อ.วิศวะ จุฬาฯ วิเคราะห์ต้นเหตุระบบอาณัติสัญญาณ "บีทีเอส" ขัดข้อง
ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน วิเคราะห์สาเหตุเเละปัญหาระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถบีทีเอสขัดข้อง
ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน วิเคราะห์สาเหตุเเละปัญหาระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถบีทีเอสขัดข้อง
กรณีรถไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้งจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่พอใจจากผู้โดยสารไปทั่วสังคม โดยบีทีเอสเเถลงว่า สาเหตุเกิดจากรถไฟฟ้าถูกคลื่นสัญญาณวิทยุจากตึกสูงในเเนวเส้นทางรถไฟฟ้ารบกวน ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถขัดข้อง
ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สาเหตุเเละปัญหาดังกล่าวเป็นลำดับว่า
1. ประเทศไทยไม่เคยมีการสงวนช่องสัญญาณวิทยุสำหรับกิจการขนส่งทางราง กสทช. ไม่เคยกำหนดมาตรฐานไว้เป็นเรื่องเป็นราว แต่เคยมีให้ไว้แบบคร่าวๆ เมื่อปีที่แล้ว น่าจะมีการร้องขอสำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน (ซึ่งจีน adopt ETCS มาเป็น CTCS ~ China Train Control System) ไม่ใช่สำหรับรถไฟฟ้าในเมือง
"ประเด็นนี้ ขอให้ศึกษาเรื่องมาตรฐาน ETCS (European Train Control System) รวมทั้ง CTCS และ GSM-R"
1.1 ในยุโรป มีการสงวนช่องสัญญาณความถี่ไว้เพื่อการขนส่งทางราง
Uplink: 876–880 MHz used for data transmission
Downlink: 921–925 MHz used for data reception
1.2 ในจีน มีการสงวนช่องสัญญาณความถี่ไว้เพื่อการขนส่งทางราง
Uplink: 885–889 MHz
Downlink: 930–934 MHz
1.3 ในไทย ยังไม่มีการสงวนช่องสัญญาณไว้อย่างชัดเจน แต่มีประกาศของ กสทช. เมื่อเดือน กรกฎาคม 2560 (เข้าใจว่าสืบเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน) ดังนี้
"ที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติให้ใช้งานคลื่นความถี่ 800/900 MHz และ 400 MHz สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวภายในไม่เกินปี พ.ศ. 2563 ซึ่งหากไม่มีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว เงื่อนไขการอนุญาตก็ให้สิ้นผลไป อนึ่งคลื่นความถี่ 800/900 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561 ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 400 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ปัจจุบันใช้งานทางด้านวิทยุสื่อสาร"
ประเด็นในข้อ 1. นี้ จึงน่าจะย้อนกลับไปหา กสทช. และกระทรวงคมนาคม ที่ควรพิจารณาให้ความสำคัญกับเรื่องช่วงความถี่เฉพาะสำหรับกิจการขนส่งทางราง กำหนดมาตรฐานระบบขนส่งทางรางไทย
2. โดยทั่วไป รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจะควบคุมการเดินรถด้วย "ระบบอาณัติสัญญาณ" ซึ่งต้องใช้คลื่นวิทยุในการสื่อสาร และจากข้อ 1. ความที่ไม่เคยมีการกำหนดมาตรฐานนี้ในประเทศไทย ก็สุดแล้วแต่ว่าผู้ให้บริการจะจัดหาระบบมาดำเนินการอย่างไร
3. ตั้งแต่ปี 2552 บริษัท BTS ใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบริษัท Bombardier ซึ่งเป็นระบบอาณัติสัญญาณแบบ Communication Based Train Control หรือ CBTC โดยจะใช้สัญญาณ WiFi 2.4 GHz (หรือ 2400 MHz) และ Balise ในการสื่อสารระหว่างระบบกับขบวนรถ
4. ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป ค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์บางเเห่งได้เปิดใช้งานคลื่น 2300 MHz ใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และ ขอนแก่น โดยในช่วงแรกเน้นพื้นที่ใจกลางเมือง แหล่งธุรกิจสำคัญ ศูนย์การค้า
5. จากข้อ 4. แปลว่ามีความเป็นไปได้ว่าตั้งแต่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นต้นมาระบบอาณัติสัญญาณของ BTS เริ่มถูกรบกวนจากคลื่นโทรศัพท์ของค่ายดังกล่าว
6. อุปกรณ์ Wifi สามารถถูกรบกวนได้จากโทรศัพท์ไร้สายที่ใช้คลื่นความถี่ 2.4 GHz หรือ 5 GHz สามารถรบกวนการส่งสัญญาณของอุปกรณ์ไร้สายหรือเครือข่ายในขณะใช้สาย
7. BTS ออกแถลงการที่ระบุว่า
"ส่วนสาเหตุของการขัดข้องวันนี้ เบื้องต้นมาจากปัญหาระบบอาณัติสัญญาณถูกคลื่นวิทยุสื่อสารรบกวน การแก้ไขมี 2 ทางเลือกคือใช้ระบบแมนวล (manual) แทน กับการหยุดเดินรถทั้งระบบ ซึ่งบีทีเอสเลือกการปรับระบบจากเดินรถอัตโนมัติมาเป็นเดินรถแบบแมนนวล จึงทำให้เกิดผลกระทบดังกล่าว"
การเปลี่ยนมาใช้เป็น manual ก็เลยกลายเป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนในวันนี้