คำขวัญวันเด็ก 61 ปี มีประชาธิปไตย 4 ครั้ง
ประเทศไทยจัดงานวันเด็กมาแล้ว 61 ปี ย้อนดูหลายๆ คำขวัญ พบว่า 6 คำสำคัญที่ถูกใช้ซ้ำ อันดับ 1 วินัยและการเรียน 18 ครั้ง ตามด้วย ชาติ 17 ครั้ง คุณธรรม 15 ครั้ง ขยัน 11 ครั้ง ประหยัด สามัคคี ซื่อสัตย์ 9 ครั้ง และประชาธิปไตยเพียง 4 ครั้ง
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
งานเสวนา "วันเด็ก...ขอนโยบายดีกว่า คำขวัญ" ซึ่งจัดขึ้นโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยจัดงานวันเด็กมาแล้ว 61 ปี มีคำขวัญวันเด็กเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2499 ยุค จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จนเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อย้อนดูหลายๆ คำขวัญ พบว่า 6 คำสำคัญที่ถูกใช้ซ้ำ อันดับ 1 วินัยและการเรียน 18 ครั้ง ตามด้วย ชาติ 17 ครั้ง คุณธรรม 15 ครั้ง ขยัน 11 ครั้ง ประหยัด สามัคคี ซื่อสัตย์ 9 ครั้ง และประชาธิปไตยเพียง 4 ครั้ง ทั้งนี้ สิ่งที่พบจากคำขวัญสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมคาดหวังต่อเด็ก
ขณะที่ข้อค้นพบที่น่าสนใจกรณีวันเด็กใน 11 ประเทศ พบว่า การจัดงานวันเด็กจะมีการจัดทำนโยบายสำคัญด้านเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ และการรับฟังเสียงเด็ก โดยประเทศที่เด็กมีส่วนร่วมจัดกิจกรรม เช่น อังกฤษ จัดตั้งกองทุนอิสระ #iwill เพื่อส่งเสริมให้เด็กเยาวชนอายุ 10-20 ปี เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม โรมาเนีย เด็กมีส่วนร่วมลดความรุนแรงในโรงเรียนและพัฒนาคู่มือเล่นเกมสำหรับใช้จัดกิจกรรมในสถานศึกษา
ทั้งนี้ ประเทศที่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเด็กเยาวชน เช่น ฝรั่งเศส เน้นแก้ปัญหาเด็กติดมือถือ โดยออกเป็น "กฎระเบียบ ก.ย. 2018" ห้ามนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นใช้มือถือในโรงเรียน เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว สมาธิสั้น ไม่ออกกำลังกาย ไอซ์แลนด์ แก้ปัญหาวัยรุ่นเป็นนักดื่มหนักที่สุดในยุโรป โดยโครงการ Youth in Iceland สามารถทำให้สถิติวัยรุ่นดื่มสุรา บุหรี่ และยาเสพติด ลดลงอย่างชัดเจนผ่านการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ ลัตเวียพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของชาวโรมา ชนกลุ่มน้อยผ่านโครงการฝึกครูผู้ช่วยชาวโรมา เพื่อส่งเสริมให้เด็กโรมาเรียนร่วมกับนักเรียนคนอื่น และพัฒนาชาวโรมาให้เป็นครูผู้ช่วยเพื่อดึงเยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา
ด้าน สหรัฐอเมริกา เน้นการแก้ปัญหายาเสพติด เพศ และการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กเยาวชน จึงทำโครงการ Let's Talk รณรงค์การพูดคุยในครอบครัวเชิงบวก ฟินแลนด์มี พ.ร.บ.สวัสดิการเด็ก เพื่อปฏิรูปการดูแลเด็กทั่วประเทศ ทั้งสิทธิการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก เงินสนับสนุนเด็กและครอบครัว และกิจกรรมสร้างสรรค์ ออสเตรเลียออกกฎหมายและตั้งคณะกรรมการอิสระ รักษาความปลอดภัยสำหรับเด็กบนโลกออนไลน์ พร้อมกับมีบริการสายด่วนให้คำปรึกษาเด็กเยาวชนเพื่อป้องกันความรุนแรงบนโลกไอที
ประเทศที่รับฟังเสียงเด็ก เช่น สวีเดน มีการสำรวจความคิดเห็นเด็ก 12-16 ปีทั่วประเทศ ในโครงการ Young Voices เพื่อนำไปสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบายจากเสียงของเด็กเยาวชน เยอรมนี ใช้โอกาสวันเด็กรณรงค์เรื่องสิทธิเด็ก เช่นปี 2017 ใช้ชื่อ Give children a voice เพื่อให้เด็กได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสภาในการกำหนดนโยบาย แคนาดา มี "วันพา สส.ไปโรงเรียน" เป็นกิจกรรมประจำวันเด็กแคนาดา โดย สส.จะต้องเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบ 1 ชั่วโมง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเด็ก
ศ.สมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับวันเด็กไทยได้สำรวจความคิดเห็นเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในหัวข้อ "วันเด็ก...ขอนโยบายดีกว่าคำขวัญ" จำนวน 1,503 คน ระหว่างวันที่ 25 ธ.ค. 2560-8 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อพูดถึงวันเด็กคนส่วนใหญ่นึกถึงของขวัญ เช่น รางวัลและของเล่น ตามด้วยของกิน กิจกรรม ความสุข และคำขวัญ ส่วนคำถามนโยบายสำคัญสำหรับเด็กที่ผ่านมา 3 อันดับแรก คือ การสนับสนุนการศึกษา ตามด้วยไม่ทราบ และการส่งเสริมคุณธรรม
นอกจากนี้ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ยังระบุด้วยว่า จากการสำรวจตาม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กทั้ง 4 ด้าน ว่าด้วย 1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด 2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา 3.สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และ 4.สิทธิที่จะมีส่วนร่วม พบว่าประเทศไทยสอบตกทั้งหมด ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร แต่เด็กไทยกลับเสี่ยงทางด้านโภชนาการ เด็กไทยเตี้ย แคระแกร็น เด็กในเมืองเป็นโรคอ้วน ด้วยเหตุผลทางการตลาด
ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองยังชอบให้เด็กเล่นแท็บเล็ต ส่งผลให้มีสมาธิสั้น ภาวะการอ่านหนังสือก็ลดลง เด็กถูกทำร้ายร่างกาย เนื่องจากผู้ใหญ่เชื่อว่าเป็นการสร้างวินัย และที่ฉุดรั้งมากที่สุดคือการปิดกั้นความคิดเห็นเด็ก
"เรามองเด็กไทยเป็นแค่เด็ก ไม่อยากให้พวกเขาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพราะไม่เชื่อว่าทำได้ และกลัวจะเสียการเรียน ทุ่มเทแต่เรื่องการสอบ ต่างจากสังคมสากลที่เขาให้ความเชื่อใจแก่เด็ก ทำให้เด็กกล้าคิด ให้สิทธิในการเป็นเจ้าของโจทย์ กล้าสงสัย กล้าตั้งคำถาม เราต้องปฏิรูปงานวันเด็ก เลิกธรรมเนียมนิยม เน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาที่เน้นแต่การสอบ แต่ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้มีชีวิตชีวา สร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก จึงเรียกร้องให้วันเด็ก ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากเสียงของเด็ก ดีกว่าคำขวัญปีแล้วปีเล่าที่ไม่เกิดผลในเชิงปฏิบัติ" ศ.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย