"นกพิราบ" จากของเล่นวัยเด็กสู่เจ้าเวหาเงินล้าน
เมื่อของเล่นในวัยเด็ก พัฒนาไปสู่กีฬามืออาชีพที่มีราคาเดิมพันสูงนับล้าน
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
นกพิราบกว่า 1,200 ชีวิตขยับปีกโผทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า จ.นครราชสีมา ในช่วงเช้าเวลา 7.45 น. เพื่อบินกลับกรงแข่งขัน Club House PIPR อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในรายการแข่งขันนกพิราบนานาชาติ พัทยา (Pattaya International Pigeon Race : PIPR) ครั้งที่ 2
ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรพวกมันต้องฝ่าฝันอุปสรรคทั้งจากธรรมชาติและหัวใจของตัวเองเพื่อไปถึงจุดหมาย โดยเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะนั้นสูงถึง 5 ล้านบาท
จากของเล่นในวัยเด็ก ผ่านการเฟ้นหาผสมสายพันธุ์และเทรนด์อย่างเข้มข้น บ้างเติบโตมาจากมือชาวบ้านเกษตรกร บ้างมาจากพนักงานออฟฟิศ และอีกมากมายมาจากกรงทองของมหาเศรษฐีใหญ่ระดับโลก กว่าจะก้าวเป็นแชมป์และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เจ้าของนั้นไม่ง่ายเลย
จากเพื่อนในวัยเด็กสู่เจ้าเวหามืออาชีพ
มนุษย์คุ้นเคยกับพิราบเป็นอย่างดี ในสมัยโบราณจะใช้ในการสื่อสาร โดยเฉพาะช่วงสงครามโลก เนื่องจากเป็นนกที่มีประสาทสัมผัสยอดเยี่ยมในการหาทางกลับมาสู่ถิ่นฐานที่จากมา แม้ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม สำหรับในเมืองไทยนกพิราบเป็นสัตว์เลี้ยงและเพื่อนในวัยเด็กของคนยุคก่อน
ดร. ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ที่ปรึกษาสมาคมนกพิราบแข่งนานาชาติ และแชมป์การแข่งขันนกพิราบหลายสมัย เล่าว่า เมื่อราว 50 ปีก่อน งานอดิเรกของเด็กหลายคนในสมัยนั้น คือการเลี้ยงนกพิราบเพื่อแข่งขันกับเพื่อนฝูงบ้านใกล้เรือนเคียง จนต่อมาเริ่มมีผู้นำนกพิราบสายพันธุ์ต่างๆ เข้ามาจากต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เบลเยี่ยม ทำให้การแข่งขันและพัฒนาศักยภาพจริงจังมากขึ้น กระทั่งมีการก่อตั้งสมาคมนกพิราบขึ้นในประเทศไทย
“เมื่อก่อนไม่มีเกม ไม่มีโทรศัพท์ เด็กรุ่นเก่าจะเลี้ยงนกและรักมันมาก แข่งกันง่ายๆ นกใครกลับถึงบ้านก่อนชนะเจ้าของก็จะวิ่งไปบอกที่นัดหมายว่านกผมมาแล้ว เป็นความสนุกสนานของเด็กๆ ต่อมามีการต่อระยะทางทางช่องอากาศ เพื่อให้ยุติธรรม จนเริ่มมีการนำเข้านาฬิกาใช้บันทึกเวลาและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นสากลมากขึ้น แต่ด้วยความที่มีราคาแพงทำให้คนเลี้ยงรุ่นเด็กๆ อาจไม่มีเงินซื้อและใช้วิธีการเช่าแทน”
ปัจจุบันการพัฒนาและการแข่งขันนกพิราบมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด เช่น นาฬิกาบาร์โค๊ดอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อบันทึกเวลา , ห่วงขาชิปริงค์ อุปกรณ์ที่ใส่ในขานก เพื่อเก็บข้อมูลของตัวนกพิราบแข่ง โดยเป็นรหัส (TAGS) ใช้ในการตัดสินต้องใช้ร่วมกับนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์บาร์โค๊ด , ห่วงขาบังคับ อุปกรณ์เสริมสำหรับใส่ในขานก เพื่อป้องกันการทุจริต อาจจะใช้ร่วมกับห่วงขาชิปริงค์ตามประกาศของผู้จัดการแข่งขัน
