posttoday

นวนิยาย‘วาย’ ตลาดคนอ่านไม่เคยวาย

17 พฤศจิกายน 2561

นิยายวายไทย กำลังดังและเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับแฟนนักอ่านรุ่นใหม่ที่ไต้หวันและจีน นวนิยายวาย “SOTUS

โดย พรเทพ เฮง 

นิยายวายไทย กำลังดังและเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับแฟนนักอ่านรุ่นใหม่ที่ไต้หวันและจีน นวนิยายวาย “SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ที่สำนักพิมพ์ Reve Books ซื้อลิขสิทธิ์แปลเป็นภาษาจีนและวางจำหน่ายที่ไต้หวัน โดยเวอร์ชั่นไต้หวัน มีแถมโปสต์การ์ด และภาพโพลารอยด์สุ่มจากซีรี่ส์ SOTUS S : The Series ในเล่ม โดยขายแยกเป็น 2 เล่ม ราคาเล่มละ 250 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 280 บาท) จากความสำเร็จตรงจุดนี้ จะมีการซื้อนิยายวายไทยแปลจำหน่ายเพิ่มเติมอีกหลายเรื่องในอนาคต

กลับมาดูตลาดหนังสือเมืองไทย ดัชนีชี้วัดที่สำคัญในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คือ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 ซึ่งมีผู้เข้าชมงานประมาณ 1.5 ล้านคน มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมงานทั้งหมด 376 ราย สำหรับหมวดหนังสือที่ได้รับความนิยม ได้แก่ นวนิยายวัยรุ่น ไลต์โนเวล หนังสือ How to ประเภทต่างๆ หนังสือเกี่ยวกับการออกกำลังและการดูแลสุขภาพ ที่น่าสนใจคือ กลุ่มวัยรุ่นให้ความสนใจหนังสือเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น

จากการสำรวจของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ พบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-20 ปี เข้าชมงานครั้งนี้เป็นครั้งแรกมีจำนวนมากขึ้น รองลงมา คือ วัยทำงานอายุระหว่าง 21-29 ปีซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีว่าจำนวนนักอ่านจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตนั่นเอง

ปรากฏการณ์ต่อคิวซื้อหนังสือและขอลายเซ็นนักเขียนในบูธสำนักพิมพ์ที่พิมพ์นวนิยายวัยรุ่นและนวนิยายวายได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปีนี้เป็นปีของการเติบโตของแฟนหนังสือนวนิยายวายอย่างมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา จากการคาดคะเนของเกจิในวงการหนังสือที่เห็นพ้องต้องกัน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ก็มีการจัดงานมหกรรมนิยายวาย ครั้งที่ 2 (Y Book Fair #2) ณ หอประชุมกลางน้ำ แหล่งสมาคมนายทหาร กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (BTS สนามเป้า) กทม. ซึ่งต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2

ในตลาดหนังสือเอง ร้านหนังสือใหญ่ๆ บางร้านถึงกับจัดหมวดหมู่เฉพาะนวนิยายวายขึ้นมาเลยทีเดียว เพื่อรองรับการเติบโตของคนอ่าน สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ขวัญใจวัยรุ่นอย่าง แจ่มใส สถาพรบุ๊คส์ อมรินทร์พรินติ้ง ก็กระโดดลงมาแบ่งเค้กรายได้ก้อนนี้จากสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่บุกเบิกนวนิยายวายแนวนี้มาก่อน และสามารถผลักดันสู่ตลาดกระแสหลักเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเซ็กเมนต์หนึ่งในตลาดที่สำคัญต่อธุรกิจหนังสือ โดยเฉพาะคนอ่านวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา

เสียงจากบรรณาธิการนวนิยายวาย

นวนิยาย‘วาย’ ตลาดคนอ่านไม่เคยวาย

กัลยกร เจริญอมรรัตน์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Ever Y ในเครือบริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง ชี้ว่า ค่อนข้างเด่นชัดว่าในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาของปีนี้ นวนิยายวายมียอดขายที่ดีมาก วัยรุ่นเข้าคิวกันเลือกซื้อและขอลายเซ็นนักเขียนในบูธต่างๆ ที่มีนวนิยายวายจัดจำหน่าย ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ยอดนิยมของหนังสือในปีนี้

“ในปีสองปีที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจน ยอมรับว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากจริงๆ แต่ก็ยังไม่ถึงเป็นอันดับ 1 ของยอดขายในแจ่มใส เพราะอันดับ 1 ยังเป็นนวนิยายรักวัยรุ่น หรือไลต์โนเวลอยู่ แต่ก็ต้องบอกว่านวนิยายวายเติบโตขึ้นมากจริงๆ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นที่นิยมและก็คนอ่านให้ความสนใจค่อนข้างเยอะ”

สำหรับการเติบโตของนวนิยายวายที่มีคาดการณ์กันว่าก้าวกระโดดเป็น 10 เท่า กัลยกรบอกว่าตรงนี้ก็ไม่แน่ใจเรื่องเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าวัดในแจ่มใสเอง ประเภทนวนิยายวายขายดีเป็นลำดับที่ 3 ของแบรนด์

“อันดับที่ 1 ก็ยังเป็นแนวแจ่มใส เลิฟ ซีร่ีส์ อันดับที่ 2 เป็นนวนิยายจีน และอันดับที่ 3 คือนวนิยายวาย” เธอให้ข้อมูลประเภทหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์

การขึ้นมาสู่กระแสหลักของนวนิยายวาย ทั้งที่ 10 กว่าปีถึง 20 ปีที่แล้วยังถูกแอนตี้หรือต่อต้านจากผู้ใหญ่หัวอนุรักษนิยมกัลยกร วิเคราะห์ว่า เพราะสังคมไทยตอนนี้เปิดกว้างมากขึ้น แล้วก็มีการยอมรับนวนิยายแนววายนี้มากขึ้น

“โดยเฉพาะในต่างประเทศมีกฎหมายให้คนเพศเดียวแต่งงานกันได้ เข้าใจว่าสังคมไทยในปัจจุบันน่าจะเปิดกว้างกว่ายุคสมัยก่อน ก็เลยทำให้นวนิยายวายเริ่มมีคนอ่านมากขึ้นและสนใจมากขึ้น

ที่สำคัญนวนิยายวายถูกนำมาทำเป็นซีรี่ส์เยอะ จะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ทำอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ติดตลาด คนรู้จักและมีการยอมรับกันมากขึ้น ตอนนี้ก็น่าพอใจอย่างมาก และคาดหวังว่าจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ

ยิ่งการที่จะมีการออกกฎหมายอนุญาตให้เพศเดียวแต่งงานกันได้ ก็น่าจะมีส่วนทำให้สังคมไทยเปิดกว้างเรื่องนี้มากขึ้น ยอมรับความหลากหลายและความรักของคนเพศเดียวกันได้ คิดว่ากระแสนวนิยายวายที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนอ่านบอกต่อกัน ก็ไม่แน่ใจว่ากระแสจะยืนยาวและไปได้มากแค่ไหน”

มหกรรมนิยายวาย (Y Book Fair) ซึ่งจัดมา 2 ปีติดต่อกันแล้วคือ ปี 2560 และ 2561 กัลยกร บอกว่า ปีนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยขยายและช่วยกระจายให้นวนิยายวายเป็นที่รู้จักออกจากกลุ่มเฉพาะสู่คนทั่วไปมากขึ้น

“ยอดขายนวนิยายวายถ้าถูกนำไปเป็นซีรี่ส์จะพุ่งถึงหลักหมื่นเล่ม แต่ถ้าไม่เป็นก็อยู่ในระดับหลักพันต้นๆ ตามที่ทำก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะฮิตมาถึงขนาดนี้ แค่อยากมีนวนิยายอีกสักแนวหนึ่งมารองรับกลุ่มคนอ่านที่เขาชื่นชอบแนวนี้ เกินความคาดหวังไปมาก”

นวนิยายวาย คือ...

นวนิยาย‘วาย’ ตลาดคนอ่านไม่เคยวาย

บทประพันธ์หรือนวนิยายประเภทที่เรียกว่า “วาย” เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และหนังสือก็ติดอันดับขายดีต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่สมัยก่อนเคยมีข่าวลือว่า สายส่งจะไม่ค่อยยอมเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือประเภทนี้ แต่ปัจจุบันเห็นมีอยู่ตามร้านทั่วไป และกระแสตอบรับก็ดี จนกลายเป็น “วัฒนธรรมกลุ่มย่อย” (Sub-Culture) กลายเป็นประเภทของหนังสือที่ได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มนักอ่านที่เป็นเยาวชนจนติดอันดับ หนังสือขายดีในบ้านเราช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีแฟนคลับเป็นวัยรุ่นและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บทความ “ทบทวนวรรณกรรม YAOI: การ์ตูนเกย์โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง” ซึ่งเรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง YAOI : การ์ตูนเกย์โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง ของหลักสูตรสหสาขาวิชาเพศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 3 ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม ให้ข้อมูลไว้ว่า การ์ตูนที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้ชายของประเทศญี่ปุ่น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ บิโชเนน (Bi-shonen: Beautiful Boys) โชเนนไอ (Shonen-ai: Boys’ Love) และ ยาโออิ (YAOI)

การนิยามการ์ตูนทั้งสามประเภทนี้มีความหลากหลายมาก เนื่องจากตามศัพท์แล้ว บิโชเนน แปลว่าผู้ชายที่มีหน้าตาและลักษณะสวยงามเหมือนผู้หญิง (Feminine) ในขณะเดียวกันบิโชเนนนั้นก็ไม่ได้หมายถึงการ์ตูนที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้ชายเสมอไป

คำว่า YAOI เป็นตัวย่อมาจาก YAma nashi, Ochi nashi, Imi nashi (No Climax, No Punchline, No Meaning หรือ No Build-Up, No Foreclosure, No Meaning แปลว่า เรื่องราวที่ไม่มีสาระใดๆ ซึ่งเดิม YAOI นั้นจะหมายถึงหนังสือทำมือ หรือ โดจินชิ (Dojinshi) ที่นำตัวละครชายมาจับคู่
ให้มีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย

การ์ตูนญี่ปุ่นที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้ชายซึ่งมีผู้ผลิตและผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ว่า ยาโออิ : YAOI ในรูปแบบทับศัพท์แทน เนื่องจากคำดังกล่าวสอดคล้องกับการเรียกการ์ตูนญี่ปุ่นที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและผู้หญิงว่า ยูริ : YURI

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies เขียนอธิบายในคอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก ว่า นวนิยายในระดับแฟชั่น ซึ่งเกิดกระแสที่ถือว่าแปลกใหม่พอสมควรสำหรับวงวรรณกรรมไทย คือมีบทประพันธ์ประเภทที่เรียกว่า “วาย” เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

คำว่า “วาย” ใน “นิยายวาย” หรือ “ละครวาย” ไม่ได้มีความหมายเหมือนตลาดวาย แต่สื่อถึงลักษณะของเนื้อเรื่องที่ตัวละครมีเพศสภาพเหมือนกันและมีจิตใจชอบพอกัน คือ ชาย-ชาย หรือหญิง-หญิง เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่นโดยตรง เพียงแต่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้คำว่า “วาย” ในไทยได้มีการแปลนิยายวายของญี่ปุ่นออกมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และกระแสก็แรงขึ้นๆ จนขณะนี้ได้เข้าสู่ยุคที่คนไทยแต่งนิยายวายขายกันเองแล้ว

ในกรณีที่ตัวละครเป็นคู่ชาย-ชาย ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ยะโอะอิ” (yaoi) ส่วนกรณีที่เป็นหญิง-หญิง ภาษาญี่ปุ่นใช้ “ยุริ” (yuri) ซึ่งทั้งสองคำต่างก็ขึ้นต้นด้วย “y” แฟนๆ ของหนังสือแนวนี้ในไทยจึงนำมาเรียกว่า “วาย” และเรียกคนที่ชื่นชอบผลงานแนวนี้ว่า “สาววาย” เพราะคนที่นิยมอะไรวายๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุน้อยๆ (แต่ก็ไม่เสมอไป) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของผลงานแนวนี้ และด้วยปรากฏการณ์นี้ ปัจจุบันกลายเป็นว่า ผู้จัดละครก็นำบทประพันธ์ไปสร้างละคร “วาย” เกิดกระแสตามมาอีกมากมาย

ดัชนีชี้วัดการเติบโตนวนิยายวาย

นวนิยาย‘วาย’ ตลาดคนอ่านไม่เคยวาย

หากย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว นวนิยายวายจัดเป็นคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม โอกาสที่จะมาปรากฏตัวในสื่อแมสแทบจะไม่มี หรือคอนเทนต์วายก็จะอยู่ในคอมมูนิตี้สาววาย เช่น เว็บบอร์ด หนังสือการ์ตูน หรือแอนิเมชั่นแต่ในปัจจุบันคอนเทนต์วายเหล่านี้ถูกปรับให้ใกล้เคียงกับคำว่าแมสมากขึ้น สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็คือ จำนวนซีรี่ส์ชายรักชายใน LINE TV ที่มีถึง 11 เรื่อง ออกมาให้ดูพร้อมๆ กัน

