posttoday

ลงทุนน้อย-กำไรงาม "แมลงไทย" เตรียมบินไกลทั่วโลก

15 มีนาคม 2561

อีกหนึ่งช่องทางทำมาหากินที่ลงทุนไม่มากแต่สร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สำหรับการขายแมลงเพื่อนำไปเป็นอาหาร รวมทั้งมีโอกาสส่งออกไปขายในต่างประเทศ

อีกหนึ่งช่องทางทำมาหากินที่ลงทุนไม่มากแต่สร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สำหรับการขายแมลงเพื่อนำไปเป็นอาหาร รวมทั้งมีโอกาสส่งออกไปขายในต่างประเทศ

------------------------------------- 

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพจิ้งหรีด รถด่วน ตั๊กแตน ดักแด้ สะดิ้ง และเเมลงอื่นๆ หลากหลายชนิดมากมายสีสัน วางเรียงรายบนถาดเหล็กในตลาดสดคลองเตย แม่ค้าสาวใช้มือคว้าพวกมันหยิบใส่ถุงพลาสติก โยนลงตาชั่งตามปริมาณที่ถูกเรียกร้อง พร้อมกับเอ่ยปากบอกราคาเเละส่งมอบให้กับลูกค้า

นาทีนี้ องค์กรด้านอาหารต่างๆ ประเมินว่า แมลงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดใหม่และหลายประเทศเริ่มยอมรับการใช้แมลงเป็นเสบียงสำรองสำหรับประชากรโลกเพิ่มขึ้น เพราะคาดการณ์ว่ากันอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรโลก 1,000 ล้านคนจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งแมลงจะเป็นทางเลือกใหม่ มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่นในประเทศต่างๆ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน และอื่นๆ

จากอาหารที่ทุกคนมองเเล้วลังเลที่จะกิน เห็นเป็นเพียงของลองชิ้ม สนุกสนาน วันนี้โอกาสของเเมลงไทยเปิดกว้างไปทั่วโลก

ฟาร์มแมลงเปิดไม่ยาก แต่ไม่ง่าย

ต้นทุนค่อนข้างต่ำ การเพาะเลี้ยงที่ไม่ยาก ระยะเติบโตถึงส่งขายสั้น ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนในการเร่งการเจริญเติบโต มีความเสี่ยงน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์หรือทำการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาปริมาณน้ำจากทั้งธรรมชาติและการชลประทานที่ไม่แน่นอน กลายเป็นปัจจัยหลักๆ ให้การเลี้ยงแมลงนั้นน่าสนใจ

ไพสาร การภักดี เจ้าของฟาร์ม ลุงลาป้าน้อย ฟาร์มแมลงไทย ใน จ.ชัยนาท บอกว่า แมลงที่ได้คนไทยนิยมเลี้ยงเพื่อการพานิชย์ได้แก่ จิ้งหรีด สะดิ้ง และจิ้งโกร่ง เนื่องจากมีระยะตั้งแต่เพาะพันธุ์ไปจนกระทั่งจับขายสั้น เฉลี่ยประมาณ 35-40 วันเท่านั้น

เขายกตัวอย่างการเพาะพันธุ์จิ้งหรีดให้ฟังว่า เลี้ยงในบ่อโดยใช้ยิปซัมแผ่นเรียบ ทำเป็นทรงสี่เหลี่ยม ขนาดความกว้าง 1.2 เมตร ยาว 2.4 เมตร ได้ปริมาณจิ้งหรีดราว 15-25 กิโลกรัมต่อ 1 รอบการเลี้ยง  มีต้นทุนต่อบ่อประมาณ 400-500 บาท ขณะที่กำไรอยู่ที่ 600 – 1,200 บาทต่อบ่อและรอบการเลี้ยง ผลผลิตในแต่ละเดือนเฉลี่ยประมาณ 7,000 กิโลกรัม และคิดเป็นต้นทุนในการผลิตราว 1.8 แสนบาทต่อเดือน

“ผลผลิตขึ้นและการรักษาต้นทุนขึ้นอยู่กับความสามารถการเลี้ยง การจัดการโรค การดูแลเอาใจใส่และสูตรของแต่ละฟาร์ม”

ลงทุนน้อย-กำไรงาม \"แมลงไทย\" เตรียมบินไกลทั่วโลก จิ้งหรีด ภาพจาก ฟาร์ม ลุงลาป้าน้อย

ไพสาร บอกว่า การประสบความสำเร็จในตลาดแมลงไม่ใช่ง่าย จำเป็นต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการควบคุมหรือลดต้นทุนรวมถึงมีอำนาจในการต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง

“ไม่ได้ขายได้ง่ายๆ ทุกคนต้องมีตลาดของตัวเอง พ่อค้าคนกลางบางคนมาเล่นงานชาวบ้าน ตบซ้ายตบขวา ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวมกันเป็นกลุ่มและมีความสามารถในการต่อรองราคา หลายครั้งถูกพ่อค้ารุมกดราคา หลายคนกำหนดสเปคอาหารมากให้ชาวบ้านซื้อ และเป็นผู้กำหนดราคาซื้อขายทั้งหมด”

เขาบอกว่า หากมองข่าวสารที่ชี้โอกาสเติบโตของอาหารประเภทแมลงเพียงอย่าวเดียว อาจจะฟังแล้วดูสวยหรูจนเกินไป เนื่องจากผู้เลี้ยงจริงมักเผชิญกับปัญหาโรคภัยและการควบคุมต้นทุนจนล้มเลิกฟาร์ม 

ลงทุนน้อย-กำไรงาม \"แมลงไทย\" เตรียมบินไกลทั่วโลก

แผงค้าในตลาดกำไร 5-10 เปอร์เซนต์

ที่ตลาดคลองเตย กรุงเทพฯ อุเทน บุญธรรม พ่อค้าขายแมลงสด ที่ขายมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เล่าให้ฟังว่า ตลาดแมลงได้รับความนิยมในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2525 – 2530 เมื่อตั๊กแตนระบาดในเมืองไทย ผู้คนพากันจับมาเป็นอาหารจำนวนมาก จนกระทั่งนำไปสู่การเสาะหาแมลงประเภทอื่นๆ มากินกันอย่างแพร่หลาย  อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในช่วง 10 ปีหลังถึงปัจจุบัน แมลงได้รับความนิยมลดลง และสร้างกำไรให้กับผู้ค้าในลักษณะแผงค้าเพียง 5-10 เปอร์เซนต์ต่อกิโลกรัม จากเดิมที่ทำกำไรได้มากถึง 100 เปอร์เซนต์ โดยลูกค้าส่วนใหญ่มีสัดส่วนเป็นกลุ่มพ่อค้ารถเข็น 50 เปอร์เซนต์ ที่เหลือเป็นกลุ่มร้านค้าและบุคคลทั่วไป

"เรารับแมลงมาจากหลายๆ แห่งทั้งเกษตรกรโดยตรง พ่อค้าคนกลาง ขึ้นอยู่กันว่าที่ไหนสามารถหาแมลงชนิดนั้นๆ ได้ เมื่อก่อนแผงค้าในตลาดน้อย คนซื้อมาก ทุกวันนี้ คนซื้อน้อย แต่แผงค้าเยอะ เราพยายามรักษาฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด พ่อค้าหลายคนเลิกขายไปแล้วตามการณ์เวลา คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีคิดใครจะเปิดร้านขายแมลงทอด"

อุเทน บอกว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักและชื่นชอบแมลงทอดเหมือนในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงกลุ่มอาชีพแรงงาน สมัยก่อนเป็นผู้คนที่เดินมาจากภาคอีสานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และกลายเป็นผู้บริโภคหลักที่ซื้อหาแมลงไปรับประทาน ขณะที่ปัจจุบันแรงงานระดับล่างเป็นกลุ่มคนแรงงานต่างด้าวที่ไม่นิยมรับประทาน

“เด็กรุ่นใหม่เขาชอบชิม สนุกสนาน ไม่ได้ชอบกินเป็นประจำ เช่นกันกับพวกพ่อค้ารถเข็นเราพบว่ามีคนรุ่นใหม่เข้ามาน้อยมาก ขณะที่พวกแรงงานเมื่อก่อนเป็นกลุ่มคนอีสานเขากินกันประจำ ตอนนี้ไม่มีแล้ว แรงงานมีแต่ต่างด้าว”

