posttoday

มหิดลสู่มหา'ลัยโลก ชูปณิธาน ปัญญาของแผ่นดิน

22 เมษายน 2561

"เราอยากทำให้มหา'ลัยเป็น Smart University ใช้เทคโนโลยีสู่การเรียนการสอนให้เต็มพื้นที่ เราจะติดปีกเทคโนโลยีให้นักศึกษา"

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่งก่อตั้งได้เพียง 49 ปี แต่กลับพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถีบตัวขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ผลิตงานวิจัยติดอันดับโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี้จากการจัดอันดับขององค์กรด้านการศึกษานานาชาติหลายแห่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวมหิดลเป็นอย่างยิ่ง

"เราอยากทำให้มหา'ลัยเป็น Smart University ใช้เทคโนโลยีสู่การเรียนการสอนให้เต็มพื้นที่ เราจะติดปีกเทคโนโลยีให้นักศึกษา เพราะถ้าไม่ทำมันก็เหมือนไปกักตัวเขา 4-6 ปีให้อยู่ในโลกที่ล้าหลังเหมือนไดโนเสาร์ ฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ เราต้องสร้างบรรยากาศการขับเคลื่อนเทคโนโลยีขับเคลื่อนโลกปัจจุบันและมุ่งให้เขาไปสู่อนาคตโดยไม่ล่าช้า"

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล บอกถึงความมุ่งมั่นที่จะนำพามหาวิทยาลัยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ มุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ขานรับนโยบาย ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0

"ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บิล เกตส์ สตีฟ จ็อบส์ ไม่ได้จบมหา'ลัย สิ่งที่เขาทำ ล้วนอยู่นอกมหา'ลัยทั้งสิ้น ดังนั้น เราต้องกลับมาคิดด้วยว่า การเรียนในระบบมหา'ลัยมันขาดอะไรถึงทำให้คนที่เรียนนอกระบบมหา'ลัยถึงไปจุดสูงสุดได้ คงเพราะ

แนวคิดของเขาที่ต้องการทำให้ถึงเป้าหมาย อาจต้องลองผิดลองถูก สิ่งเหล่านี้บางครั้งการเรียนที่เป็น แบบเก่าอาจไม่ได้เตรียมการไว้เพราะไม่ได้สัมผัส กับการแก้ปัญหาจริงแบบลองผิดลองถูก"

ศ.นพ.บรรจง ได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของสถาบันการศึกษาอันดับต้นของประเทศ หลังจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปีที่ผ่านมาที่มี นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เขาในฐานะรองอธิการบดี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่จากคุณสมบัติ และความรู้ ความสามารถ แม้ว่าปัจจุบันยังติดขัดในขั้นตอนการแต่งตั้งให้มีผลสมบูรณ์ แต่ ศ.นพ.บรรจง บอกว่า ไม่หนักใจ และพร้อมเป็นผู้นำติดอาวุธทางปัญญาให้นักศึกษาได้ออกไปพัฒนาสังคม

ศ.นพ.บรรจง เติบโตและเป็นลูกหม้อมหิดล จบปริญญาตรี ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 12 ปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำงานบริหารมาครบตั้งแต่ผู้ช่วยคณบดี รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและรักษาการแทนอธิการบดีมหิดล เป็นหมอกระดูกที่มีชื่อเสียงของประเทศ ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นมากมาย รวมถึงบุคลากรดีเด่น และศิริราชเชิดชูเกียรติ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อไม่กี่ปีมานี้

"มันไม่ได้เรียกว่า หนักใจ เพียงแต่ว่า เราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าตำแหน่งที่เราเดินทางมาก่อนหน้านี้ ในฐานะที่เคยเป็นรองอธิการบดีก็มีความรับผิดชอบอีกแบบ แต่วันนี้เรามาเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กรในรูปแบบของอธิการบดี แต่สิ่งที่มหา'ลัยเป็นอยู่ขณะนี้มันไม่ได้ขับเคลื่อนโดยอธิการบดีเพียงลำพัง แต่ขับเคลื่อนด้วยคนทั้งองค์กรเป็นลักษณะเมทริกซ์"

การปรับเปลี่ยนของมหิดลเข้าสู่โลกยุคใหม่ ศ.นพ.บรรจง บอกด้วยว่า การปรับโครงสร้างของหลักสูตรต่างๆ มีความจำเป็นมากเพื่อตามเทรนด์โลกและนโยบายภาครัฐ มหิดลจะขยายหลักสูตรเกี่ยวข้องกับบิ๊กดาต้า ศาสตร์เรื่องรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รวมถึงไอซีที ขณะเดียวกันต้องค่อยๆ ลดหลักสูตรในส่วนอาชีพที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเน้นผลิตบัณฑิต ด้านแพทย์เป็นหลักเกือบครึ่งซึ่งเป็นอาชีพเฉพาะทาง ที่ยังจำเป็นกับประเทศอยู่มาก

มหิดลสู่มหา\'ลัยโลก ชูปณิธาน ปัญญาของแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามหิดลจะพัฒนาไปทางใด ยังจะปลูกฝังเจตคติ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม กิจกรรม อาสาสมัครต่างๆ รวมทั้งการอยู่รอดในโลกใบนี้ เช่น ลดคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เป็น Green University และจะเป็นมหา'ลัยหลักที่นำเรื่องสุขภาวะที่เหมาะสม ไม่มีการสูบบุหรี่ ไม่มีการบริโภคน้ำเมา ไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศ ไม่มีการพนัน ซึ่งเครือข่ายมหา'ลัยในอาเซียน กำหนดไว้บทหนึ่งว่า มหิดลได้เป็นผู้นำเรื่องสุขภาวะด้านอาหารและการบริโภคด้วย

