กล้อง "เลนเชนจ์" เห็นผล ไหลลื่น ลดอุบัติเหตุ
สำรวจผลลัพธ์จากการติดตั้งกล้องตรวจจับรถเบียด-ปาด-แทรก คอสะพาน-อุโมงค์ 15 จุดทั่วกรุงเทพฯ
สำรวจผลลัพธ์จากการติดตั้งกล้องตรวจจับรถเบียด-ปาด-แทรก คอสะพาน-อุโมงค์ 15 จุดทั่วกรุงเทพฯ
**************************
โดย....กันติพิชญ์ ใจบุญ
การติดตั้งกล้องวงจรปิดของกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อตรวจสอบบันทึกภาพผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายจราจรโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเปลี่ยนเลนในที่ห้าม กล้องทั้ง 15 จุดกระจายไปอยู่ในจุดที่มีรถจำนวนมาก และมุ่งเน้นไปที่ทางขึ้นสะพานข้ามแยก ทางลงอุโมงค์ลอดทางแยก และการเปลี่ยนเลนก็สร้างปัญหาต่อกระแสจราจร ส่งผลให้ท้องถนนติดขัดอย่างหนัก
นัยของความผิดการเปลี่ยนเลนครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าตำรวจจราจรเมืองหลวงค่อนข้างเอาจริง เพราะนับตั้งแต่เปิดกล้องทดลองกันไปตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ยอดผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนปาดเบียด แซงในเส้นทึบ พุ่งไปหลายหมื่นคัน และต้องมาเสียค่าปรับรายละ 1,000 บาท
ปัญหาดังกล่าวถูกคาดหวังจากกล้องวงจรปิดว่า จะช่วยให้การจราจรของกรุงเทพฯ ดียิ่งขึ้น และยิ่งตอกย้ำจาก พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร สะท้อนภาพปัญหาว่า นับตั้งแต่วันแรกที่ปูพรมเอาจริงกับการบังคับใช้กฎหมายเปลี่ยนเลนคือ วันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา 1 เดือนผ่านพ้นไปหมาดๆ กล้องสามารถบันทึกภาพรถที่ทำผิดได้ประมาณถึง 1 หมื่นคัน/วัน แต่จำนวนนี้สามารถออกใบสั่งได้ประมาณ 1,800 คัน/วันเท่านั้น สาเหตุเพราะกรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้ตำรวจเข้าตรวจสอบข้อมูลทะเบียนรถในแง่งานจราจรทั่วประเทศได้ 6 หมื่นคัน/วัน ซึ่งก็กำลังแก้ไขระบบกันอยู่ และเสร็จสิ้นแล้วจะสามารถตรวจสอบรถได้ถึง 2 แสนคัน/วัน และน่าจะครอบคลุมทุกการกระทำความผิดได้
ที่น่าสนใจจากข้อมูลของ พ.ต.อ.กิตติ บอกเล่าว่า ยอดผู้กระทำความผิดหายไปจากถนนราว 30% หรือเป็นตัวเลขจากเดิมที่เราจับภาพผู้กระทำความผิดเปลี่ยนเลนได้ราว 2.7-3 หมื่นคัน เหลือราว 2 หมื่นคันนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.เป็นต้นมา เรียกว่าประชาชนค่อนข้างปรับตัว และระมัดระวังการกระทำความผิดมากขึ้น
“เราประเมินผ่านตัวชี้วัด 3 ด้านว่า กล้องทำงานได้ผล คือ การลื่นไหลของจราจร การฝ่าฝืนลดลง และอุบัติเหตุไม่เกิดขึ้น ซึ่งผลลัพธ์หลังการบังคับใช้ไปในทิศทางที่ดีอย่างมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่เราจับปรับด้วยเช่นกัน ยอดการกระทำผิดของรถจักรยานยนต์ลดลงตามไปด้วยหลังการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น”
พ.ต.อ.กิตติ ให้ภาพว่า กล้องที่จับภาพผู้กระทำความผิดในส่วนรถจักรยานยนต์จะเป็นการจับภาพเฉพาะทะเบียน หรือด้านหลังรถจักรยานยนต์เท่านั้น จึงไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแต่อย่างใด ส่วนผู้กระทำผิดรายอื่นๆ นั้น ขณะนี้ บก.จร.กำลังทยอยส่งใบสั่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนรถเพื่อให้มาจ่ายค่าปรับ หากฝ่าฝืนหรือเพิกเฉยไม่อาจต่อทะเบียนได้
