"คนพิการทุบลิฟต์" ฉะหน่วยงานรัฐ-ผู้บริหารบีทีเอสไร้จิตสำนึกปล่อยปัญหาเรื้อรัง
เครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิผู้คนพิการ เเถลงข่าวหลังเหตุการณ์ทุบลิฟต์โดยสารของบีทีเอส ประกาศเดินหน้าฟ้องร้องทวงสิทธิให้คนพิการ
เครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิผู้คนพิการ เเถลงข่าวหลังเหตุการณ์ทุบลิฟต์โดยสารของบีทีเอส ประกาศเดินหน้าฟ้องร้องทวงสิทธิให้คนพิการ
กรณีนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้คนพิการและผู้ประสานงานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ( Transport for All ) ทุบกระจกประตูลิฟต์ของสถานีบีทีเอสอโศก พร้อมกับนำภาพมาโพสต์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้พิการ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายมานิตย์ เเถลงข่าวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศกว่า เหตุที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ตนเองลงชื่อโดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ ซึ่งตนปฏิเสธ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น รวมถึงยังละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนพิการด้วย
"ผมเดินทางมาหลายปีเเล้ว บีทีเอสให้สิทธิคนพิการใช้บริการฟรี เเต่มีอยู่สถานีเดียวที่ให้ผมลงชื่อ ผมบอกว่าไม่เซ็น รปภ.เลยพาไปคุยกับผู้จัดการสถานี คุยแล้วก็ไม่จบ สุดท้ายผมถามว่าถ้าไม่เซ็นจะเกิดอะไรขึ้น เขาบอกถ้าไม่เซ็นก็เดินทางไม่ได้ หลังจากได้ยินแบบนั้น ผมบอกกลับไปว่า มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าอย่างนั้นผมจะไปซื้อตั๋วเอง"
นายมานิตย์ เล่าต่อว่า หลังจากซื้อตั๋วโดยสารเสร็จ ได้พาตัวเองไปยังลิฟต์เเละพบว่าประตูถูกล็อค มองหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบใครสักคน กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 5 นาที จึงตัดสินใจชกเข้าไปที่ประตูกระจก
"ผมยอมรับว่าผิด เเต่เราเรียกร้องเรื่องนี้มาหลายสิบปี ศาลปกครองก็เคยมีคำสั่งให้เราชนะ โดยสั่งให้กทม.-บีทีเอส จัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการทั้ง 18 สถานีที่ยังไม่มี ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากศาลมีคำพิพากษา เเต่นี่ผ่านมาเกือบ 3 ปีเเล้ว ยังมีไม่ครบเเละใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
นายมานิตย์ กล่าวว่า หลังจากนี้ 7 วันหากไม่มีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐเเละบีทีเอสจะขอดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล
"นายกรัฐมนตรีบอกว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะช่วยเหลือให้คนพิการดูแลตัวเองได้ เเละไม่เป็นภาระของสังคม คำถามคือกระทรวงคมนาคมทำอะไรอยู่ ถ้ายังไม่เห็นทิศทางการเคลื่อนไหว ผมจะฟ้องคมนาคม บีทีเอส เเละกทม. ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับภาครัฐ คมนาคมมาตลอด รัฐมีข้อมูลหมด เเต่ไม่เดินเรื่อง มันมีทางเเก้ได้ แต่ทำไมไม่เเก้ ผมไม่ได้มาเรียกร้องความสงสาร แค่ต้องการความเท่าเทียม"
ธีรยุท สุคนธวิท ประธานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ บอกว่า เคยมีการศึกษาร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเเล้วพบว่า งบประมาณในการติดตั้งลิฟต์ 4 จุดต่อ 1 สถานีนั้นน้อยกว่าค่าที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสียอีก เเต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนพิการรอมานานกว่า 20 ปีเเล้ว
นายสว่าง ศรีสม ตัวเเทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า ผู้บริหารบีทีเอสไม่มีจิตสำนึก ผ่านมาเเล้ว 23 ปี ยังปล่อยให้ปัญหาการเดินทางของคนพิการนั้นเรื้อรัง บริษัทสร้างกำไรในเเต่ละปีมหาศาลเเต่กลับละเลยปัญหาพื้นฐาน ความเท่าเทียมกันของมนุษย์
"ให้คนพิการจ่ายเงินขึ้นก็ได้ เรื่องนี้มันไม่ใช่เเค่เรื่องของคนพิการเท่านั้น เเต่มันหมายถึงคนทั้งสังคม เช่น ผู้คนชรา หญิงตั้งครรภ์ หากเขาเป็นภรรยาพวกคุณ คุณอยากให้เขามีความปลอดภัยในการเดินทางไหม"
ทั้งนี้นายมานิตย์ เคยระบุว่า "ลิฟต์แบบยาว" ความผิดพลาดในการออกแบบของ BTS ที่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารที่จำเป็นต้องใช้
ตั้งแต่เริ่มสร้าง BTS บางสถานีมีการติดตั้งลิฟท์
ที่เรามาพบทีหลังว่าเป็นลิฟท์แบบยาว ที่สามารถขึ้นทะลุไปได้ทุกชั้น ผลก็คือ ไม่สามารถควบคุมผู้โดยสารได้ กระทบถึงทั้งความปลอดภัยและการควบคุม จำหน่ายตั๋ว
สถานีต้องปิดลิฟท์ และเปิดเมื่อจำเป็นต้องใช้ และลิฟท์ตัวนี้ยังเป็นลิฟท์แบบเปิด(ไม่มีหลังคา) ทำให้ผู้โดยสารที่กำลังรอลิฟท์ต้องทนตากแดด ตากฝน
กดเรียก รอเจ้าหน้าที่มาเปิดลิฟท์ให้ และยังมีผลกระทบคือเจ้าหน้าที่ต้องมาคอยดูแล เปิด/ปิด ลิฟท์ตลอดเวลา
ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่เองก็มีจำนวนจำกัด
ภาพตัวอย่างนี้เป็นลิฟท์ BTS สถานีอโศก ฝั่งหน้าห้าง Terminal 21
ก็ยังดีที่จุดนี้มีลิฟท์(และทางลาด)อีก 1 ตัวอยู่ใกล้ๆ กัน สามารถขึ้นไปชั้นจำหน่ายตั๋วได้
เป็นปัญหาที่ยังรอแก้ไข และผมเชื่อมั่นว่าความผิดพลาดจากการออกแบบเพียงเท่านี้ ยังมีแนวทางที่เหมาะสม สามารถจัดการได้โดยที่ไม่ต้องปิดลิฟท์ครับ"