กระแสไม่แรงเท่าม็อบ พรรคกปปส.แจ้งเกิดยาก
งวดเข้ามาทุกทีกับการเริ่มต้นเปิดให้พรรคการเมืองใหม่จดจองชื่อกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง วันแรกในวันที่ 2 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่ามีไม่น้อยกว่า 10 พรรค
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
งวดเข้ามาทุกทีกับการเริ่มต้นเปิดให้พรรคการเมืองใหม่จดจองชื่อกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันแรกในวันที่ 2 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่ามีไม่น้อยกว่า 10 พรรค ที่จะเปิดตัวในวันดังกล่าวหลังเห็นการออกมาขยับประกาศตัวเตรียมความพร้อมและเป้าหมายทางการเมืองไปแล้วหลายพรรค
หนึ่งในพรรคที่กำลังถูกจับจ้องเป็นพิเศษหนีไม่พ้น พรรคของ กปปส.
แม้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ยืนยันว่า ช่วงชีวิตที่เหลือจะอุทิศเวลาในการรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ ศาสนา และประชาชน เท่าที่จะทำได้ และไม่คิด หันไปเล่นการเมืองอีก ไม่ร่วมรัฐบาล กับใคร ไม่เป็นนักการเมือง ไม่ไปลงสมัคร สส.อย่างแน่นอน
"วันนี้ตัวเองยังเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในฐานะเลขาฯ กปปส. ยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดตัวบุคคล และต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ไม่อยากให้เกิดวงจรเดิมๆ ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย"
ในอนาคตจะมีการจัดตั้งพรรค การเมืองหรือไม่นั้น สุเทพ เปิดทาง ไว้สำหรับอนาคตว่า "เป็นไปได้ทั้งนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองและประชาชน"
แต่ทว่าล่าสุด ธานี เทือกสุบรรณ น้องชายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาคอนเฟิร์มกระแสข่าวแทงกั๊กว่า เตรียมไปจดจองชื่อพรรคต่อ กกต. ในนาม "พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นพระประมุข พร้อมกับเตรียม ส่งผู้สมัครในเขตจังหวัดภาคใต้ครบ ทุกจังหวัด"
สอดรับกับทิศทางการเคลื่อนไหวกับกระแสการตั้งพรรค กปปส.ที่ประกาศตัวเตรียมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย เพื่อสานต่อภารกิจ "ปฏิรูป" ให้สำเร็จลุล่วง
อย่างไรก็ตาม การตั้งพรรค การเมืองของ กปปส.ในเวลานี้ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก การที่เคยได้รับเสียงสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนเรือนล้านออกมาร่วมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 4 ปีก่อน อาจ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าพรรค กปปส. จะได้รับเสียงถล่มทลายเช่นเดิม
ประการแรก กระแสความนิยม ของ กปปส.ที่เริ่มเสื่อมคลายลงไป หลังจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ด้วยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สะกดไม่ให้ทั้งพรรคการเมือง หรือกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวได้ แม้ช่วงที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรชาว สวนยางจะประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ก็ไม่อาจออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ให้แก้ปัญหาได้จนเป็นแรงกดดันที่สะสมเรื่อยมา
ยิ่งในวันที่ "ผลงาน" การบริหารงานของรัฐบาล คสช. ยังไม่เข้าตาประชาชน การปฏิรูปและปรองดองที่เป็นเรื่องเร่งด่วนยังไม่เห็นความคืบหน้า
ซ้ำเติมด้วยเงื่อนงำความไม่โปร่งใสที่โยงถึงคนใน คสช. และความไม่ชัดเจนเรื่อง "เลือกตั้ง" ที่กำลังถูกถล่มว่าเป็นการยื้ออยู่ในอำนาจต่อไป
การที่พรรคของ กปปส.จะไปชูเป้าหมายประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในเวลานี้ จึงอาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนเหมือนเช่นที่เคยออกมาเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารก่อนหน้านี้
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ สุเทพ ซึ่งเคยประกาศตัววางมือ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกแล้ว แต่หากมาสนับสนุนพรรคดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมือง แม้จะอ้างว่าอยู่เบื้องหลัง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิเสรีภาพก็ย่อมถูกมองว่าเป็นผู้ชักนำพรรคอยู่เบื้องหลังซึ่งจะยิ่งทำให้พลัง ของพรรคอ่อนแอลงไป
ประการที่สอง ฐานเสียงและตัว ผู้สมัครที่ทับซ้อนระหว่าง กปปส. และประชาธิปัตย์ ซึ่งชัดเจนแล้วว่า แกนนำ กปปส. ทั้ง 8 คนที่ผ่านมา ประกาศกลับพรรคและพร้อมสวมเสื้อประชาธิปัตย์ ลงสนามเลือกตั้ง
ย่อมทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคของ กปปส.ต้องมาแข่งกันเอง สุดท้ายโอกาสที่จะได้รับเสียงสนับสนุนเป็นกอบเป็นกำและชนะการเลือกตั้งย่อมเป็นไปได้ยาก หรืออาจกลายเป็นจุดอ่อนให้คู่แข่งจากพรรคอื่นสามารถเบียดตัวเข้ามาเอาชนะในฐานเสียงที่เข้มแข็ง ทั้งภาคใต้และกทม.ได้
ยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ด้วยแล้วโอกาสที่พรรคของ กปปส.จะสามารถเบียดตัวเอาชนะผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ย่อมเป็นไปได้ยาก ดังจะเห็นจากบทเรียนในอดีตซึ่งมี สส.ซึ่งเคยได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นของประชาธิปัตย์ย้ายไปอยู่พรรคอื่น สุดท้ายต้องพ่ายแพ้เลือกตั้งให้กับผู้สมัครของประชาธิปัตย์
ตอกย้ำวลีเปรียบเปรยว่า ภาคใต้ ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ชนะเลือกตั้ง นั่นจึงเป็นเรื่องยากที่ แกนนำ กปปส.จะยอมทิ้งเสื้อประชาธิปัตย์ ไปสวมเสื้อ กปปส.ไปลงสนามแข่งกับประชาธิปัตย์
ชวนให้นึกถึงเมื่อครั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศ ตั้งพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้ง ซึ่งสุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
แน่นอนว่าสถานการณ์ครั้งนี้กับ ครั้งนั้นมีความแตกต่างกันที่ไม่อาจเปรียบเทียบได้ชัดเจน ทั้งในเรื่องความขัดแย้งของ แกนนำ พันธมิตรฯ และระบบเลือกตั้งปัจจุบัน
โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งปัจจุบัน ที่ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย แม้แพ้ในระบบเขตก็ยังถูกนำไปคำนวณในระบบบัญชีรายชื่อ
ดังนั้น เมื่อกลับมาวิเคราะห์แล้ว เป้าหมายการตั้งพรรคของ กปปส. จึงอาจไม่ได้อยู่ที่การช่วงชิงเอาชนะในระบบเขตอย่างเอาเป็นเอาตายซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่อาจจะหวังสะสมคะแนนในแต่ละพื้นที่รวมแล้วเพียงพอจะได้ สส.บัญชีรายชื่อหลายที่นั่ง
ไม่ต่างจากพรรคเล็กพรรคน้อยที่ คิดคล้ายกัน ต่างเพียงแต่พรรคของ กปปส.มีฐานมวลชนที่เคยสนับสนุนอยู่เรือนล้าน แม้แนวคิดนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไป