posttoday

"บุพเพสันนิวาส"แฝงเบื้องลึกการเมืองยุคพระนารายณ์

30 มีนาคม 2561

“บุพเพสันนิวาส” สะท้อนพหุวัฒนธรรม แฝงเบื้องลึกการเมืองยุคพระนารายณ์

“บุพเพสันนิวาส” สะท้อนพหุวัฒนธรรม แฝงเบื้องลึกการเมืองยุคพระนารายณ์
 
เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยว่าละครเรื่อง “บุพเพสันวิวาส” ได้รับความสนใจและเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัย ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ตามรอยละครเพื่อเข้าถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทยในอดีต อาทิ การแต่งกาย การรับประทานอาหาร ทั้งยังถ่ายทอดเรื่องราวการอยู่ร่วมกันอย่างเสรีของคนไทย ชาวต่างชาติ ศาสนา คติศัทธา โดยปราศจากการรังเกียจเดียดฉันท์ ทางศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและวัตกรรมทางสังคม  สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “บุพเพสันนิวาส : ภาพสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมไทย” เพื่อถ่ายทอดการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายของทุกเชื้อชาติในสังคมไทย 

\"บุพเพสันนิวาส\"แฝงเบื้องลึกการเมืองยุคพระนารายณ์ สุเนตร ชุตินธรานนท์

ศ.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์  ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ละครที่กำลังถ่ายทอดอยู่ขณะนี้ได้ฟื้นอดีตในกรุงศรีสมัยอยุธยาขึ้นมาสร้างความน่าสนใจ แม้ว่าเบื้องลึกของข้อมูลจะมีความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่บ้าง แต่ด้วยความหลากหลายทางศิลปะ วัฒนธรรม ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ อาทิ ความหลากหลายของอาชีพ การแต่งกาย ศิลปะที่เข้ามา ภาพเหล่านี้ไม่ได้ถ่ายทอดผ่านละครออกมาทั้งหมดเพราะหากทำเช่นนั้นคงทำให้ละครยืดยาวและน่าเบื่อในทันที
 
โดยประวัตศาสตร์ข้อเท็จจริงแล้ว ในสมัยพระนารายณ์ ได้เกิดปัญหาขึ้นจากชาวฮอลันดาที่ต้องการเข้ามารุกราน ผูกขาดการค้านำไปสู่การใช้เรือปิดอ่าว จึงต้องดึงอังกฤษ และฝรั่งเศส เข้ามาเพื่อคานอำนาจของชาวฮอลันดา และเมื่อให้ความสำคัญกับฝรั่งมากเกินไป ทำให้เกิดความไม่พอใจกับขุนนางไทยเป็นที่มาของการกู้ชาติอย่างที่สะท้อนในละคร แต่แท้จริงแล้วเรื่องราวของพระนารายณ์เป็นความขัดแย้งจากภายในเป็นหลัก จึงต้องดึงคนต่างชาติเข้ามาภายในเกมนี้ด้วย เพราะเป็นการเมืองของพระนารายณ์ ที่ต้องการให้อยุธยาเป็นศูนย์รวมอำนาจเข้มแข็งที่สุด ลดทอนอำนาจของกลุ่มหัวเมืองต่างๆลง และเมื่ออยุธยาขยายตัวมากขึ้น จึงถูกจัดระบบอีกครั้งด้วยกฏหมาย เป็นการขับเคี้ยวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ จึงเป็นการต่อสู้ทางการเมืองภายใน
 
ทั้งนี้ในความเป็นพหุวัฒนธรรม ที่ฉายผ่านตัวละครมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางความคิด และการดำรงอยู่ซึ่งยังคงเป็นอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ซึ่งละครได้กระตุ้นเตือนให้สังคมเรียนรู้ถึงความหลากหลายนี้ โดยในปัจจุบันนี้มีความหลากหลายมากกว่าแต่ยังคงเป็นต้นทุนซ่อนเร้นไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ประโยชน์ เช่น วัฒนธรรม เทคโนโลยีที่ติดตัวมาจากชาวต่างชาติ ในขณะที่ประเทศไทยต้องการจะก้าวไปสู่ยุค 4.0 ยังไม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ผศ.ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ชาวฮอลันดาที่เข้ามาในอยุธยาเป็นการเข้ามาเพื่อทำการค้า มีความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง เป็นคู่ค้าและเป็นคู่แข่งด้วย มีเป้าหมายผูกขาดสินค้านำเข้า อาทิ ขนสัตว์ หนังสัตว์ ผ่านรูปแบบทางการทูต โดยในสมัยพระนารายณ์เกิดความขัดแย้งครั้งสำคัญ เมื่อฮอลันดานำเรือติดอาวุธสงครามมาปิดปากอ่าว เป็นที่มาของการใช้วิธีลงนามสนธิสัญาไทยฮอลันดาโดยให้เสรีภาพค้าขาย และอิสระภาพนอกอาณาเขตที่ไม่ต้องรับโทษตามรูปแบบของสยาม แต่ท้ายที่สุดความสัมพันธ์กลับมาดีอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

ด้าน ผช.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในยุคของพระนารายณ์ ได้มีคนแขกเข้ามาเป็นจำนวนมากถือเป็นยุคทองของมุสลิมคำว่า “ออแขก” ครั้งกรุงเก่าจึงมีชื่อเรียกมากมาย เช่น แขกจาม แขกเทศ แขกโครส่าน มีถิ่นอาศัยในอยุธยาตอนต้น ซึ่งมีการสร้างสมาคมแบ่งเป็น 4 พื้นที่ 1.จาม มลายู มักกะสัน อาศัยอยู่นอกกำแพงเมือง 2.แขกใหญ่ (เจ้าเซ็น) อยู่ภายในกำแพงเมือง 3.พราหมณ์เทศ และ4.แขกแพ อาศัยอยู่บนแพ ผสมหลายสัญชาติ ที่มีสภาพเป็นตลาดค้าขาย

อย่างไรก็ตาม คนแขกมีความสามารถด้านการเดินเรือ ทำค้าขายเก่งทำให้ไทยได้พึ่งพาอาศัยนำทูตออกติดต่อกับประเทศอื่นได้ด้วย และเมื่อมีความสามารถมากจึงได้รับเข้ารับราชการ ทำงานอยู่ในกรมอาสาจาม สิ่งเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวแขกกับอยุธยาที่กำลังต้องการสะสมพละกำลัง สร้างเมืองต่อไป
 
เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษา กล่าวว่า ปรากฏการณ์ความนิยมละครได้ข้ามพรมแดนไปสู่ประเทศในเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีน มีการแปลละครเป็นภาษาจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตามรอยละครด้วย โดยคนจีนมีความเกี่ยวข้องกับอยุธยาที่ความสัมพันธ์ด้านทูตและพ่อค้า จะเห็นได้จากในสมัยของพระนาราย มีความต้องใช้กระทะ แต่มักเป็นกระทะแบบใหญ่ไม่ใช่แบบเล็ก เนื่องจากคนจีนมีความสามารถผลิตกระทะมาก แต่ต้องสั่งทำจากจีนเพราะมีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีกว่า อีกทั้งจีนหวงแร่สำคัญจึงต้องสั่งทำเฉพาะจีนเท่านั้น
 
นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบพระพุทธูปที่แกะสลักโดยคนจีน ดังนั้นจะเห็นว่าจีนที่มาในสยามมีอาชีพหลายอย่าง เช่น ช่างแกะสลัก ตีเหล็ก ซึ่งการอยู่ของคนจีนจะอยู่กับสังคมไทย ซึมซับไปกับคนไทยเหนียวแน่น
 
สำหรับความหลากหลายที่อยุธยาได้จากคนจีน ส่วนใหญ่คือศิลปะกรรม เทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นน้ำปลา แท้จริงแล้วน้ำปลาเป็นของคนจีน ถูกนำมาใช้ในอาหารไทยและยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน แลกเปลี่ยนกับการที่คนจีนได้โอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีชีวิตอิสระในการประกอบอาชีพค้าขายเสรี

\"บุพเพสันนิวาส\"แฝงเบื้องลึกการเมืองยุคพระนารายณ์ ภวัต พนังคศิริ


ขณะที่ ภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส กล่าวว่า การทำละครนั้นได้ฉายภาพความรักของออเจ้า แต่ได้เสริมเรื่องของความศิวิไลซ์ในยุคสมัยอยุธยาเข้ามามากขึ้น รวมถึงสอดแทรกการเมืองเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเข้มข้นก่อนที่ละครจะจบ ต้องผ่านความยากลำบากในการตีโจทย์ของประวัติศาสตร์ออกมาเป็นบทละครที่ใช้ภาษาสวยงาม ทำให้นักแสดงเล่นบทได้ยาก และต้องสร้างบ้านเรือนในอดีตที่มีเพียงภาพไม่กี่ภาพให้ออกมาเป็นเมืองที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด โดยต่อจากนี้จะถือเป็นบทเรียนสำคัญในการทำละครเรื่องต่อไปให้เข้มข้นด้านเนื้อหาทางประวัติศาสตร์มากขึ้นอีกด้วย