ลงทุนน้อย-กำไรงาม \"แมลงไทย\" เตรียมบินไกลทั่วโลก จั๊กจั่น

จากการสำรวจราคาแมลงในตลาดคลองเตยพบว่า

ตั๊กแตน กิโลกรัมละ 300 บาท

ดักแด้หรือตัวไหม กิโลกรัมละ 100 บาท

จิ้งหรีด กิโลกรัมละ 140 บาท

แมงกระชอน กิโลกรัมละ 30 บาท

จั๊กจั่น กิโลกรัมละ 300 บาท

แมงดา ตัวละ 16 บาท

ตัวอ่อน กิโลกรัมละ 50 บาท

แมงอีนูน กิโลกรัมละ 300 บาท

แมงตับเต่า กิโลกรัมละ 240 บาท

สะดิ่ง กิโลกรัมละ 120 บาท

มดแดง กิโลกรัมละ 340 บาท

ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการจาก สถาบันวิจัยโภชนาการ (พ.ศ.2548) พบว่าจุดเด่น ของอาหารแมลงอยู่ที่ปริมาณสารอาหารกลุ่มพลังงาน โปรตีน และไขมัน สำหรับเกลือแร่ที่มีอยู่จำนวนมากได้แก่ธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ส่วนวิตามินที่พบในแมลงได้แก่วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก

ลงทุนน้อย-กำไรงาม \"แมลงไทย\" เตรียมบินไกลทั่วโลก แมลงกระชอน

 

 

ลงทุนน้อย-กำไรงาม \"แมลงไทย\" เตรียมบินไกลทั่วโลก ดักแด้หรือตัวไหม

รถเข็นกำไรงามวันละ 1,200 บาท

ฟาร์มและแผงค้าแมลงในตลาดอาจมีกำไรลดลงและเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่มากขึ้นกว่าในอดีต แต่สำหรับกลุ่มพ่อค้ารถเข็นยังคงยิ้มได้

วีระ มโนรัตน์ อายุ 42 ปี ลาออกจากพนักงานบริษัทมาซื้อรถเข็นขายแมลงทอดเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีความอยากลองทำธุรกิจเป็นสิ่งขับเคลื่อน

“ผมวิ่งขายอยู่แถวลาดพร้าวไปเรื่อย ถนนใหญ่ ในซอย ตั้งแต่ 16.00 น. – 22.00 น. มีคนกินและอยากลองกินอีกเยอะ”

วีระ ลงทุนซื้อแมลงสดวันละ 800-1,000 บาท เคยได้กำไรมากถึงวันละ 3,000 บาท ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ขณะที่ในช่วง 2 ปีหลังอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,200 บาท แมลงส่วนใหญ่แทบทั้งหมดจะขายในราคา 3 ช้อนโต๊ะ 20 บาท มีเพียงตั๊กแตนและแมงดาที่ขายเป็นตัว สำหรับเทคนิคสำคัญในการขายแมลงคือการทอด บางชนิดทอดแล้วฟู บางชนิดเหนียว และการปรุงรส

“จิ้งหรีด สะดิ่งกำไรดี เวลาไปทอดมันจะฟูขึ้น ซื้อครึ่งโล 70 บาท ขายได้ 200 กว่าบาท กำไรกว่า 3 เท่า ผมว่าขายแมลงมันมีอนาคต ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ที่ขายดีๆ คือดักแด้ ตั๊กแตนไม่พอขาย เมื่อก่อนเขารังเกียจไม่กล้ากิน ตอนนี้ไม่ใช่”

ลงทุนน้อย-กำไรงาม \"แมลงไทย\" เตรียมบินไกลทั่วโลก วีระ มโนรัตน์ พ่อค้ารถเข็น

โอกาสเปิดกว้างในตลาดโลก

ผู้ค้าแมลงทั่วไทยกำลังจะโอกาสดี เมื่อทั่วโลกนั้นเปิดกว้าง เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ยุโรปออกระเบียบเปิดรับแมลงเป็นอาหาร เพราะเห็นมีโปรตีนสูง ราคาถูก

