท ไม่มีการสูญเสียระหว่างทาง ถ้าทำก๋วยเตี๋ยวใส่เส้น ผัก ถั่วงอก คุณคำนวณต้นทุนไม่ได้เว้นแต่จะขายหมด ถามว่าก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งได้กำไรกี่บาท คนขายตอบไม่ได้หรอก แต่หมูปิ้งตอบได้
“ข้าวเหนียวปริมาณ 1 กิโลกรัม หลังจากนึ่งคุณจะได้ 1.5 กิโลกรัม ซื้อมา 30 บาท จะขายได้มากถึง 75 บาท เท่ากับกำไรกว่า 100 เปอร์เซนต์ คนเขาอยากขายและเห็นว่าน่าสนใจ เพราะรู้กำไรทันที”
ระยะเวลาการขาย
"ใช้เวลาไม่นาน เช่นขายในช่วงเช้า 3-4 ชั่วโมง ทำให้หลายคนมองเห็นว่าสามารถเป็นอาชีพเสริมได้"
กลุ่มผู้ซื้อหลากหลาย
“สินค้าอะไรก็ตามหากมีลูกค้าแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คุณจบเลย อย่างสุกี้บางคนกินไม่เป็น ซื้อไปฝากเพื่อนยังไม่กินเลยแต่หมูปิ้งถามหน่อยในเมืองไทยใครกินไม่เป็น นี่คือจุดขาย ลูกค้ามีทุกกลุ่มตั้งแต่คนจนยันคนรวย”
ช่วงเช้าขายดีกว่าช่วงเย็น
ตลาดและช่วงเวลาการทำมาหากินของหมูปิ้งนั้นมีหลักๆ 2 ช่วงคือเช้าและเย็น จากประสบการณ์ของเฮียนพ 90 เปอร์เซนต์ของคนที่ประสบความสำเร็จคือการขายในตลาดเช้า ด้วยโอกาสจากกลุ่มเด็กนักเรียน คนทำบุญตักบาตร ตลอดจนคนทำงานที่มักไม่มีเวลาในการรับประทานอาหาร
ด้านตลาดเย็น เขาบอกว่า ต้องขายในสถานที่ท่องเที่ยวถึงจะประสบความสำเร็จ เช่น พระราม 9 อาร์ซีเอ ประตูน้ำ สีลม ถนนข้าวสารหรือพัทยาใต้ เป็นต้น
“พวกแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน หัวค่ำขายไม่ดีหรอก แต่หลังจากเที่ยงคืนไปแล้วขายดีมาก เพราะคนเที่ยวออกมาไม่มีอะไรกิน ส่วนพวกตลาดเย็น ปัจจุบันคนไม่ค่อยอยากกินอะไรที่มันหนักๆ เลือกกินของเบาๆ ในมื้อเย็น”
ทั้งนี้ด้วยเทรนด์รักสุขภาพในปัจจุบันทำให้ยอดขายหมูปิ้งนั้นตกลง หลายคนเลือกที่จะปฏิเสธอาหารปิ้งย่างหรือเลือกทานน้อยลง
ปิ้งขายข้างทาง รวยยาก
จำนวนการผลิตเฉลี่ย 100,000 ไม้ หรือ 4,000-5,000 กิโลกรัมต่อวัน ถูกกระจายออกไปสู่ลูกค้า 4 กลุ่มได้แก่
- พ่อค้า-แม่ค้าทั่วไป
เจ้าพ่อหมูปิ้งบอกว่า โอกาสค้าขายจนร่ำรวยในระดับนักธุรกิจนั้นยากแต่อาจมีฐานะดีขึ้น เนื่องจากถูกจำกัดด้วยระยะเวลาในการผลิตและพื้นที่ในการขาย
“เก่งให้ตายยังไงก็ขายได้ไม่ถึง 2,000 ไม้ สมมุติคุณขายดีมาก คนรุมเลย ถามว่าระหว่างที่มีคนรุมคนต่อคิว ก็ต้องมีคนเดินออกเหมือนกัน เพราะขี้เกียจรอ และถามว่าอร่อยแล้ว คุณขายหน้าปากซอย คนอยู่สุราษฎร์ฯ นครฯ หาดใหญ่ เขารู้จัก แต่จะกินได้ไหม ไม่ได้เพราะเข้าไม่ถึง”
ขณะที่กำไรในขายนั้นขึ้นอยู่กับต้นทุนของวัตถุดิบตั้งแต่ ซอส ซีอิ๊ว น้ำตาล ผงปรุงรส นมสด รวมถึงถ่าน ซึ่งมีหลากหลายคุณภาพ นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับ
เทคนิคการจัดการเรื่องปริมาณ
สำหรับหมูปิ้งของเฮียนพแบ่งออกเป็น 4 ราคาได้แก่ หมูนักเรียนขายส่งไม้ละ 3.50 บาท ไปปิ้งขาย 5 บาท หมูเล็กไม้ละ 4.90 บาท ขาย 8 หรือ 10 บาท แล้วแต่สถานที่ หมูกลางไม้ละ 5.70 บาท และหมูใหญ่ 6.20 บาท ทั้งหมดสูตรเดียวกัน โดยส่วนใหญ่กว่า 50 เปอร์เซนต์ในตลาดนั้นเลือกขายในราคา 10 บาท
- ตัวแทนจำหน่าย
“ตัวแทนจำหน่าย” มีโอกาสและช่องทางกระจายสินค้ามากกว่าในกลุ่มแรก นอกจากนั้นยังได้เปรียบในเรื่องราคาที่รับมาต่ำและสามารถกำหนดราคาได้หลากหลายกว่า โดยเฮียนพมีรถห้องเย็นวิ่งไปส่งตัวแทนจำหน่ายที่จะนำสินค้าไปสต็อกไว้ตามแต่ละอำเภอ
“แม่ค้าปิ้งให้ตายทั้งวันไม่เกิน 2,000 ไม้ ขณะที่กลุ่มตัวแทนมีโอกาสขายได้เป็นหมื่นๆ” เฮียนพบอกถึงข้อดีก่อนเผยถึงข้อเสียทันทีว่า “แต่ไม่ประสบความสำเร็จทุกคนหรอก รวยก็มีเจ๊งก็มี จุดอ่อนคือตัวแทนหลายคนไม่เคยเห็นเงิน บริหารไม่ได้ หมุนไม่เป็น เอาไปซื้อรถ ซื้อของหมด สุดท้ายมาติดค่าหมูโรงงาน ไม่มีเงินเคลียร์ พูดง่ายๆ ลืมตัว พวกที่จะรวยคือรู้จักบริหาร มีวินัย เก็บข้อมูลลูกค้าและรับฟังปัญหาไปปรับปรุง”
- สร้างแบรนด์
ผลิตภัณฑ์ของเฮียนพเปิดโอกาสให้ผู้สนใจนำไปติดตราและโปรโมทเป็นสินค้าของตัวเองได้ ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าประเภทนี้จำนวนมาก เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย
“พวกนี้มีโอกาสรวยมาก ไม่เหนื่อยผลิตสินค้าแต่ต้องเพียรพยายาม เพราะสินค้าไม่ได้ขายด้วยตัวมันเอง เป็นแค่ 50 เปอร์เซนต์อีกครึ่งหนึ่ง ต้องมีความพยายาม ตั้งใจและมีวิธีทำตลาดที่สร้างสรรค์ให้ผู้บริโภคสนใจ”
- โมเดิร์นเทรด–ห้างสรรพสินค้า
ปัจจุบันกลุ่มโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้า กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเฮียนพ ซึ่งมีข้อดีเรื่องความแน่นอนในการชำระเงินและปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมาก
“ปริมาณการสั่งซื้อก้อนใหญ่เพราะเขามีเป็นร้อยสาขา จ่ายเงินตรงเวลา ทุกวันนี้คนต่างจังหวัดแห่ไปซื้อจากห้างและนำไปขายต่อสร้างอาชีพกันแล้ว เพราะราคาไม่แตกต่างกันมากแถมบางช่วงยังมีโปรโมชั่นด้วย”
ศึกษาให้ดี อยู่กับสภาพความเป็นจริง
เรื่องที่ผู้นำตลาดหมูปิ้งรายนี้แนะนำคือ เปิดโลกทัศน์ศึกษาตลาดให้รอบคอบ รอบด้านและอยู่กับความเป็นจริง
เฮียนพ บอกว่า การทำธุรกิจโดยเฉพาะค้าขายอาหาร อย่าไปโฟกัสแค่เรื่องมาตรฐาน ต้องให้ความสำคัญกับสภาพตลาดในความเป็นจริงด้วย ผู้บริโภคหลายคนไม่สนใจเรื่องมาตรฐาน แต่ซื้อเพราะชื่อเสียงของผู้ขาย ความรู้สึกและภาวะอารมณ์นั้นๆ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือต้องมีจรรยาบรรณและไม่หลอกลวงผู้บริโภค
“สินค้าบางอย่างไม่มีแผนการตลาดแต่ไปได้สวย ไม่มีอะไรเป็นทฤษฎีชัดเจน มันเหนือหลักการได้ มาตรฐานเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ตลาดก็เป็นส่วนหนึ่ง อยู่ที่ว่าเราจะไปขายที่ไหน เพื่อใคร ไม่อยากให้คนหลงเชื่อภาพที่เห็นไป เห็นแล้วต้องขายได้ ความสำเร็จนั้นเกิดจากหลายปัจจัย”
สองเกร็ดธุรกิจที่เฮียนพฝากไว้คือ 1.อายุของธุรกิจ คือความยาวนานของสินค้าหรือแบรนด์ ยิ่งยาวนานยิ่งได้เปรียบและเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ที่จะเข้าไปท้าทายสินค้าเดิม 2.ทำเล เป็นเรื่องของความหนาแน่นของผู้คนซึ่งนับเป็นความน่าจะเป็นในการจับจ่าย
“เห็นป้าขายหมูปิ้งหน้าโรงเรียน ขายดิบขายดี เราอยากขายบ้าง เอาของมีมาตรฐานไปขาย อย่าหวังเลย เพราะเขาขายมานาน 10-20 ปีแล้ว ความน่าเชื่อถือให้การยอมรับเป็นหัวใจเลย ต้องใช้เวลา ไม่งั้นจะมีคำว่าเก๋าไม่เก๋าเหรอ”
เจ้าของธุรกิจหมูปิ้งวัย 50 ปี ทิ้งท้ายว่า ศึกษาให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนทำธุรกิจ อย่าเอาความสำเร็จของผู้อื่นมาเป็นบรรทัดฐานอนาคตของเรา ไม่เช่นนั้นอาจไม่เหลืออะไรเลยจากการลงทุน
“เห็นคนอื่นสำเร็จ ไม่ใช่ว่าเราทำตามแล้วจะสำเร็จ บางทีเขามีต้นทุนอื่นๆ ประกอบที่เรายังมองไม่เห็น เห็นคนขายหมูปิ้งตอน 7 โมง บอกรวยแน่เลย อยากขายบ้าง เคยเห็นตอน 9 โมงที่เขานั่งน้ำลายไหลรอลูกค้าหรือเปล่า”
ทั้งหมดนี้คือความรู้และประสบการณ์การทำธุรกิจหมูปิ้งจากปากเฮียนพ ผู้สร้างเม็ดเงินจากหมูปิ้งได้มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท