"หมอหม่อง" อธิบายเรื่อง "น้ำในถ้ำมาจากไหน"
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ให้ความรู้เรื่อง "น้ำในถ้ำมาจากไหน"
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ให้ความรู้เรื่อง "น้ำในถ้ำมาจากไหน"
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ "หมอหม่อง" อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความรู้เรื่อง "น้ำในถ้ำมาจากไหน"
เนื้อหาทั้งหมดระบุว่า
น้ำในถ้ำมาจากไหน
———
บ่อยครั้ง เวลาเราไปเที่ยวถ้ำ
เรามักพบว่า ที่ปากถ้ำ มีลำธารไหลออกมา
เราอาจสงสัยว่า ธารน้ำไหลมาจากไหน
ถ้ำบางถ้ำ นั้น แม่น้ำไหลทะลุผ่าน (ธารลอด)
แต่บางถ้ำ เราเห็นแต่ธารน้ำไหลที่ออกมา โดยไม่พบทางเข้า ไม่รู้ว่าต้นตอน้ำมาจากไหน
ความลับอยู่ ที่ลักษณะเฉพาะของเขาหินปูนที่เป็นแหล่งพบถ้ำครับ
เวลาเราไปเดินป่า ในเขาหินปูน
นักเดินป่าจะทราบดีว่าต้องขนน้ำติดตัวไปเองให้เพียงพอ จะไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้
ทั้งนี้เพราะ ลำธารหรือแหล่งน้ำ บนเขาหินปูน นั้นหายากมากๆ
เหตุเพราะ หินปูน นั้นเมื่อถูกน้ำฝนที่รวมตัวกับ CO2 ในดิน เกิดเป็นกรดคาร์บอนิค ก็จะกัดเซาะละลาย กลายเป็นโพรง เล็กใหญ่ ต่อเนื่องตามการไหลของน้ำได้โดยง่าย
น้ำฝนที่ตกบนเขา จึงไม่สามารถเก็บขังอยู่บนผิวพื้นภูเขา แต่ไหลซึมลงไปผ่าน ช่องโหว่ หรือ sink hole ที่มีอยู่มากมายลงไปสะสมในโพรงใต้ภูเขา ไหลออกมาเป็นธารน้ำที่หน้าปากถ้ำนั่นเอง
ฝนยิ่งตก น้ำก็ยิ่งซึมลงไปใต้ภูเขา ระดับน้ำในถ้ำก็จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องน่ากลัวมากครับ
(ภาพจาก หนังสือของลูก Knowledge Encyclopedia สำนักพิมพ์ DK)
สมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ Pim Srithai ร่วมอธิบายเพิ่มเติมว่า การเกิดถ้ำในหินปูน มาจากการละลายของแคลไซต์ (แร่ประกอบหลัก ซึ่งทำปฏิกิริยากับกรด) โดยเกิดจากกรดอ่อนๆ ในธรรมชาติ เช่น คาร์บอนิค ซัลฟูริก ไนตริก ที่ได้จากกาซ CO2, SO2, NO2 รวมตัวกับน้ำฝน
แล้วก็ละลายหินปูนไปตามรอยแตกในหิน จนเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่ ซึ่งมักมีความต่อเนื่องทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง
ปฏิกิริยา CaCO3 + CO2 + H2O → Ca(HCO3)2 เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยมากกว่า หรือลักษณะของผลึกแคลเซียมไบคาร์บอเนต จากน้ำกระด้างที่เราพบเป็นคราบหินปูนตามฝักบัว-ก๊อกน้ำ