“ประเด็นการต่อทะเบียนรถยนต์ หรือเสียภาษีประจำปี ขณะนี้ทราบว่ากรมการขนส่งทางบกกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เชื่อมโยงกับระบบบันทึกผู้กระทำความผิดของ บก.จร.อยู่ และคาดว่าระบบจะสมบูรณ์ในระยะเวลา 2 เดือนข้างหน้า ต่อไปหากใครไม่ชำระค่าปรับเมื่อไปต่อทะเบียน ระบบจะขึ้นแจ้งทันทีว่าต้องชำระค่าปรับก่อนถึงจะต่อทะเบียนได้ แต่หากปฏิเสธค่าปรับในขณะนี้ กรมการขนส่งทางบกจะออกใบทะเบียนชั่วคราวอายุ 30 วันให้ และให้ต้องชำระให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด” พ.ต.อ.กิตติ ย้ำ
รอง ผบก.จร.ฉายภาพอนาคตอีกว่า จากนี้จะเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการกับผู้ที่กระทำความผิดจราจรมากกว่าการใช้ตำรวจจราจรเข้าไปบังคับ โดยเฉพาะในทุกกรณีความผิดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ขับขี่และตำรวจ ลดการทุจริต อีกทั้งเทคโนโลยีสามารถทำงานแทนตำรวจได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเราจะเอากำลังพลไปช่วยเหลือประชาชน และดูแลสภาพการจราจรจะมีประโยชน์กว่า
อีกด้านกับปัญหาจราจรของกรุงเทพฯ ความเห็นของ ปนัดดา ชำนาญสุข นักวิชาการศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหาจราจร สะท้อนไว้น่าสนใจว่า เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานจราจรแทนที่กำลังพล เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าตำรวจจราจรเมืองกรุง ไม่เพียงพอที่จะควบคุมพฤติกรรมฝ่าฝืนวินัยจราจรของผู้ขับขี่ อีกทั้งการใช้กล้องมาจับผิด สร้างแนวโน้มตามหลักจิตวิทยาให้ผู้ขับขี่ไม่กล้ากระทำความผิด เพราะรู้สึกว่าโอกาสจะรอดพ้นความผิดมีน้อย ซึ่งเทคโนโลยีตอบสนองกับเรื่องนี้ได้ดี
อีกทั้งความถี่การทำงานของระบบเทคโนโลยีไม่มีการผ่อนปรนให้ผู้กระทำความผิด คนทำผิดกฎหมายจะไม่มีสิทธิมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้พ้นผิด นั่นเท่ากับลดการเผชิญหน้า ลดการมีอคติระหว่างตำรวจและผู้ขับขี่ลงไปได้
“มันจะนำไปสู่พฤติกรรมบนท้องถนนที่ดีขึ้น แต่หากจะติดตั้งต่อไปในจุดอื่นๆ นอกเหนือทั้ง 15 จุด ตำรวจควรคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่โดยใช้หลักการป้องกันอุบัติเหตุมากกว่าการไหลลื่นของกระแสจราจร สำคัญอย่างมาก อีกทั้งผลวิจัยยังระบุชัดเจนว่าการเปลี่ยนเลนกะทันหัน การปาดหน้ากันทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงกว่าเมาแล้วขับ และเมื่อชนกันก็เป็นปัญหารถติดตามมา”
ปนัดดา เสริมอีกว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการปัญหาจราจรไม่ควรหยุดอยู่เพียงแค่กรุงเทพฯ เพราะในหัวเมืองใหญ่ หรือแม้แต่เมืองรองอุบัติเหตุยังคงเกิดขึ้นมากซึ่งสาเหตุมาจากพฤตินิสัยของผู้ขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจร กอปรกับมีถนนที่ดี กว้าง ยิ่งทำความเร็วกันมากขึ้น เมื่อมีอุบัติเหตุจึงเป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญคือในส่วนแบ่งค่าปรับที่นำส่งท้องถิ่น
เพื่อเป็นงบในการช่วยแก้ไขปัญหานั้น ทุกวันนี้ยังไม่พบว่าถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างจริงจัง ทั้งที่ควรจะนำเงินส่วนนั้นมาช่วยชีวิตประชาชนบนท้องถนนและรัฐบาลต้องตระหนักเรื่องนี้