แปร“ปาล์ม”ไร้ค่าเป็นเงินเลี้ยง"ด้วงสาคู"
สุราษฎร์ธานี-แปรสภาพ“ปาล์ม”ไร้ค่าเป็นเงินเลี้ยง“ด้วงสาคู”แทนสร้างรายได้งาม
สุราษฎร์ธานี-แปร“ปาล์ม”ไร้ค่าเป็นเงินเลี้ยง“ด้วงสาคู”แทนสร้างรายได้งาม
เศรษฐกิจภาคใต้เจอวิกฤตปาล์มราคาถูกตกกิโลกรัมละ 2 บาทนิดๆ การหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนปักษ์ใต้จึงแสนลำเข็น จำต้องหาช่องอื่นเพื่อมีรายได้เสริมเข้ามาเลี้ยงครอบครัว แต่ไม่ได้ทำให้เกษตรกรอย่าง “สมศักดิ์ หนูแดง" หรือ “ลุงสง่า” ท้อใจ กลับคิดช่องทางหากินและเพิ่มมูลค่า “ก้านต้นปาล์ม” หรือ “ทางปาล์ม” ตามภาษาถิ่นที่ใครๆเห็นว่า ไร้ค่า ให้กลายมาเป็น รายได้ ด้วยการนำมาเป็นอาหารเลี้ยงด้วงสาคู หรือ ด้วงมะพร้าวที่กำลังฮิตเลี้ยงกันตอนนี้ ถือเป็นนวตกรรมทางภูมิปัญญาของชาวบ้านโดยแท้
นายสมศักดิ์ “ลุงสง่า”อยู่บ้านเลขที่ 120/129 ม.15 ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่าหลักคิด คือ จะหาวิธีทำอย่างไรให้เลี้ยงแบบต้นทุนต่ำที่สุด และจะใช้เศษวัสดุเหลือใช้ของทางต้นปาล์มในสวนที่มีอยู่เต็มไปหมดรอบๆบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร จึงนำมาทดลองเลี้ยงด้วงสาคู แรกๆไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเลี้ยง กับไปหาจากต้นด้วงสาคู ที่มีอยู่ในสวนอยู่แล้ว มาทดลองเพาะขยายพันธุ์ในกะละมัง เรียนรู้ด้วยตัวเองลองผิดลองถูกผสมกับดูจากสื่อโซเซียลมิเดีย ในยูทูบ แรก ๆ เน้นให้อาหารตามที่ยูทูบบอก คือ ขุยมะพร้าว แต่เห็นว่าน่าจะใช้วัสดุอื่นแทนได้จากนั้นทดลองมาใช้ ทางปาล์มขูดฝอย
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก เพียงแบ่งพื้นที่โล่งๆไม่กี่ตารางเมตร จึงใช้พื้นที่โรงจอดรถ เลี้ยงแบบธรรมชาติ ใส่ในกะละมังพลาสติกขนาด 50 ซม. ให้เป็นที่พักให้ตัวอ่อนอาศัย ใส่ขุยต้นสาคู และทางปาล์มที่ผ่านมาปลอกเปลือกแล้วนำไปบดด้วยเครื่องบด ผสมกับรำและหัวอาหารหมูเป็นอาหารหลักคลุกผสมกัน ใส่กะละมังเติมน้ำลงไปให้พอแฉะ ๆ นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงปล่อย 5-6 คู่ต่อ 1 กะละมัง และใช้เปลือกมะพร้าวปิดหน้าไว้ ด้านบนปิดด้วยฝาพลาสติกลักษณะตระแกรงระบายอากาศ เพื่อป้องกันพ่อแม่พันธุ์บินหนี ที่สำคัญต้องหมั่นดูแลไม่ให้อาหารแห้งโดยการพรมน้ำเป็นระยะ จากนั้นรอให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ผสมพันธุ์จนออกไข่ จากนั้นประมาณ 7 วัน จะเกิดตัวอ่อนให้จับแยกพ่อแม่พันธุ์ไปเลี้ยงในกะละมังใบใหม่เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
"ครั้งแรกเลี้ยงเพียงไม่กี่คู่ ประมาณ 7 วัน ได้ตัวอ่อนด้วง กว่า 100 ตัว จึงเริ่มศึกษาวงจรชีวิต ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆราว 1-2 เดือน ก็เริ่มจับจุดได้ คือ สามารถแยกตัวผู้หรือตัวเมียเป็นจึงสามารถขยายพันธุ์เองได้ โดยไม่ต้องไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากฟาร์ม จนวันนี้สามารถขยายการเพาะพันธุ์เป็นจนวันนี้เพาะได้กว่า 50 กะละมังพอมีรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว" ลุงสง่า กล่าว
ลุงสง่า เล่าต่อว่าหลังจากเลี้ยงจนตัวหนอนโตประมาณเท่านิ้วโป้ง ใช้เวลาประมาณ 20 วัน สามารถจับส่งขายได้แล้ว แต่หากต้องการเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ต้องเลี้ยงไปอีกประมาณ 20 วัน ตัวหนอนจะเริ่มเข้าฝักเป็นดักแด้ จากนั้นอีกราว 10 วัน จะออกมาเป็นตัวด้วงสาคูครบวงจรชีวิตด้วงสาคูประมาณเดือนกว่าๆ ส่วนตัวอ่อนด้วงที่จับขายกิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งลักษณะด้วงสาคูที่โตเต็มวัยเป็นพ่อพันธุ์ มีลักษณะลำตัวปีกสีน้ำตาลดำ อกสีน้ำตาลมีจุดสีดำ ตัวผู้มีงวงสั้นกว่าตัวเมีย และมีขนสั้น ด้านบนของงวง ส่วนตัวเมียงวงจะเรียวยาวไม่มีขน เมื่อคัดเลือกตัวพ่อแม่ที่สมบูรณ์แล้วจะแยกลงกะละมังมาเก็บไว้
“เลี้ยงไม่ยากและต้นทุนการเลี้ยงต่ำมาก เพราะใช้ทางปาล์มที่มีอยู่เต็มในพื้นที่มาเป็นอาหารหลัก ลงทุนครั้งแรกราวๆ 1,500 บาท ต้นทุนหนักไปกับการซื้อกะละมังกับฝาครอบที่เป็นตะแกรงพลาสติกปิดกะละมังชุดละร้อยกว่าบาท ปัจจุบันที่บ้านเลี้ยงประมาณ 50 กะละมัง” ลุงสง่า เล่า
ปัจจุบันด้วงสาคูนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น ทอด คั่วเกลือ หมก แกง หรือผัด รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูงไม่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์นิยมรับประทานกันแพร่หลาย เสนอราคาขายส่งกิโลกรัมละ 250 บาท ทุกวันนี้ผลิตขายในชุมชนเป็นหลัก ผ่านการโพสต์ขายทางเฟสบุ๊ก Omchai Noodaeng หรือ หรือ ใครที่สนใจศึกษาดูงาน หรือขอองค์ความรู้ ต้องการทราบวิธีการเลี้ยง ตลอดจนอยากลองชิมรสชาติแสนอร่อยของด้วงชนิดนี้ ติดต่อได้ที่ คุณอ้อมใจ(ลูกสาว) 081-432-4993 ได้ทุกวัน
นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจเพื่อสู้กับสภาวะราคายางพาราและปาล์มตกต่ำ ที่สำคัญเป็นนวตกรรมชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ชาวบ้านสามารถนำเศษพืชผลทางการเกษตรเหลือใช้จาก “ทางปาล์ม” ตรงเป๊ะกับแนวคิด ขยะเหลือศูนย์ หรือ zero waste แนวคิดที่ยึดหลักการการกำจัดขยะให้หมดสิ้นไม่เหลือ แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ นำกลับมาใช้ใหม่ และ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแนวคิดที่น่าขยายผลว่า "ทางปาล์ม" จะนำไปทำประโยชน์สิ่งใดได้อีกบ้าง นอกจากเป็นอาหารเลี้ยงด้วงสาคูสร้างรายได้เสริมให้แก่คนปักษ์ใต้ !!!