posttoday

“อังคณา-เตือนใจ” ลาออกจาก กสม. เหตุ ระบบใหม่ไม่เอื้อต่อการทำงาน

31 กรกฎาคม 2562

2 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “อังคณา-เตือนใจ” ยื่นลาออก เหตุ ระบบใหม่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลวันนี้

2 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “อังคณา-เตือนใจ” ยื่นลาออก เหตุ ระบบใหม่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลวันนี้

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นางอังคณา  นีละไพจิตร  และ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าว ว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น กสม. แล้ว เมื่อช่วงเช้า โดยให้มีผลตั้งแต่ 09.30 น. เป็นต้นไป 

นายเตือนใจ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว กสม.ชุดปัจจุบัน ถือว่าพ้นจากตำแหน่งแล้ว  นับแต่มี  พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับใหม่ แต่ที่ยังอยู่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น  อีกทั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา  22  กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งคณะขึ้นมาทำหน้าที่แทนให้ครบองค์ประชุมได้ จนกว่า กสม.ชุดใหม่ที่กำลังสรรหาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะเข้าปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งทราบว่าคณะกรรมการสรรหา กสม.ชุดใหม่ จะมีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ในวันที่  2-3  สิงหาคม  หากคัดเลือกได้ครบ 4 คน   ก็จะมีการเสนอวุฒิสภาให้พิจารณาได้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน

นางเตือนใจ อธิบายถึงบรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ในการทำงาน ว่า  นับแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ใช้บังคับ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับใหม่ ประกาศใช้ มีการกำหนดให้ กสม.สามารถตั้งอนุกรรมการได้เท่าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แตกต่างจากในอดีต  ที่ กสม.ขณะนั้นจะต้องอนุกรรมการฯ ขึ้นมาหลากหลาย  และมีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำให้การทำงานของ กสม.เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในทุกกลุ่ม ทุกภาค เมื่อมีการร้องเรียน ตรวจสอบ ลงพื้นที่ ก็จะมีบรรยากาศเป็นไปในเชิงสมานฉันท์ หลายครั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้  เมื่อมีการลงพื้นที่

นางเตือนใจ กล่าว เมื่อการกำหนดให้มีการตั้งอนุกรรมการเท่าที่จำเป็น กสม.ชุดนี้จึงตีความว่า ไม่ควรมีการตั้งคณะอนุกรรมการเลย เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย  แล้วแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ กสม.ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ทำให้หลังจากนั้นการเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาการอต่างๆ ลดลง อย่างต่อเนื่อง  เรื่องร้องเรียนก็ลดลง หลายเรื่องมีการร้องเรียน  ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ก็จะไม่รับเป็นคำร้องเสียมากกว่า  ทำให้คิดว่าการทำงานของ กสม.ลอยจากฐานของประชาชน

“นอกจากนี้ การอออกระเบียบต่างๆ รองรับกฎหมายใหม่ ก็ทำให้รู้สึกว่าการทำงานไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  การลงพื้นที่ เมื่อก่อนเราจะแจ้งสื่อ เพื่อเป็นการเปิดประเด็นว่า เราจะทำเรื่องอะไร ผู้ถูกร้องเกิดการตื่นตัว ทำให้แก้ปัญหามีประสิทธิภาพ แต่เมื่อมีมติของ กสม.เรื่องแนวปฏิบัติการให้ข่าว การแจ้งสื่อก็ทำไม่ได้ ทำให้หลังปลายปี 61 ต่อเนื่องปี 62 การทำงานของ กสม.จะเงียบมาก ดังนั้น จึงคิดว่าแม้จะเหลือเวลาในหน้าที่อีกเพียง 2-3 เดือน แต่ลาออกก่อน ก็จะทำให้เราได้ไปทำงานที่เราต้องใจ และไปเป็นประชาชนเต็มขั้น” นายเตือนใจ กล่าว

ด้าน นางอังคณา  กล่าวว่าเรา 2 คนไม่ใช่ คนแรกที่ลาออกจาการปฏิบัติหน้าที่ กสม. ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2560  นพ.สุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย ก็ได้ลาออกด้วยเหตุคล้ายคลึงกัน คือ การบริหารงาน ไม่ได้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์  เอื้อต่อการปฏิบัติงาน  และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานายชาติชาย สุทธิกลม ได้ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ท. แต่การทำงานเนื่องจากเรามาจากภาคประชาสังคม พยายามปรับตัวเยอะในการศึกษาระเบียบ และได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่ใช่ว่างอนแล้วตัดสินใจปุ๊ปปั๊ปออก  ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงาน ทำงานไม่ได้ง่ายและมีความคาดหวังจากประชาชน เข้ามาให้เราแบกรับ  จนมาถึงวันหนึ่งที่เราคิดว่า  ไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และการหยุดปฏิบัติหน้าที่หน้าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

“เราเข้ามาวันแรกก็มีความหวัง  เพราะส่วนตัวก็ทำงานกับ กสม.ตั้งแต่ชุดแรก  จนรู้สึกมุ่งหวังว่าจะต้องเป็น กสม.ในวันหนึ่ง แล้วจะทำโน้นนี่นั้น แต่เมื่อเข้ามาแล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด และบรรยากาศการทำงานก็ไม่ได้สนับสนุนให้เราทำงานของเราได้ จึงต้องตัดสินใจ แต่การทำงานที่ผ่านมาถือว่าดีใจและพอใจ ถือว่าได้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิ แม้ว่าบางเรื่องได้รับการตอบสนองช้าจากหน่วยงานรัฐ”นางอังคณา  กล่าว