ร้องผู้ตรวจฯส่งตีความพ.ร.ป.กสม.
“3 กสม.” ใช้สิทธิส่วนตัว ยื่นคำร้องต่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ขอให้ส่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความ พ.ร.ป.กสม. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญรวม 3 ประเด็น
“3 กสม.” ใช้สิทธิส่วนตัว ยื่นคำร้องต่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ขอให้ส่ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความ พ.ร.ป.กสม. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญรวม 3 ประเด็น
รายงานข่าวสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 3 คน คือ นายวัส ติงสมิตร นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และนางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ได้ใช้สิทธิในฐานะส่วนตัว ยื่นเรื่องต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.กสม.) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า พ.ร.ป.กสม. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญรวม 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 การให้กรรมการสรรหา กสม. ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ของ พ.ร.ป.กสม. เลือกอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเป็นกรรมการสรรหา 1 คน ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง (6) เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ
ข่าวแจ้งว่า ประเด็นที่ 2 การให้ กสม. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 40 วรรคสาม อันเนื่องจาก กสม. ไม่สามารถเสนอรายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลาตาม พ.ร.ป.กสม. โดยไม่มีเหตุอันควรนั้น มีลักษณะเป็นการถอดถอน กสม. ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ และขัดต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ และประเด็นที่ 3 การกำหนดให้ กสม. ทั้งคณะซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมาโดยถูกต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ โดยที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อ้างเหตุเพื่อให้ กสม.ไทยได้กลับคืนสู่สถานะ A นอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว ในขณะเดียวกัน กรธ. ก็ไม่ยอมกำหนดความคุ้มกัน (Immunity) ไว้ใน พ.ร.ป.กสม. ทั้งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ กสม.ไทยถูกลดสถานะ
“ถือว่าเป็นการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล (Principle of Legal Certainty) ลิดรอนสิทธิที่ได้รับมาแล้วโดยชอบธรรม (Acquired Right) และยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ไม่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างเพียงพอ แม้บทเฉพาะกาลมาตรา 273 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้สามารถออก พ.ร.ป.กสม. กำหนดการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ก็ตาม แต่ไม่ใช่กำหนดให้ผู้ร่างกฎหมายสามารถเขียนอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ อันเป็นการเซ็นเช็คเปล่าให้ผู้ร่างกฎหมายสามารถกรอกข้อความได้ตามใจชอบ” หนังสือดังกล่าว ระบุ
ข่าวแจ้งว่า ในตอนท้ายของหนังสือยังระบุอีกว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินปี 2560 และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว บัญญัติให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.ทั้งสองฉบับใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมายเดิม รวมทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญปี 2561 บัญญัติให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ หรือจนกว่าหลังเลือกตั้ง ในขณะที่ประธาน กสม. และ กสม. ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีนับแต่วันที่ พ.ร.ป.กสม. ใช้บังคับ จึงเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน