ไขมันทรานส์อันตราย แต่ประเทศไทยพบน้อย
อาหารที่มีการระบุหน้าซองว่ามีไขมันทรานส์ 0% อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่ากินอาหารชนิดนั้นได้มาก แต่ที่จริงแล้วยังมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง
อาหารที่มีการระบุหน้าซองว่ามีไขมันทรานส์ 0% อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่ากินอาหารชนิดนั้นได้มาก แต่ที่จริงแล้วยังมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง
***********************
โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ
หมายเหตุ :สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดลและเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดงานเสวนาเรื่อง “ความจริงไขมันทรานส์” เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากโรคร้ายที่ตามมาจากการรับประทานมากเกินความต้องการของร่างกาย
ทันทีที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ไขมันทราน (Trans Fat) น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ยังคงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเกิดความสับสนว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน มีไขมันทรานหรือไม่และอันตรายต่อร่างกายอย่างไร
วันทนีย์ เกียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ไขมันทรานคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัว สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติและจากกระบวนการผลิตด้วยการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงไปในน้ำมัน แบ่งเป็น 1.ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาทิ นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณน้อย
2.ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมผลิตเนยเทียม เนยขาว เพื่อทำให้เหม็นหืนช้า ยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น โดยอาหารที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่เติมไฮโดรเจนเข้าไป อาทิ เนยเทียม เนยขาว ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ขนมปังกรอบ พาย พัฟ เพสตรี และคุกกี้ รวมถึงอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันให้กรอบนอกนุ่มใน เช่น โดนัททอด
อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจทั้ง 162 ตัวอย่างพิจารณาจากปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามันโลกแนะนำคือ ไม่เกิน 2 กรัม/วัน หรือ 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ส่วนไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 5 กรัม/หน่วยบริโภค พบว่า 53% พบไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์และประมาณ 13% พบไขมันทรานส์สูงกว่าเกณฑ์ สรุปว่าพบการปนเปื้อนไขมันทรานส์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันอิ่มตัว
โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาหารที่มีการระบุหน้าซองว่ามีไขมันทรานส์ 0% อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่ากินอาหารชนิดนั้นได้มาก ไม่มีไขมันทรานส์ แต่ที่จริงแล้วยังมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงไม่ควรรับประทานอยู่ในปริมาณมากเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ตามที่มีการแชร์ข้อมูลของต่างประเทศถึงสถานการณ์ไขมันทรานส์สูงนั้น ไม่สามาถนำมาเทียบกับปริมาณไขมันทรานส์ในประเทศไทยได้ เนื่องจากรูปแบบการบริโภคอาหารแตกต่างกัน เพราะประเทศไทยมักรับประทานผักเป็นส่วนใหญ่ กระนั้นแม้ว่าจะไม่ได้รับประทานไขมันทรานส์เลยก็ ไม่ได้รับประกันว่าจะปลอดจากโรคหัวใจแน่นอน จึงขอยืนยันกับสังคมว่าอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป
นพ.ฆนัท ครุฑกูล เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนาการ วิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผลกระทบต่อสุขภาพหากรับประทานเข้าไปมาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจมากขึ้น โดยไขมันทรานส์จะเข้าไปเพิ่มไขมันแอลดีแอล หรือไขมันไม่ดี ให้มากขึ้นส่งผลต่อหลอดเลือดอุดตัน ขณะเดียวกันยังไปลดระดับเอชดีแอล และเพิ่มไขมันไตรกีเซอร์ไลน์ด้วย โรคที่เกิดขึ้นตามมาอาทิ ความจำเสื่อม เบาหวาน มะเร็ง โรคอ้วน เพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้นไม่ควรไขมันทรานส์ที่ผลิตจากกระบวนการอุตสาหกรรม แต่ไขมันทรานส์ที่ได้จากเนื้อสัตว์ธรรมชาติ ถือว่าน้อยมากไม่ต้องเป็นกังวลและไม่มีผลต่อความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจหรือโรคมะเร็ง
ส่วนไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันมะพร้าว ทำให้สังคมเข้าใจว่าหากจะดูแลร่างกายสามารถรับประทานน้ำมันมะพร้าวครั้งละมากๆหรือนำมาดื่มได้เลย ถือเป็นการเข้าใจผิด ซึ่งไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก แต่เราควรกินปลา ผัก ต้ม และงดอาหารทอด ของมัน ของแปรรูปจะทำให้สุขภาพดีขึ้นได้แล้ว หากยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีโรคไขมันอุดตันเป็นจำนวนมาก สร้างภาระให้กับลูกหลานในอนาคต
สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 59 ทาง อย.ได้ขอความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตและนำเข้าไขมันทรานส์ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงมีการปรับสูตรอาหารไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนอีกแล้ว แต่เปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืช เช่น ถั่วเหลือ รำข้าว ปาล์ม น้ำมันเหล่านี้ไม่มีไขมันทรานส์ ดังนั้นสังคมไม่ต้องเป็นห่วง
สำหรับมาตรเฝ้าระวัง ทางอย.จะตรวจสอบบ่อยครั้งเพื่อดูว่าผู้ประกอบการที่ระบบในสลากหลังกล่องบรรจุอาหารว่า “ปราศจากไขมันทรานส์ 0%” เป็นความจริงหรือไม่ เช่น เนยเทียม ,มาการีน ผู้บริโภคควรดูสลากโภชนาการหลังกล่องให้ชัดเจน ว่ามีข้อมูลระบุถึงปริมาณไขมันทรานส์เพียงใด และไขมันอิ่มตัวมีเท่าใด ผู้ผลิตต้องบอกผู้บริโภคให้ครบ ในกรณีฝ่าฝืนประกาศต้องระวางโทษตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 ถึง 2 หมื่นบาท
“มาตรการที่กำกับดูแลผู้ประกอบการได้ผ่านการศึกษาและตรวจสอบสถานการณ์จนได้ข้อมูลที่แน่ชัดแล้วจึงออกกฏหมายฉบับนี้มา เป็นการป้องกันตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยปราศจากไขมันทรานส์ เพราะไขมันทรานส์ยังพบได้ในเนื้อสัตว์ธรรมชาติ ซึ่งประชาชนสามารถสอบถามมายัง อย.ได้ตลอดเพื่อความสบายใจ” สุภัทรา กล่าว
ด้าน นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม 4ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า มีคนถามเข้ามามากว่า น้ำมันที่ทอดซ้ำทำให้เกิดไขมันทรานส์สูงขึ้นหรือไม่ ยืนยันว่าจากการตรวจสอบพบปริมาณไขมันทรานส์ในน้ำมันทอดซ้ำน้อย แต่ควรหลีกเลี่ยงเพราะน้ำมันทอดซ้ำมีสารก่อมะเร็ง ดังนั้นอาหารที่คนไทยควรรับประทานซึ่งดีต่อสุขภาพยังคงเป็น ผัก ผลไม้ ให้เป็นประจำในแต่ละวัน ควบคู่กับไปการออกกำลังกายก็จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงได้มากขึ้นแล้ว