posttoday

เตือนเด็กต่ำกว่า 6 ขวบไม่ควรซ้อนมอเตอร์ไซค์ เสี่ยงเจ็บ-ตายสูง

26 ตุลาคม 2561

นักวิชาการแนะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบไม่ควรเดินทางด้วยจักรยานยนต์เหตุอยู่ในวัยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ-เสียชีวิตสูง

นักวิชาการแนะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบไม่ควรเดินทางด้วยจักรยานยนต์เหตุอยู่ในวัยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ-เสียชีวิตสูง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยภายหลังการจัดกิจรรมค่าย 10 ทักษะความปลอดภัยเพื่อฝึกทักษะการอยู่รอดปลอดภัยจากอุบัติเหตุของเด็กชั้น ป.1-ป.3 ม.มหิดล ศาลายา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าในแต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 200 รายต่อเดือน และในแต่ละปีพบว่าเดือนที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดคือเดือนเมษายน หรือเฉลี่ย 350 รายต่อเดือน

ส่วนสาเหตุการตายนั้น พบว่า ร้อยละ 33 หรือ 740 รายมาจากจมน้ำ ขณะที่ร้อยละ 31 หรือ 700 ราย ตายจากภัยทางถนน ที่เหลือร้อยละ 36 ตายจากสาเหตุอื่น และช่วงปิดเทอม 4 เดือนยังเป็นช่วงอันตรายสูงสุด ส่วนการตายของเด็กวัย 4-12 ปีส่วนใหญ่ตายในละแวกบ้าน ในบริเวณชุมชนในขณะเล่นกับเพื่อน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับอุบัติเหตุจราจรอันเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของเด็กนั้น มาจากการเดินทางไม่คาดเข็มขัดนิรภัยและซ้อนมอเตอร์ไซด์ จนถูกรถชนในละแวกบ้าน เพราะพื้นที่เล่นของเด็กไม่แยกออกจากถนน รวมทั้งการซ้อนมอเตอร์ไซด์เด็กไม่ได้สวมหมวกนิรภัย ทั้งนี้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบไม่ควรซ้อนรถจักรยานยนต์ เพราะยังอยู่ในวัยที่ดูแลตัวเองไม่ได้ และยังไม่เข้าใจความเสี่ยง

"แม้จะสวมใส่หมวกกันน็อค แต่เด็กต่ำกว่า 6 ขวบยังไม่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ดังนั้นคนขับขี่และคนซ้อนท้ายควรใช้รถมอเตอร์ไซค์เมื่อขาวางถึงที่วางเท้าได้เท่านั้น และตามกฎหมาย มอเตอร์ไซด์จะโดยสารได้แค่ 2 คนคือคนขับและคนซ้อน ต้องไม่มากไปกว่านี้เด็ดขาด"รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ในต่างประเทศกำหนดอายุเด็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ต้องอายุ7 ขวบขึ้นไป แต่ในประเทศไทยแล้ว ปัญหายังซับซ้อนกว่านั้น อย่าง ขนาดหมวกนิรภัยของเด็กที่มีอยู่ในตลาด ยังไม่สามารถรองรับศีรษะของเด็กได้ เป็นต้น

ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวด้วยว่า ทางสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้หมวกจักรยานมาใช้แทนหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ยินยอม ขณะนี้ทางโรงงานผลิตหมวกกำลังหาทางแก้ไขเรื่องขนาดของโฟมด้านในของหมวก เพื่อให้กระชับกับศีรษะเด็ก