posttoday

จับตาอนาคตอินเดีย วันข้างหน้า....ที่ไม่เป็นรองจีน

05 ตุลาคม 2553

แม้จีนจะสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่ญี่ปุ่นขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ทั้งยังสามารถเบียดเยอรมนีขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก จนทิ้งเพื่อนบ้านคู่ฟัดคู่เหวี่ยงอย่างอินเดียไว้ที่เบื้องหลังจนแทบไม่เห็นฝุ่น

แม้จีนจะสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่ญี่ปุ่นขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ทั้งยังสามารถเบียดเยอรมนีขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก จนทิ้งเพื่อนบ้านคู่ฟัดคู่เหวี่ยงอย่างอินเดียไว้ที่เบื้องหลังจนแทบไม่เห็นฝุ่น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ


จับตาอนาคตอินเดีย วันข้างหน้า....ที่ไม่เป็นรองจีน

แม้จีนจะสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่ญี่ปุ่นขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ทั้งยังสามารถเบียดเยอรมนีขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก จนทิ้งเพื่อนบ้านคู่ฟัดคู่เหวี่ยงอย่างอินเดียไว้ที่เบื้องหลังจนแทบไม่เห็นฝุ่น

แต่ใช่ว่าอินเดียจะเป็นฝ่ายไล่ตามจีนเสมอไปไม่ และโอกาสที่อินเดียจะสามารถเบียดขึ้นมาอย่างกระชั้นชิดมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่ที่นานาประเทศไม่ระแคะระคายถึงศักยภาพของอินเดียนั้น เป็นเพราะจีนกำลังร้อนแรงจนเบี่ยงเบนความสนใจไปจากอินเดีย

จีนและอินเดียต่างได้รับการยอมรับในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจคู่ใหม่แห่งเอเชีย ทั้งยังเป็น 2 ใน 4 สมาชิกกลุ่มประเทศ BRICs อันเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีพลังอำนาจเศรษฐกิจอย่างล้นเหลือ เพียงพอที่จะปรับดุลอำนาจของเศรษฐกิจโลก เพื่อสร้างระเบียบใหม่ขึ้นแทนที่ระเบียบเดิมที่กำหนดโดยประเทศพัฒนาแล้ว

จีน รัสเซีย บราซิล ล้วนแต่มีอำนาจต่อรองในระดับสูง อีกทั้งยังมีทรัพยากรมหาศาล นานาประเทศจึงให้น้ำหนักไปที่ความเคลื่อนไหวของประเทศเหล่านี้เป็นพิเศษ

แต่อินเดียดูคล้ายจะไม่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ จนกระทั่งสุ่มเสี่ยงที่จะพบกับความล้มเหลวเสียด้วยซ้ำหากเทียบกับจีนในบางด้าน ดังเช่นล่าสุดที่อินเดียรับเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาเครือจักรภพ หรือ Commonwealth Games แต่ต้องประสบกับเรื่องทุลักทุเลนานัปการ จนก่อนหน้านี้ประเทศสมาชิกต้องเลื่อนกำหนดการเดินทางมาอินเดีย เนื่องจากสิ้นความเชื่อมั่นในเจ้าภาพ

ผิดกับจีนที่ทำหน้าที่เจ้าภาพได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบในงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2551

อีกทั้งพิจารณาจากตัวเลขพื้นฐานด้านต่างๆ จะพบว่าจีนเหนือชั้นกว่าอินเดียอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระดับพื้นฐาน อินเดียมีศักยภาพที่สูงมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ

การทำธุรกิจในอินเดียอยู่ในภาวะเสรีอย่างเต็มที่ หลังจากรัฐบาลยุตินโยบายควบคุมในเชิงสังคมนิยมในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 หลังจากนั้นภาคธุรกิจของอินเดียเติบโตอย่างคึกคักด้วยนโยบาย “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าวัวค้า” เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจอย่างเสรีทั้งชาวอินเดียและชาวต่างชาติ

นโยบายเปิดเสรีเต็มที่ยังผลให้ภาคธุรกิจอินเดียมีความหลากหลายและกระจายตัวในทุกระดับ ตั้งแต่ธุรกิจเอาต์ซอร์สขนาดย่อมที่มีคุณภาพสูง (ซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นจุดแข็งที่สุดของอินเดีย) ไปจนถึงบริษัทชั้นแนวหน้าของโลก

ประการต่อมา ภาคธุรกิจของอินเดียมีศักยภาพสูงในการริเริ่มนวัตกรรม โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และที่กำลังมาแรง คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจที่สุด คือ ทาทา นาโน รถยนต์ที่มีราคาถูกที่สุดในโลก และบริโภคน้ำมันน้อยเหลือเชื่อ นอกจากนี้ราคารถที่ถูกลงยังจะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในของอินเดียอีกทอดหนึ่ง

ส่วนภาคธุรกิจของจีนแม้จะได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐพร้อมทุนก้อนมหึมา แต่จุดนี้ทำให้ภาคธุรกิจจีนขาดความหลากหลาย และบั่นทอนนวัตกรรม

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ แนวโน้มในระยะยาวของกำลังแรงงาน อันเป็นพลวัตที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการผลิต

จีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก ทว่าแนวโน้มด้านประชากร หรือนัยหนึ่งคือกำลังแรงงานของทั้งสองประเทศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในส่วนของอินเดียจะยังคงเป็นประเทศที่มีพลังแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างล้นเหลือ โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว ยังผลให้อัตราคนวัยเด็กและวัยชรามีน้อย และเป็นอัตราที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งหมายความว่าอินเดียไม่ต้องแบกรับภาระดูแลประชากรที่ไม่ใช่วัยทำงาน

ตัวเลขจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่าตัวเลขคนวัยก่อนทำงาน (ต่ำกว่า 15 ปี) และตัวเลขคนวัยเกษียณ (เกิน 64 ปี) ลดลงจาก 69% เมื่อปี 2538 มาอยู่ที่ 56% ในปีนี้

ตรงกันข้ามกับจีน ด้วยนโยบายลูกคนเดียวทำให้อัตราการเกิดของประชากรเริ่มถดถอย ภายในอีกช่วงทศวรรษอาจทำให้จีนขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแลประชากรวัยเกษียณนับล้านๆ คน

สถานการณ์ของจีนนั้นคล้ายคลึงกับภาวะถดถอยของประชากรของญี่ปุ่น ซึ่งผลลัพธ์นั้นค่อนข้างน่าวิตก เพราะยังผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขาดแคลนพลวัตจากคนรุ่นหนุ่มสาว อีกทั้งคนวัยเกษียณยังมุ่งอดออม ชะลอการใช้จ่าย จนฉุดรั้งให้ญี่ปุ่นจมปลักอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินฝืดยืดเยื้อ

อีกไม่นานจีน รวมถึงเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ อาจประสบชะตากรรมเดียวกับญี่ปุ่น ทว่าอินเดียจะรุ่งโรจน์ด้วยพลวัตคนหนุ่มสาววัยทำงานดังเช่นที่จีนเป็นอยู่ในขณะนี้

ที่เหนือกว่านั้น คือ ประชากรวัยแรงงานของอินเดียมีทักษะภาษาอังกฤษที่เหนือกว่าแรงงานจีนหลายขุม อีกทั้งค่าแรงขั้นต่ำยังต่ำกว่า โดยอยู่ที่ 100 รูปี หรือราว 80 บาทต่อวัน ขณะที่จีนอยู่ที่ 960 หยวน หรือราว 4,800 บาทต่อเดือน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดคือการปรับเพิ่มเมื่อเดือน ก.ค. โดยปรับขึ้นมาถึง 20%

ปัจจัยนี้จะช่วยดึงดูดธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอินเดียมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ธุรกิจต่างชาติเริ่มมองหาฐานการผลิตใหม่แทนที่จีนซึ่งมีค่าแรงสูงขึ้น

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางค่ายเชื่อมั่นว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียจะก้าวขึ้นมาแซงหน้าจีนภายในปี 2556 หรือภายในปี 2558 ด้วยอัตราการขยายตัวที่ 9-10% ส่วนจีนจะอ่อนแรงลงมาอยู่ที่ 8% ในระดับเดียวกับอินเดียในขณะนี้ที่ราว 8.5% ในปีนี้

ภายในเวลา 20-25 ปี อินเดียยังอาจขยายตัวเร็วกว่ามหาอำนาจเศรษฐกิจทุกประเทศ

กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนอย่างราบรื่น หรือจีนจะปล่อยให้อินเดียแย่งชิงโอกาสของตนไปโดยง่าย

ข้อเสียร้ายแรงที่สุดคือข้อเด่นที่สุดของอินเดีย นั่นคือการที่อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อาจกล่าวได้ว่าความเป็นประชาธิปไตยบังคับโดยปริยายให้รัฐบาลกลางไม่สามารถรวบอำนาจโดยเด็ดขาดดังเช่นรัฐอำนาจนิยมอย่างจีน อีกทั้งระบบราชการของอินเดียยังต้องผ่านกระบวนการที่ซ้ำซ้อน ผ่านการล็อบบี้ของกลุ่มผลประโยชน์ และต้องผ่านการต่อรองและถกเถียงอย่างดุเดือดระหว่างนักการเมือง

ผลก็คือ กว่าที่อินเดียจะพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างใดอย่างหนึ่งอาจต้องใช้เวลานานแรมปี ผิดกับจีนที่กระบวนการตัดสินใจโดยรัฐรวมศูนย์ จึงสามารถตัดสินใจอย่างรวดเร็วหากคิดจะขยายถนนในพื้นที่ชนบท หรือกระทั่งวางเส้นทางรถไฟความเร็วสูง

ด้วยเหตุนี้ จากการจัดอันดับดัชนีการประกอบธุรกิจทั่วโลกของธนาคารโลก (Doing Business 2010) อินเดียจึงห่างชั้นกับจีนอย่างมาก โดยอยู่ในอันดับที่ 133 ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่ 89 อีกทั้งอันดับของอินเดียในปีนี้ยังลดลงมา 1 ขั้น

เฉพาะกระบวนการขอทำธุรกิจในอินเดียมีอัตราส่วนความล่าช้าถึง 13 จุด จากอัตราเต็ม 10 ส่วนอัตราเฉลี่ยในเอเชียใต้อยู่ที่ 7.3 และอัตราเฉลี่ยของประเทศอุตสาหกรรมอยู่ที่เพียง 5.7 จุด จากการจัดอันดับโดยธนาคารโลก

แม้อินเดียจะยังอ่อนด้อยในหลายๆ ด้าน แต่ในระยะยาวมีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจโลก

ที่สำคัญ สภาพของอินเดียในขณะนี้ไม่ต่างจากจีนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากอินเดียสามารถสลัดตัวเองจากระบบราชการที่ล่าช้า และพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างแข็งขัน ความสำเร็จของอินเดียในด้านนี้จะเทียบเท่ากับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของจีนในยุค เติ้งเสี่ยวผิง ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศอย่างสิ้นเชิง

เมื่อนั้นโอกาสที่พยัคฆ์ซุ่มอย่างอินเดียจะค่อยๆ ก้าวขึ้นมาทัดเทียมกับพญามังกรจีนจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม