posttoday

"เบรลล์บล็อก" ทางเดินคนตาบอด อย่าปล่อยให้เมืองทำคนพิการ

05 เมษายน 2561

เมื่อเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางได้อย่างสะดวกสบายกลับกลายเป็นตัวปัญหาที่อาจนำไปสู่อันตราย

เมื่อเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางได้อย่างสะดวกสบายกลับกลายเป็นตัวปัญหาที่อาจนำไปสู่อันตราย

--------------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางได้อย่างสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เรียกว่า เบรลล์บล็อก (Braille Block) แผ่นปูพื้นนำทางที่ถูกติดตั้งบนทางเท้าทั่วกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตามการก่อสร้างที่ขาดความรู้ ความเอาใจใส่ รวมถึงความไร้มืออาชีพกำลังเปลี่ยนแปลงความสะดวกและความเสมอภาคในการใช้สอยพื้นที่ของคนพิการไปสู่อันตราย

เมืองทำให้คนพิการ

เบรลล์บล็อก ถูกคิดค้นโดย Seiichi Meyaki ครูโรงเรียนตาบอดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น โดยมีการนำมาใช้จริงครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ปีคริสต์ศักราช 1967 หน้าโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองโอกายาม่า มีหน่วยงานการรถไฟของประเทศญี่ปุ่นให้ความเห็นชอบและสนับสนุนการจัดทำขึ้น โดยจัดให้มีการปู Braille Block ตามสถานีรถไฟในญี่ปุ่น และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งทั่วโลกให้ความสำคัญและนำมาใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
สัญลักษณ์บนทางเท้าของผู้พิการที่น่าสนใจมี 2 แบบ

แบบที่ 1 ลักษณะเป็นปุ่มกลม มีความหมายว่า ให้หยุด หรือ แจ้งให้ทราบว่าทางข้างหน้ามีวัตถุหรือพื้นที่กำลังถูกเปลี่ยนแปลง เช่น เป็นทางม้าลาย หรือ บันได

แบบที่ 2 ลักษณะเป็นเส้นยาวลายตรง มีความหมายตรงตามสัญลักษณ์ คือ ให้เดินตรงไป

\"เบรลล์บล็อก\" ทางเดินคนตาบอด อย่าปล่อยให้เมืองทำคนพิการ ภาพจาก livejapan.com

แอดมินเพจเฟซบุ๊ก The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า บอกว่า ไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจึงต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกควรคำถึง "การเข้าถึง ความสะดวก ความปลอดภัย" ของคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกายอย่างเท่าเทียม มิใช่ส่งเสริมให้เมืองทำให้คนพิการและเกิดความไม่ปลอดภัยกับประชาชน

“อุปสรรคในการก่อสร้างทางเท้าที่ดีคือหน่วยงานราชการ ที่ผ่านมามักโทษความผิดให้กับสาธารณูปโภค สภาพแวดล้อมในพื้นที่และประชาชน ละเลยมาตรฐานการทำงาน ขาดความใส่ใจทำให้ผลงานที่ออกมามีสภาพอย่างที่เห็น แผ่นกระเบื้องผุผัง ทางเท้าแตก ไม่เรียบเนียน ขณะที่เบรลล์บล็อกก็ติดตั้งได้อย่างน่าผิดหวัง ประเทศอื่นๆ สามารถทำดีได้ ทำไมบ้านเราจะทำไม่ได้”

\"เบรลล์บล็อก\" ทางเดินคนตาบอด อย่าปล่อยให้เมืองทำคนพิการ

ความเสมอภาคคือสิ่งสำคัญของมนุษย์

ข้อมูลเมื่อเดือน ส.ค. 2560 จากกรมส่งเสริมเเละพัฒนาคุณภาพชีวิต ระบุว่าประเทศไทยมีผู้พิการทางการมองเห็นอยู่ 186,639 คน แบ่งเป็นชาย 88,342 คน หญิง 98,297 คน ในกรุงเทพฯ มีผู้พิการทางการมองเห็นอยู่ 4,062 คน ส่วนภาคที่มีผู้พิการลักษณะดังกล่าวมากที่สุดคือภาคอีสาน 105,843 คน

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เคยทดสอบเดินตามเบรลล์บล็อกในหลายพื้นที่ และก็ต้องเฉี่ยวชนเข้ากับต้นไม้และเสาไฟฟ้า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เขาอดคิดไม่ได้ว่า เป็นเพราะหน่วยงานรัฐต้องการงบประมาณหรือเพียงแค่อยากแสดงออกโดยไม่คำนึงถึงการใช้งานที่แท้จริง