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เผยว่า กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่ ซึ่งครอบคลุมอาหารที่ไม่เคยมีการบริโภคในอียูมาก่อนให้สามารถรับประทานได้ เช่น แมลงพื้นเมืองที่กินได้ จึงเป็นโอกาสดีของไทยที่สามารถส่งออกแมลงทอดกรอบหรือแมลงในรูปแบบการป่นเป็นแป้งเพื่อปรุงอาหารทั้งรูปแบบอาหารเสริม เครื่องดื่มและอาหารอื่นๆ จากที่ผ่านมามีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากเพื่อไม่ให้แมลงเข้าไปในประเทศ

องค์กรต่างๆ ประเมินว่า แมลงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดใหม่และหลายๆ ประเทศเริ่มยอมรับการใช้แมลงเป็นเสบียงสำรองสำหรับประชากรโลกเพิ่มขึ้น เพราะคาดการณ์ว่ากันอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรโลก 1,000 ล้านคนจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งแมลงจะเป็นทางเลือกใหม่ มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่นในประเทศต่างๆ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน และอื่นๆ

“ระเบียบใหม่เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทยจะสามารถส่งออกแมลง ปัจจุบันทั่วโลกให้การยอมรับแมลงกินได้ของไทยประมาณเกือบ 20 ชนิด เช่น ดักแด้หนอนไหม หนอนไม้ไผ่ แมงดานา ตั๊กแตน แมลงกระชอน จิ้งโกร่ง และจิ้งหรีด โดยเฉพาะตั๊กแตน สามารถขอเครื่องหมายฮาลาลได้ด้วย”

“วัฒนธรรมการบริโภคของคน หากเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราก็กินลักษณะเดียวกันคือทอด แกง  หรือพัฒนาเป็นอบกรอบ แต่ในแถบประเทศพัฒนาแล้วทุกวันนี้หลากหลาย นำเข้าทั้งลักษณะที่เป็นตัว ลักษณะผง หรือแปรรูปในลักษณะอื่นๆ เช่น ยุโรบนำเข้าพาสต้าที่มีส่วนผสมของแมลง เนื่องจากต้องการได้รับทั้งแป้งและโปรตีน ตัวอย่างนี้คือแนวทางที่ยุโรปซื้อขายกัน”

สมาคมเตรียมหารือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการจัดทำแผนส่งเสริมการส่งออกแมลงกินได้ไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลกแบบครบวงจร เพราะมั่นใจว่าในอนาคตแมลงกินได้จะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญและจะช่วยสร้างรายได้ดีแก่เกษตรกรผู้เลี้ยง

โดยที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ เริ่มมีการส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงแมลงกินได้ และการประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยอาหาร เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปได้ถูกต้อง รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แมลง เพื่อสร้างอำนาจการเจรจาต่อรองและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรป

“ในภาพใหญ่ แมลงเป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนของของโลก สามารถผลิตได้รวดเร็ว ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงไม่มาก ต้นทุนต่ำ เอสเอ็มอีทำได้  พูดง่ายๆ มีโอกาสขยายตัวได้มาก เพียงแต่ต้องไปเพิ่มความต้องการของผู้บริโภคในระยะนี้ให้มากขึ้น”

ลงทุนน้อย-กำไรงาม \"แมลงไทย\" เตรียมบินไกลทั่วโลก

ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงาน โอกาสผลิตภัณฑ์แมลงของไทย ในตลาดสหรัฐฯ พบว่า เป็นตลาดที่นิยมบริโภคแมลงสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก การบริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากความสนใจในการดูแลสุขภาพ ทำให้ตลาดมีการเติบโต 10% ต่อปี และคาดว่าจะมีมูลค่าถึงระดับ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 สำหรับแมลงที่ได้รับความนิยมบริโภค มีทั้งจิ้งหรีด รถด่วน ตั๊กแตน ดักแด้ ปลวก หนอนนก และจักจั่น

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ระบุว่า ได้นำเข้าผลิตภัณฑ์แมลงจากไทยเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ทั้งแมลงอบแห้ง และชาแมลง ส่วนใหญ่จะมีการจำหน่ายให้แก่ร้านอาหารในอเมริกา และร้านเม็กซิกัน ในเมืองชิคาโก และเมืองใกล้เคียง ผู้นำเข้าได้ให้มุมมองว่า แมลงเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายในรูปแบบสินค้า และถือว่าได้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดแมลงไปในสหรัฐฯ ที่มีทิศทางขยายตัวดี

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์เเละโอกาสของผู้ประกอบการชาวไทย