การแข่งขันในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แข่งตามสาย ได้แก่ สายเหนือระยะทางราว 700 กิโลเมตร สายใต้ ระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร และสายอีสาน 700 กิโลเมตร อีกประเภทคือแบบ One Loft Race ซึ่งเป็นการแข่งขันโดยเลี้ยงนกพิราบไว้อยู่ในกรงเดียวกันและดูแลอย่างเท่าเทียมกัน การแข่งขันอย่างหลังถือว่าลดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบให้เหลือน้อยลงที่สุด
“ปัจจุบันการเลี้ยงมีความมืออาชีพมากขึ้น ดูแลเรื่องโรคภัยในระดับสากล มีการลงทุนเรื่องยา อาหารเสริมโดยเฉพาะพวกโปรตีน เพื่อให้นกสมบูรณ์แข็งแรงมากที่สุด” ดร. ธีระชนบอก
เป็นแชมป์ไม่ง่าย
มงคล พโนดม พนักงานบริษัทเอกชน ผู้หลงใหลการแข่งขันนกพิราบจนสามารถคว้าแชมป์ได้หลายรายการ บอกว่า การก้าวไปสู่ตำแหน่งแชมป์เปี้ยนขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย ไล่ตั้งแต่ สายพันธุ์ การเลี้ยงดู การให้อาหาร การฝึกฝน ที่สำคัญยังเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของลมและสภาพอากาศในวันแข่งขันด้วย
“สายพันธุ์ดีก็มีโอกาสสูงที่ลูกหลานของมันจะเก่ง แต่ไม่การันตี เพราะมีอีกหลายปัจจัย รวมถึงโชคด้วย”
ผู้เลี้ยงนกพิราบมักจะเสาะแสวงหาสายพันธุ์ที่ดีนำมาผสมและพัฒนาอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามลักษณะพิเศษของนกแต่ละตัวนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้เลี้ยงว่าจะมองเห็นความสามารถหรือโอกาสในการพัฒนาของตัวมันหรือไม่
“แล้วแต่ประสบการณ์ ความรู้สึกและเทคนิค บางคนมองความยาวของปีก ดวงตา รูปร่าง ซึ่งต่างประเทศได้พัฒนาโครงสร้างของนกขึ้นมาอย่างจริงจัง แต่ทุกอย่างเป็นเพียงแค่ทฤษฎีและมีข้อแย้งว่าไม่มีอะไรแน่นอน การเป็นแชมป์รายละเอียดนั้นเยอะมาก ระหว่างทางที่บินเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางตัวหิวน้ำ บินลงไปจนกระทั่งโดนสัตว์อื่นทำร้ายก็เป็นไปได้”
การฝึกนกพิราบนั้นมีหลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไประยะแรก 30 วันหลังคลอดนั้นคล้ายกัน คนในวงการเรียกว่าช่วงโฮมมิ่ง เป็นช่วงที่นกยังปีกไม่แข็งและไม่กล้าบิน ผู้เลี้ยงจะให้อาหารและน้ำดื่ม บังคับให้เรียนรู้ จดจำพื้นที่ทางเข้าบ้านตามที่กำหนด เมื่อปีกเริ่มแข็งแรง นกจะเริ่มกระพือปีกและลอยตัว จนกระทั่งบินไปรอบบ้าน จากนั้นจึงเริ่มฝึกซ้อม โดยขยับระยะบินตั้งแต่ 10 กิโลเมตร 20 กิโลเมตร ไต่ระดับเพิ่มขึ้นจนอายุได้ประมาณ 6 เดือนจึงเริ่มส่งเข้าแข่งขัน
“เขาจะเรียนรู้ ทดลองบินหลากหลายเส้นทางจนจำเส้นทางที่ใกล้ที่สุดได้ ระหว่างนั้นเราจะคอยกระตุ้นให้เขากลับบ้านเร็วที่สุดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ให้เขามีคู่หรือมีนางอิจฉา พวกนี้เป็นเทคนิคของแต่ละคน” มงคลบอกและว่าอายุของนกนั้นไม่แน่นอนว่าจะเก่งหรือสมบูรณ์แบบตอนไหน คล้ายกับมนุษย์ที่มีช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมแตกต่างกัน
ถึงแม้ต้นทุนในการเลี้ยงจะค่อนข้างสูงทั้งในแง่เม็ดเงินและเวลาที่ต้องคอยดูแล แต่เป้าหมายหลักของผู้เลี้ยงหลายคนไม่ใช่เงิน แต่เป็นถ้วยรางวัลและความภาคภูมิใจที่นกพิราบที่เขาประคมประหงมนั้นบินกลับมาก่อนใคร
“เขย่ากระป๋องข้าว เขาตบปีกรับ ทิ้งตัวลงมา มันเป็นภาพที่สวยงามมาก ถ้าใครเคยสัมผัสแล้วจะไม่ลืมเลย ผมเครียดๆ จากงาน จากการใช้ชีวิตก็มาจับนก และนำทฤษฎีต่างๆ ที่เขาบอกกันมาพัฒนา แล้วเอาไปแข่ง ผมว่ามันคือความสุข ได้ถ้วยพระราชทานมาแล้ว 8 ใบและอยากได้มันอีก ส่วนเงินรางวัลมันเป็นสิ่งจุนเจือค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้บ้างเท่านั้น” หนุ่มใหญ่บอกถึงความรู้สึก
พัทยา One Loft Race
ปัจจุบันการแข่งขันในประเทศไทยนั้นยกระดับ ได้รับความสนใจและการยอมรับจากทั่วโลกมากขึ้น
ล่าสุดในการแข่งขันนกพิราบนานาชาติ พัทยา ครั้งที่ 2 รูปแบบการแข่งขันประเภท One Loft Race โดยเลี้ยงไว้ในกรงเดียวกันที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เปิดให้ผู้เลี้ยงส่งนกเข้ามาอยู่ตั้งแต่อายุได้ราว 30 วัน และเริ่มมีการฝึกบินใจระยะต่างๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม โดยปีนี้มีนกเข้าร่วมมากถึง 1,400 ตัวจากผู้เลี้ยงนก 18 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปและออสเตรเลีย
สิริเดช โรจนารุณ อุปนายกสมาคมนกพิราบแข่งนานาชาติ บอกว่า นกพิราบไม่ได้จดจำสถานที่ๆ มันเกิดแต่จะจำสถานที่ที่มันอยู่อาศัยและเติบโต จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงบินกลับมาที่นี่เมื่อถึงเวลาแข่งขัน ราคาของแต่ละตัวนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และผลงาน ในโลกนี้มีหลากหลายตัวที่มูลค่ามหาศาล ตัวอย่างเช่น Bolt 13 ล้านบาท , Safierkoppel 11 ล้านบาท , Dolce Vita 10 ล้านบาท เป็นต้น
“การเลี้ยงอย่างมืออาชีพ ทำให้พวกมันสามารถบินได้เร็วถึง 1,250-1,300 เมตรต่อนาที เมื่อรวมกับแรงลมก็จะทำให้บินได้ไวถึง 1,450 เมตรนาที หมายถึง 87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยิ่งลมแรงมากเท่าไหร่ก็ทำให้ความเร็วเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพัทยาได้เปรียบตรงสภาพอากาศเป็นใจในช่วงเวลาการแข่ง”
การแข่งขัน PIPR ครั้งที่ 2 มี 3 ระยะทาง ระยะทางแรก 330 กิโลเมตร จุดปล่อยนกอยู่ที่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อบินกลับมายังกรงนก PIPR อ.บางละมุง โดยนกชนะเลิศได้แก่ KARL-HEINZ WICHERT จากประเทศเยอรมนี ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินบำรุงพันธุ์ 1 ล้านบาท
การแข่งขันของรอบที่ 2 ระยะทาง 430 กิโลเมตร จุดปล่อยนกอยู่ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นกชนะเลิศได้แก่ ZHONG GUO ZHI YE SAI GE WANG (Team A) จากประเทศจีน ได้รับถ้วยรางวัลจาก FCI Racing Pigeons Grand Prix ซึ่งเป็นองค์กรนกพิราบระดับโลก พร้อมเงินบำรุงพันธุ์ 1 ล้านบาท
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระยะทาง 530 กิโลเมตร กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2561 จุดปล่อยนกอยู่ที่ อ.เมือง จ.อุดรธานี นกผู้ชนะจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พร้อมเงินบำรุงพันธุ์ 5 ล้านบาท
วงการนกพิราบกำลังเติบโตและน่าสนใจว่าท้ายที่สุดแล้วใครจะคว้าแชมป์อันทรงค่านี้ไปครอง..
ภาพจาก pattayaoneloftrace