“บางคนบอกว่าสร้างเพื่อคนพิการนั้นได้ราคาดี ทำสัญญาได้งบประมาณสูงขึ้น แต่ผมไม่อยากใส่ร้ายใคร อีกข้อที่ผมมองคือ ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการก่อสร้างไม่มีความเป็นมืออาชีพ อาจจะเป็นวัฒนธรรมไทยก็ได้คือทำเพื่อโชว์ ให้รู้ว่าบ้านเมืองกูมีแล้ว ส่วนใช้ได้หรือเปล่าเป็นเรื่องของพวกตาบอดมัน โม้ได้ แต่เท่าที่ทราบไม่ค่อยมีคนตาบอดประทับใจ”

ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ บอกว่า ด้วยสภาพพื้นที่และความพร้อมในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องสร้างเบรลล์บล็อกที่เป็นลักษณะไกด์บล็อกใช้นำเส้นทางเดิน ขอเพียงแค่ลักษณะแจ้งเตือนหรือ warning Block ให้ถูกต้องมีมาตรฐานก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการตาบอดอย่างมากแล้ว เช่น เตือนว่าข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง มีสัญญาณไฟแดง มีสำนักงาน ต้นไม้ จุดขึ้นลงบันได เป็นต้น

การมองปัญหาคนและเมือง จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ

“ปัญหาของทุกคนไม่เฉพาะแค่คนพิการ มีอยู่สองเรื่องใหญ่ คือการได้โอกาสพัฒนาความสามารถเต็มตามศักยภาพ และการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม หากใครขาดสองตัวนี้ไป จะตกอยู่ในสภาวะลำบาก คนพิการขาดสองสิ่งนี้หนักมาก ทำให้เราเหนื่อย เดือดร้อนจนบางคนหงุดหงิด

ถ้าได้สองสิ่งนี้เราก็จะอยู่ในประเทศได้อย่างมีความสุข ต่างประเทศเขาถือเรื่องความเสมอภาคมาก ถ้าไม่เท่ากันเมื่อไหร่เขาถือว่าเลือกปฎิบัติ แต่เมืองไทยเราชิน ไม่เคยเชื่อว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เพราะบ้านเราอยู่ในระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยม”

\"เบรลล์บล็อก\" ทางเดินคนตาบอด อย่าปล่อยให้เมืองทำคนพิการ ภาพจาก RocketNews24

\"เบรลล์บล็อก\" ทางเดินคนตาบอด อย่าปล่อยให้เมืองทำคนพิการ ภาพทางเท้าภายในซอยพหลโยธิน 11 ก่อนที่ล่าสุดจะได้รับการปรับปรุงเเล้ว

กทม.ต้องรอบคอบ-ใส่ใจมากกว่าเดิม

สัปดาห์ก่อนเบรลล์บล็อกบริเวณซอยพหลโยธิน 11 หรือย่านอารีย์ ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากโลกออนไลน์ เนื่องจากมีการวางตำแหน่งผิดพลาดจนอาจนำไปสู่อันตราย

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า ความผิดพลาดในการก่อสร้างเบรลล์บล็อกเกิดจากความไม่รอบคอบในการสร้างและตรวจรับงาน อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น กทม. ได้สั่งให้บริษัทผู้รับงานดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

“ขั้นตอนมีอยู่แล้ว แรกเริ่มตอนเราไปเซ็นสัญญากับบริษัทผู้สร้างก็ต้องตกลงกันทำตามรูปแบบ ถ้าทำไม่ถูก ผู้ควบคุม ผู้ตรวจรับงานห้ามเซ็นรับเด็ดขาด แม้พื้นที่กทม.หลายแห่งมีอุปสรรคมากมายก็จริง แต่เมื่อตัดสินใจทำแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จถูกต้อง” จักกพันธุ์บอก “เมื่อเกิดปัญหาเราโทษใครไม่ได้ นอกจากกทม.เอง ที่ปล่อยให้เกิดเรื่องผิดพลาด”

รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า ในการพัฒนาทางเท้า กทม.พยายามให้ความสำคัญกับผู้พิการอย่างเต็มที่ตามสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ขณะที่ข้อสงสัยเรื่องการใช้งบประมาณ ชี้แจงว่าราคาอุปกรณ์ทุกอย่างมีมาตรฐานและมีหลักเกณฑ์ควบคุม

“หลักการคือพยายามมีเบรลล์บล็อกให้ได้ทุกพื้นที่ เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการมากที่สุด เพียงแต่ขนาด และรูปแบบในการติดตั้งอาจจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เราพยายามสร้างเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้ทางเท้าร่วมกันได้”

\"เบรลล์บล็อก\" ทางเดินคนตาบอด อย่าปล่อยให้เมืองทำคนพิการ ภาพทางเท้าภายในซอยพหลโยธิน 11 ก่อนที่ล่าสุดจะได้รับการปรับปรุงเเล้ว

-----

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://www.bagindesign.com/braille-block/

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า