ไม่ใช่แค่สลบแต่ถึงตาย "ก้านคอ" จุดอันตรายที่ไม่ควรแตะ
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อชี้อันตรายถึงชีวิตหากก้านคอหากได้รับการกระทบกระเทือน
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อชี้อันตรายถึงชีวิตหากก้านคอหากได้รับการกระทบกระเทือน
************
เตะก้านคอทีเดียว “ตาย” กลายเป็นข่าวดังหน้าสังคม ทั้งที่เหตุเกิดไกลถึงจังหวัดเชียงใหม่
สะท้อนจังหวะเท้ากระแทกเข้า ‘ก้านคอ’ แล้วสลบล้มฟุบกองกับพื้น เป็นเพียงฉากจำในหนังบู๊ที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ก่อนจะลุกขึ้นมาดำเนินเรื่องกันใหม่
แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดนเบาๆ ยังทรุดมีสิทธิ์สมองเสื่อมพาร์กินสันรับประทาน หรือโดนนานๆ ดีร้ายควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้กระทั่งเป็นอัมพาต
นายแพทย์ ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า ‘ก้านคอ’ นอกจากเป็นศูนย์รวมระบบประสาทที่เป็นส่วนที่สำคัญยังประกอบไปด้วย 1.กระดูกสันหลังส่วนคอ 2.ไขสันหลัง 3.หลอดเลือดใหญ่ที่ลำเรียงเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมอง ซึ่งหากได้รับการกระทบกระเทือนจนเกิดการเคลื่อนแตกออกจากตำแหน่งก็สามารถเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“ความรุนแรงมี 2 องค์ประกอบร่วมกัน คือมีการแตกหักของแนวกระดูกต้นคอหรือการเคลื่อนของกระดูกสันหลังช่วงคอ โดยกระดูกช่วงคอไปกระทบไขสันหลังที่วางตัวอยู่ในแนวกระดูกสันหลังจนเกิดฉีกขาดหรือกดทับ ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติในการควบคุมการเต้นของหัวใจผิดปกติเสียหายส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลงๆ ร่วมกับความดันโลหิตที่ลดลงเรื่อยๆ ทำให้เสียชีวิตได้ หรือทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการหายใจเสียหาย กระบังลมที่เคยหุบเข้าหุบออกเวลาหายใจไม่ทำงานทำให้ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเองก็ส่งผลให้หยุดหายใจก่อนจะเสียชีวิตเช่นเดียวกัน จุดบริเวณก้านคอจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ก้านสมองหรือศูนย์ควบคุมการหายใจ”
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ บอกอีกว่า อาการเกิด ‘สลบ’ เมื่อได้รับการกระทบกระเทือนที่ก้านคออย่างในภาพยนตร์ที่ผู้ชมมักเห็น คืออาการที่เกิดจากแรงกระแทกบริเวณก้านคอทำให้เส้นประสาทได้รับความผิดปกติรุนแรงแต่ระบบโครงสร้างของกระดูกไม่เสียหายจึงทำให้สมองแค่มันชัตดาว์นไปชั่วขณะ
ดังนั้นกล่าวโดยง่ายๆ คือของความรุนแรงขึ้นอยู่กับ 'สภาพร่างกาย' แต่ละคนเนื่องจากกลุ่มกล้ามเนื้อที่เป็นตัวห่อหุ้มกระดูกสันหลังในร่างกายมนุษย์แล้ว 'มุมองศา' จากการที่ได้รับการกระแทกก็เป็นส่วนที่สำคัญต่อผลความร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง
“อย่างนักมวยที่ต้องฟิตกล้ามคออย่างต่อเนื่องทำให้กล้ามคอมีความยืดหยุ่นและแข็งแรงมากเวลาโดนกระแทกมันก็มีตัวซับแรงให้ลดเยอะนั้นเอง แต่ถ้าคนทั่วไปกล้ามเนื้อไม่เยอะก็เสี่ยงมากโดยเฉพาะบริเวณปลายคางโดนเสยขึ้นเป็นจุดที่อันตรายที่สุดเพราะมีโอกาสที่แรงเหวี่ยงของศีรษะที่ถูกกระแทกจะช่วยเพิ่มความรุนแรงจนกระดูกสันหลังที่ห่อหุ้มก้านสมองแตกและเคลื่อนได้ และก็ช่วงของขมับศีรษะหรือทัดดอกไม้เนื่องจากเป็นช่วงบริเวณกะโหลกศีรษะที่มีความหนาน้อยที่สุด เวลาที่มีการกระทบจึงมีโอกาสที่ได้รับแรงกระแทกเต็มที่”
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า นอกจากการเสียชีวิตฉับพลัน ผลของการถูกกระแทกบริเวณก้านคอที่ไม่รุนแรงมีความเสี่ยงที่หากได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยครั้งยังเพิ่มโอกาสส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพของระบบประสาทก่อนเวลาอันควร หรือมีโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันและโรคการควบคุมกล้ามเนื้อไม่ดีหรือกระทั่งอัมพาต
“เรื่องตรงนี้นับว่ามีความอันตรายทุกอย่างถ้าปัจจัยลงตัว ความรุนแรง องศา และจุด โดนกระแทกแรงแต่ไม่ถึงกับโครงสร้างได้รับความเสียหายก็มีโอกาสอาจจะเป็นอัมพาตได้ หรือได้รับแรงกระแทกกว่านั้นขึ้นมาอีกหน่อยทำให้มีการฉีกของหลอดเลือดในสมองหรือมีการบาดเจ็บของเนื้อสมองทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งหากมีปริมาณเลือดที่คั่งอยู่ในกะโหลกศีรษะมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณเลือดก็จะไปดันเนื้อสมองให้ถูกกดลงมายังก้านสมองในที่สุดก็สูญเสียระบบการหายใจและเสียชีวิตโดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างในบางเคสที่โดนกระแทกเสร็จน็อคมาแล้วฟื้น จู่ๆ ไม่กี่ชั่วโมงเสียชีวิต"
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ กล่าวทิ้งท้ายเตือนภัยประชาชนระมัดระวังการถูกกระแทกหรือกระทบกระเทือนบริเวณ โดยเฉพาะกับเด็กและผู้สูงอายุกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง การแค่เป็นล้มลงโดยก้านคอได้รับการกระทบกระเทือนก็อาจจะเสียชีวิตได้จากน้ำหนักตัวที่แม้เพียง 40-50 กิโลกรัมที่กดทับเท่านั้น