‘มากันนะ’ ร้านอาหารปันรัก สุขภาพจากสิ่งแวดล้อมที่ดี
ด้วยความเชื่อมั่นว่า สุขภาพที่ดีต้องมาจากอาหารที่ดี และอาหารจะมีคุณภาพดี
โดย ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์
ด้วยความเชื่อมั่นว่า สุขภาพที่ดีต้องมาจากอาหารที่ดี และอาหารจะมีคุณภาพดี เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกายอย่างแท้จริง ก็จะต้องมาจากสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้จุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชผัก เพื่อเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน จะค่อยพัฒนา สร้างกลุ่มผู้สนใจ พัฒนามาเป็นเครือข่ายอาหารปันรัก ตลาดอาหารสำหรับผู้รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และกำลังจะพัฒนาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบของร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เมนูอาหารท้องถิ่นภาคใต้ โดยใช้วัตถุดิบปลอดสารพิษจากชุมชน
ภาวิณี ไชยภาค หรือแพ็พ นักกิจกรรมเพื่อสังคมตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จนถึงปัจจุบันเธอก็ยังทำกิจกรรมเพื่อชุมชนในพื้นที่บ้านเกิด อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะผู้จัดการร้านมากันนะ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการลงหุ้นร่วมทุนกันของคนในชุมชนบ้านไทรขึง ต.คลองเปียะ อ.จะนะ จ.สงขลา กลุ่มสงขลาฟอรั่ม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อาจารย์และ บัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) บอกว่า แนวคิดของร้านคือ การบอกถึงแนวคิดเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนผ่านร้านอาหาร
“มากันนะ เป็นการผสมผสานระหว่างคำในภาษามลายูและภาษาไทย โดยมากัน หรือมาแก เป็นคำชักชวน ส่วนนะเป็นคำในภาษาไทย เมื่อรวมกันจึงเป็นความหมายในการชักชวนให้มาลองชิมอาหารปลอดสารพิษได้อย่างลงตัว”
แพ็พเล่าว่า ช่วง 3 ปีก่อนแพทย์ตรวจพบว่าเธอมีก้อนเนื้อซึ่งมีความเสี่ยง เธอเลือกที่จะใช้วิธีการรักษาแบบธรรมชาติบำบัด งดเนื้อสัตว์ บริโภคพืชผักที่ปลอดสารเคมี แต่การเลือกซื้ออาหารตามท้องตลาดทั่วไปไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะมีคุณภาพตามที่ต้องการหรือไม่ เธอจึงหันมาปลูกเพื่อบริโภคเอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษ
การปลูกพืชผักด้วยตัวเอง ทำให้เธอเรียนรู้วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ เมื่อมีมากมายหลายชนิด และเกินกว่าที่จะเก็บไว้เพาะปลูกคนเดียว เธอจึงเริ่มแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้คนรอบข้าง รวมทั้งเผยแพร่เรื่องราวกิจกรรมของเธอผ่านเฟซบุ๊ก จนมีผู้สนใจมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” จากความร่วมมือกับมูลนิธิชุมชนสงขลา และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
“สมาชิกของธนาคารเมล็ดพันธุ์ไม่ใช่แค่คนรอบข้างเราเท่านั้น แต่มาจากหลายที่ ต่างถิ่น สอบถามว่า เขาทราบว่ามีโครงการนี้จากการเสิร์ชในกูเกิล ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่คุมเรื่องอาหารปลอดสารพิษเหมือนกัน”
เพียง 2 ปีโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ก็ขยายเครือข่ายมากขึ้น มีพืชพันธุ์จากหลากถิ่นหลากหลายมากขึ้น อาทิ ผักกาดดอย ฝักทองดอย พริกกะเหรี่ยง จากดอยแม่สลอง จ.เชียงราย กระเจี๊ยบเขียวจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ถั่วพูม่วงจากพิษณุโลก พริกช่อจากอุบลราชธานี มะม่วงหาวมะนาวโห่จากนครปฐม ข้าวดอกมะขามจากชุมพร แตงส้มจากพัทลุง มะเขือหลายชนิดจาก อ.มายอ จ.ปัตตานี
ที่สำคัญมีผู้ขอรับเมล็ดพันธุ์ด้วยการสมทบเงินเข้ากองทุนพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ปัจจุบันเงินจากการจาก “หยิบหยอด” สมทบกองทุนพัฒนาเมล็ดพันธุ์มีมากกว่า 6,000 บาท เพื่อพัฒนากิจกรรมต่อไปในอนาคต
แพ็พบอกว่า ช่วงเวลาเดียวกันกับการทำโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ เธอได้เข้าไปช่วยงานในกลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาเอกชนภาคใต้ ซึ่งเริ่มต้นทำโครงการอาหารปันรัก โดยเป็นตัวกลางนำอาหารทะเลคุณภาพ จากเครือข่ายชาวประมง อ.จะนะ ไปส่งขายให้กับผู้บริโภคใน อ.หาดใหญ่ และตัวเมืองสงขลา