"ตอนนี้ก็เป็นช่วงปลายทางของผม ที่ผมจะพาคนในองค์กรสร้างคุณประโยชน์กับประเทศชาติ ผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ เป็นคนดี คนเก่ง ตามวัตถุประสงค์ของมหา'ลัยและปณิธานของเรา ให้เป็นปัญญาของแผ่นดินอย่างเต็มศักยภาพ" ศ.นพ.บรรจง กล่าวหนักแน่น

สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่มหิดลติดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยคุณภาพ ทำขึ้นจากหลายองค์กรชั้นนำ เช่น Center for World University Rankings ได้จัดอันดับสถาบันการศึกษาประจำปี 2560 จากสถาบันอุดมศึกษากว่า 27,770 แห่ง ใน 61 ประเทศ มหาวิทยาลัยไทย 3 แห่ง มีคะแนนติดอันดับอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยคุณภาพ 1,000 แห่งแรกของโลก ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์ มหิดล เชียงใหม่

ขณะที่เว็บไซต์ www.usnews.com จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 1,000 แห่งจากทั่วโลก ประจำปี 2561 มหิดล ถูกจัดอันดับอยู่ที่ 509 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยโดยเฉพาะด้านสาขาการแพทย์

ศ.นพ.บรรจุ กล่าวว่า การจัดอันดับต่างๆ มีผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องหลายส่วนมาก และมีวิธีการคำนวณคะแนนต่างๆ ที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น การเรียนการสอน งานวิจัยที่ออกมาถูกอ้างอิงมากแค่ไหน มีนักศึกษาไปทำชื่อเสียงอย่างไร ผลงานของมหาวิทยาลัยทำคุณประโยชน์ต่อโลกใบนี้อย่างไร และชื่อเสียงในภาพรวม รวมถึงดูส่วนประกอบอื่นๆ เช่น ถ้าอาจารย์มีจำนวนมากพอต่อจำนวนนักเรียน การเรียนการสอนน่าจะมีคุณภาพ

มหิดลสู่มหา\'ลัยโลก ชูปณิธาน ปัญญาของแผ่นดิน

นอกจากนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนดี ก็ควรมีนักเรียนต่างชาติมาเรียน หรืออาจารย์ต่างชาติมาสอน ก็จะได้คะแนนส่วนนี้ ไปด้วย มหาวิทยาลัยในไทยมีข้อด้อยตรงที่เรา สอนหลักสูตรเป็นภาษาไทย โอกาสที่นักเรียน ต่างชาติจะมาเรียนไม่เยอะ ขณะเดียวกัน วิชาทางการแพทย์ของมหิดล หากเปิดโควตาให้นักเรียนต่างชาติมานั่งเรียนก็คงถูกวิจารณ์ว่า ทำไมเอาพื้นที่ไปให้ต่างชาติ ขณะที่คนไทยหลายคนไม่มีที่เรียน แต่มหิดลมีโอกาสตรงที่มีโปรแกรมอินเตอร์เนชั่นแนลเข้มข้นเยอะ แล้วก็มีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนในระดับบัณฑิตศึกษามากพอสมควร จึงมีทั้งข้อได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องการให้คะแนนจัดอันดับ

นอกจากนั้น ยังดูว่ามีคนให้ทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะถือว่ามหาวิทยาลัยใดหากจะเป็นชั้นนำจะมีลักษณะรัฐบาลให้ทุนหรือไปแข่งขันมาได้ทุนมาเยอะ หรือภาคเอกชนยินดีให้ทุน ถ้าได้ทุนมาก แสดงว่า มหาวิทยาลัยมีคนสนใจมาก แสดงว่า คุณภาพของงานวิจัยก็น่าจะเป็นชั้นนำด้วย

"ในโซนอาเซียนปัจจุบัน มหิดลเป็นเบอร์ 4 อันดับ 1 มหาวิทยาลัยนานาชาติสิงคโปร์ 2.นันยาง 3.มาลายา 4.มหิดล ส่วนประเทศไทยคะแนนภาพรวมผมถือว่า มหิดลก็ยังเป็นเบอร์ 1 จุฬาฯ ที่ 2 แต่เราไม่ได้แยกย่อยระดับสาขา เพราะในมหิดลเปิดบางสาขา ขณะที่จุฬาฯ มีหลาย สาขา เช่น บัญชี รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เรามีแค่แพทย์ ทันตะ เภสัช ซึ่งมหิดลมีความเข้มข้นเรื่องพวกนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ้าดูเฉพาะเรื่องเกษตร เขาเป็นลำดับต้นๆ ของโลกหรือ 1 ใน 50 ของโลก แต่ถ้าคะแนนรวมจากทุกเรื่องอาจจะลดลง ดังนั้น ถ้าสำรวจการมี ชื่อเสียงในไทย จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบกว่ามหิดล ขณะที่มหิดลเพิ่งกำเนิดมาแค่ 49 ปี" ศ.นพ.บรรจุ กล่าว