เมื่อดูจากยอดวิวของซีรี่ส์วายใน LINE TV ที่สูงเกินกว่า 600 ล้านวิว การเข้าถึงระดับนี้ไม่ใช่ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อีกต่อไป ความยอดนิยมของซีรี่ส์วายจึงมาพร้อมกับนวนิยายวาย และโอกาสใหม่ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้แค่กลุ่มเกย์หรือสาววายเท่านั้น

วิทยานิพนธ์ “ผู้หญิงกับการสร้างนวนิยายชายรักชาย” โดย อรวรรณ วิชญวรรรกุล หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559 ในปัจจุบันได้นำเสนอข้อมูลความยอดนิยมของนวนิยายวายไว้ว่า นวนิยายไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชายได้มีการเปลี่ยนไปอย่างมาก ด้วยการเข้ามาของ “อินเทอร์เน็ต” ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง

ดังนั้น กลุ่มชายรักชายจึงมีการแสดงออกผ่านสื่อดังกล่าว รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของนวนิยายไทยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักพิมพ์อีกต่อไป ซึ่งเริ่มแรกนวนิยายชายรักชายที่ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตจะมีผู้เข้าใช้เพียงกลุ่มเฉพาะเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ได้มีเว็บไซต์มากมายที่รองรับนักเขียนที่ต้องการเขียนนวนิยายชายรักชาย ซึ่งเห็นได้ชัดคือ เว็บไซต์ Thaiboylove.com ที่นักเขียนสามารถลงเรื่องราวเกี่ยวกับชายรักชายได้โดยตรง

นอกจากนั้น ยังมีเว็บไซต์นักเขียนที่ได้รับความนิยมอย่าง Dek-D.com หรือธัญวลัย ที่มีการตั้งหัวข้อสำหรับชายรักชายเพิ่มเข้ามา

นวนิยาย‘วาย’ ตลาดคนอ่านไม่เคยวาย

สำหรับเว็บไซต์ Thaiboylove.com ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเว็บไซต์สำหรับกลุ่มชายรักชายโดยตรงอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปรากฏนวนิยายชายรักชายเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับเว็บไซต์ Dek-D.com นั้น แต่เดิมเป็นเว็บไซต์สำหรับนวนิยายกระแสหลัก แต่ปัจจุบันพบว่านวนิยายชายรักชายเข้ามามีบทบาทในเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก

เว็บไซต์ดังกล่าวมีการจัดลำดับนวนิยายที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดประจำทุกเดือน ซึ่งที่ผ่านมาก็ตกเป็นของนวนิยายกระแสหลักทั้งสิ้น ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลับพบว่า นวนิยายชายรักชายสามารถเข้าไปชิงชัยอยู่ในการจัดอันดับ Top10 ของเว็บไซต์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเดือน ก.พ. 2558 ก็พบว่า นวนิยายชายรักชายยังสามารถขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 1 ของเว็บไซต์ดังกล่าวได้เป็นครั้งแรก และติดอันดับมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

งานวิจัยนี้สอดคล้องกับ กัลยกรเจริญอมรรัตน์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Ever Y ที่บอกถึงมูลเหตุของหนังสือนวนิยายวายขายดีและกลายเป็นหนึ่งเทรนด์หลักของคนอ่านยุคใหม่

“เพราะนักเขียนวายจะนำเรื่องไปลงในอินเทอร์เน็ตให้อ่านออนไลน์กันก่อน อย่างเว็บไซต์ไทยบอยส์เลิฟ (Thaiboyslove) กับเด็กดี (Dek-D) เด็กดี ซึ่งพอลงเรื่องจะมีคนเห็นและคนเข้ามาอ่านเยอะขึ้น คนอ่านเข้าถึงง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือ ถ้าชอบก็มาซื้อหนังสือเรื่องไหนดังคนอ่านเยอะและชอบ สำนักพิมพ์ก็จะนำมาพิมพ์เป็นเล่ม ถือว่าเป็นการวัดกระแสนิยมและเรตติ้งคนอ่านไปกลายๆ ในตัวด้วย เป็นการทำให้ตลาดคนอ่านได้เห็นว่าถ้าเรื่องแนววายเป็นอย่างไร? หากได้ทดลองอ่านดู”

ถือเป็นการตลาดหนังสือในยุคออนไลน์ ซึ่งกัลยกรมองว่า อย่างน้อยความคิดเห็นหรือคอมเมนต์ของคนอ่านก็จะช่วยเป็นกำลังใจให้นักเขียนเขียนต่อได้ หรือไปปรับปรุงการเขียนได้ และเป็นการกระตุ้นยอดขายไปในตัวด้วย