วิธีการคือหาผู้บริโภคที่ต้องการอาหารทะเลสดและคุณภาพดี โดยสั่งซื้อล่วงหน้าผ่านการส่งข้อความในเฟซบุ๊ก และไลน์ ว่าต้องการอาหารทะเลชนิดใด ปลา กุ้ง ปู หรือปลาหมึก ชาวประมงก็จะได้หาตามออร์เดอร์ จากนั้นก็จะมีตัวแทนนำไปส่งถึงมือผู้บริโภคตามจุดนัดรับของต่างๆ สัปดาห์ละครั้ง โดยปัจจุบันมีสมาชิกสั่งอาหารทะเลสัปดาห์ละประมาณ 50 ราย
“โครงการนี้เป็นการหุ้นส่วนกันระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับเอ็นจีโอ กำไรที่ได้ก็จะแบ่งกัน 2 ส่วน ทั้งชาวประมงและเข้ากลุ่มออมทรัพย์นักพัฒนาภาคใต้”
นอกจากการซื้อข่ายอาหารทะเลแล้ว โครงการอาหารปันรักยังจัดกิจกรรมให้ผู้บริโภคได้มาพบกับชาวประมงผู้หาอาหารทะเลให้กับพวกเขา โดยนั่งเรือประมงออกทะเล เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง และร่วมรับประทานอาหารกันที่ชายทะเล
“กิจกรรมเหล่านี้เราต้องการให้ผู้บริโภคได้รู้ว่า อาหารทะเลที่พวกเขารับประทานนั้นมาจากใคร อยากให้เขาตระหนักในการเป็นเจ้าของทะเลร่วมกัน”
การทำให้ผู้คนทั่วไปรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของทะเลนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ จ.สงขลา นั้น กลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ กรณีที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างโรงแยกก๊าซ และแนวท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ อ.จะนะ ซึ่งกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องทะเลให้เป็นแหล่งอาหารที่ปราศจากความเสี่ยงจากมลพิษและการปนเปื้อนต่างๆ
อย่าแปลกใจหากในบางสัปดาห์ โครงการอาหารปันรักจะต้องแจ้งการงดส่งอาหาร เพราะชาวประมงเหล่านี้จะต้องไปขึ้นศาลในคดีที่พวกเขาฟ้องร้องหน่วยงานรัฐบางแห่งจากกรณีท่อก๊าซซึ่งยืดเยื้อมาร่วม 20 ปี
จากธนาคารเมล็ดพันธุ์ ควบคู่กันมากับโครงการอาหารปันรัก เครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมผลักดันโครงการเหล่านี้กันมาก็เริ่มต้นพูดคุยกันถึงการต่อยอดพัฒนาโครงการ ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องร้านอาหารสุขภาพรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากการสนับสนุนวัตถุดิบทั้งพืชผักและอาหารทะเลในชุมชนแล้ว ความตั้งใจอีกประการหนึ่งคือ การสนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนในท้องถิ่น
เครือข่ายได้รับการสนับสนุนให้ใช้สถานที่ของศูนย์อาหารโภชนาการและการพัฒนาชนบทภาคใต้ ม.อ. เพื่อเปิดร้านอาหาร โดยตั้งอยู่ที่ ต.คลองเปียะ อ.จะนะ หากมาจาก อ.หาดใหญ่ ผ่านด่านตรวจคลองเปียะมาประมาณ 500 เมตร จะสังเกตเห็นป้ายศูนย์อาหารโภชนาการฯ ม.อ. ร้านมากันนะจะตั้งอยู่ภายในศูนย์
“แต่เดิมที่ตรงนี้มีการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนมาก่อน เราก็อยากฟื้นกิจกรรมของเยาวชนขึ้นมาด้วย จึงทำแปลงปลูกผัก เลี้ยงปลา รวมทั้งให้เยาวชนมาทำงานในร้านทั้งเสิร์ฟอาหาร มุมกาแฟ เครื่องดื่ม เป็นกิจกรรมและสร้างรายได้ให้กับเยาวชนในชุมชน”
วันเด็กแห่งชาติ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา ร้านมากันนะทำกิจกรรมวันเด็กสำหรับกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ และวันจันทร์ที่ 15 ม.ค.นี้ ร้านมากันนะจะเปิดขายอย่างเป็นทางการ โดยเป็นเมนูอาหารในท้องถิ่น สะอาด ไม่ใช้ผงชูรส ปลอดสารพิษ รับประทานได้ทั้งพุทธและมุสลิม โดยฝีมือแม่ครัวมุสลิมในพื้นที่
แพ็พและเครือข่ายเชื่อมั่นว่า ผู้บริโภคจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงผู้ผลิต ถ้าหากผู้บริโภคเปลี่ยนมากินอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตเองก็จะเปลี่ยน
“ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเพราะพวกเรากินอาหารทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดี เราต้องกินอาหารที่ดี ซึ่งอาหารที่ดีก็จะได้มาจากสิ่งแวดล้อมที่ดี” แพ็พบอกถึงสิ่งที่เธอและเครือข่ายเชื่อมั่น