นายกฯชงครม.ออกแพ็คเกจช่วยสวนยาง

07 พฤศจิกายน 2553

นายกฯเตรียมชงที่ประชุมครม. 9 พ.ย.นี้ออกแพ็คเกจช่วยเหลือสวนยางถูกพายุพัดหักโค่น พร้อมช่วยผู้ประสบภัยพายุพัด-ดินถล่มจากฤทธิ์ดีเปรสชั่น ด้านสวนยางพัทลุงเสียหายหนัก 4 อำเภอ แรงงานจ่อตกงานอื้อ

นายกฯเตรียมชงที่ประชุมครม. 9 พ.ย.นี้ออกแพ็คเกจช่วยเหลือสวนยางถูกพายุพัดหักโค่น พร้อมช่วยผู้ประสบภัยพายุพัด-ดินถล่มจากฤทธิ์ดีเปรสชั่น ด้านสวนยางพัทลุงเสียหายหนัก 4 อำเภอ แรงงานจ่อตกงานอื้อ

 

นายกฯชงครม.ออกแพ็คเกจช่วยสวนยาง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ให้พิจารณาเพิ่มหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ไม่เข้าเกณฑ์น้ำท่วม เช่น ถูกพายุพัด ดินถล่มได้รับความเสียหาย รวมทั้งจะเสนอให้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ที่ได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันด้วย

"รัฐจะไม่ละเลยผู้ประสบภัย โดยจะเสนอครม. ปรับงบประมาณในการช่วยเหลือให้สอดคล้องในพื้นที่แต่ละภูมิภาคที่ประสบภัยและมีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการขยายหลักเกณฑ์เรื่องเงินช่วยเหลือทรัพย์สิน และพื้นที่ทางการเกษตร"นายอภิสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังจากจัดรายการเชื่อมันประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ในช่วงเช้าแล้ว นายกฯ ได้เดินทาง ไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัย และน้ำป่าไหลหลากที่บ้านคลองเหลง ต.ควนทอง อ.ขนอม และที่บ้านเขาหลัก ต.ทุ่งใส อ.สิชล โดยได้มอบเงินเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย เป็นหัวหน้าครอบครัว 4 ราย ๆ ละ 50,000 บาท และเป็นสมาชิกครอบครัว 3 ราย ๆ ละ 25,000 บาท และกรณีบ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งหลังเบื้องต้น จำนวน 4  หลัง ๆ ละ 30,000 บาท

สวนยางพัทลุงพังยับ แรงงานจ่อตกงาน

นายสุชาติ  สาเหล็ม  กำนันตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สวนยางในเขตพื้นที่ จ.พัทลุงได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากถูกลมพายุพัดถล่มเมื่อวันที่ 2 พย.ที่ผ่านมา โดยสวนยางพาราประสบความเสียหายล้มลงในหลายพื้นที่ และหลายสวนล้มทั้งหมด ประมาณ 40 -50 ไร่   โดยเฉพาะหนักที่สุดในพื้นที่  อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว อ.เขาชัยสน อ.ควนขนุน อ.ป่าบอน และ อ.ตะโหมด

“ต้นยางพาราได้รับความเสียหายในเบื้องต้นประมาณ 10,000 ไร่  มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามตัวเลขราคาตลาดของการซื้อขายยางพาราราคาไร่ละกว่า 200,000 บาท แต่ก็ยังไม่มีใครขาย เพราะยางพาราในขณะนี้ราคากว่า 100 บาท /กก. และมีรายได้บางรายประมาณ 5,000 – 6,000 บาท / วัน”นายสุชาติกล่าว

นายกฯชงครม.ออกแพ็คเกจช่วยสวนยาง

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ยางพาราได้รับความเสียหายครั้งนี้ประเมินค่ามิได้ เพราะยางพาราจะให้ผลประโยชน์ถึง 35 – 40 ปี / ไร่  และในการปลูกยางพาราใหม่ ต้องใช้เวลาประมาณ 7 – 10 ปี กว่าได้รับผลประโยชน์ สวนยางที่เสียในครั้งนี้ บางสวนเพิ่งกรีดได้ไม่ถึงปี  ยังจะได้รับผลประโยชน์กว่า 30 ปี 

“ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้น คือชาวสวนยางพารา ทั้งเจ้าของ และคนรับจ้างกรีด จะว่างงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่มีอยู่กว่า 1 ล้านครัวเรือนในทั้งประเทศ  โดยภาคใต้มีสัดส่วนมากที่สุด"นายสุชาติกล่าว

ชี้ความเสียหาย1.5ล้านบาทต่อไร่

ขณะที่ นายเพิก  เลิศวางพงศ์  ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย จำกัด  (ชสยท.) เปิดเผยว่าชาวสวนยางได้รับความเสียในครั้งนี้  รัฐจะต้องออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากยางพาราให้ผลประโยชน์ถึง 30 – 40 ปี    โดยมีรายได้ประมาณ 30,000 บาท / ไร่ / ปี  เฉลี่ยแล้วได้รับความเสียหายประมาณ 1.5 ล้านบาท /  ไร่ และต้องปลูกใหม่ต้องใช้เวลาอีก 7 ปี จะต้องสูญเสียไปกว่า 200,000 บาท / ไร่

พื้นที่เกษตรพัทลุงเสียหาย 4 แสนไร่

นายวสันต์  กู้เกียรติสกุล  เกษตรจังหวัดพัทลุง  เปิดเผยว่า    พื้นที่การเกษตรพัทลุงที่ประสบภัยน้ำท่วม  ประมาณ  428,330 ไร่   และที่ได้รับความเสียหาย จะเป็นนาข้าว 90,000 ไร่   พืชผักประมาณ  10,000ไร่   สวนผลไม้ และยางพารา กว่า  100,000 ไร่   สำหรับยางพาราที่ได้รับความเสียหายนั้นไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งสวนยางพาราที่กรีดกันได้อย่างมาตรฐานและมีคุณภาพ  จะกรีดได้ถึง 30 ปี

สกย.เร่งสำรวจความเสียหายสวนยาง

นายกฯชงครม.ออกแพ็คเกจช่วยสวนยาง

นายทรงธรรม  จั่นทรัพย์   ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนจังหวัดพัทลุง (สกย.)  เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกย.กำลังออกสำรวจ ฉะนั้นขอให้ชาวสวนยางพารา อย่าเอาไม้ออกจากสวนเสียก่อน และผู้ได้รับความเสียหายสามารถแจ้งต่อพนักงาน สกย.ที่เข้าไปสำรวจสวนยางพารา หรือมาแจ้งที่สำนักงาน สกย.ได้ทุกแห่งทั้ง 11 อำเภอ

เมืองนครฯเดือดร้อน5หมื่นครัวเรือน

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช  กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดฝนตกหนักตังแต่วันที่ 31 ต.ค.เป็นต้นมา สถานการณ์อุทกภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน ทั้งหมด  23 อำเภอ โดยขณะนี้สถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งออกสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนให้ได้โดยเร็ว

จากข้อมูลขณะนี้  มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย รวม 162 ตำบล 1,273 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวนกว่า 5 หมื่น 2 พันครัวเรือน รวม 1 แสน 9 หมื่นกว่าคน   ความเสียหายเบื้องต้นบ้านพังเสียหาย 8 หลัง และเสียหายบางส่วน 1,286 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1 แสน 7 หมื่นกว่าไร่ นอกจากนี้ ยังมีถนนเสียหาย 1,279 สาย  สะพาน 46 แห่ง

นอกจากนี้ยังพื้นที่ทางการเกษตรและปศุสัตว์อีกจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายจากการสำรวจเบื้องต้น ประมาณ 209 ล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 7 ราย  ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้เร่งรัดออกมอบสิ่งของให้ความช่วยเหลือประชาชน

สำหรับสถานการณ์โดยทั่วไป  ในวันนี้ท้องฟ้าเริ่มแจ่มใสขึ้น มีแสงแดดออกตั้งแต่เช้า ไม่มีฝนตกเพิ่มในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำที่ท่วมขังตามพื้นที่ต่างๆ เริ่มลดลง แต่ยังต้องแจ้งเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ตามภูเขา เช่น อำเภอร่อนพิบูลย์ พิปูน     ลานสกา ชะอวด  สิชล  ขนอมและอำเภออื่นๆ  ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มและน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด 

Thailand Web Stat