คำพิพากษาละเอียด!!!ยกฟ้อง 22แกนนำนปช.คดี'เผาบ้านเผามือง-ก่อการร้าย'
สาระสำคัญในรายละเอียดของคำพิพากษาศาลชั้นต้นในการตัดสินยกฟ้อง22แกนนำนปช.ทุกข้อกล่าวหา ระหว่างชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ปี2553
สาระสำคัญในรายละเอียดของคำพิพากษาศาลชั้นต้นในการตัดสินยกฟ้อง22แกนนำนปช.ทุกข้อกล่าวหา ระหว่างชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ปี2553
เมื่อวันที่14 ส.ค.ศาลชั้นได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 22 แกนนำ นปช.ทุกข้อกล่าวหาทั้ง"ก่อการร้าย-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน –ทำให้เสียทรัพย์" ในระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในปี 2553 ซึ่งศาลใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและสืบพยานบุคคล มานานร่วม 9 ปี โดยมีสาระรายละเอียดของคำพิพากษาดังนี้
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้ว เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานก่อการร้ายนั้นจะต้องเป็นการกระทำอันเข้าองค์ประกอบความผิด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1)(2)(3) คือต้องมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
โดยการกระทำดังกล่าวนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษ ที่มีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน แต่หากเป็นการกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
จากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่เข้ามาเบิกความยืนยันว่า มีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่เป็นแกนนำกลุ่ม นปช. ได้ทำการปราศรัยหรือกระทำการอันเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำการที่ได้ระบุไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1)(2)(3) แม้โจทก์จะมีพยานเบิกความต่อศาลว่า ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง แต่พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือเป็นการกระทำของฝ่ายใด
ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข่าวว่าเป็นจริงหรือไม่ และยังมีพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความต่อศาลว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งยังเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐสภา โดยเหตุการณ์ความขัดแย้งความคิดทางการเมืองในประเทศไทยก็มีมาก่อน ตั้งแต่ปี 2548 ช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีการรวมกลุ่มของ พธม. ชุมนุมกดดันรัฐบาลยุบสภาลักษณะเช่นเดียวกัน จนมีการตั้งรัฐบาลยุคนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งต่อเนื่องจากมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงจนมีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กลุ่มจำเลย รวมตัวกันในนาม นปช.ชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันให้ยุบสภา
ในส่วนเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่า เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช. ส่วนที่จำเลยที่ 7 คือ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงศ์เรืองรอง จำเลยที่24 เดินทางไปที่รัฐสภาและสถานีดาวเทียมไทยคม ก็เป็นการเดินทางไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ต่อสัญญาณสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล ชาเเนล ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดหรือตัดสัญญาณไปก่อนหน้านั้น
ส่วนชายชุดดำก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใดและก็ไม่สามารถจับกุมบุคคลใดมาดำเนินคดีได้ในขณะนั้น ทั้งที่สถานที่ซึ่งปรากฏตัวชายชุดดำมีประชาชนอยู่ด้วยจำนวนมากจึงไม่น่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ทันท่วงที
สำหรับที่แกนนำกลุ่ม นปช. ปราศรัยบนเวที ว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุม หรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมันมาและให้มีการเผานั้นเป็นการกล่าวปราศรัยบนเวทีก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่มีการปราศรัยแต่อย่างใด โดยการวางเพลิงเผาทรัพย์เกิดขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค.53 ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ซึ่งคดีวางเพลิงเผาห้างเซ็นทรัลเวิล์ดนั้นศาลฎีกาได้วินิจฉัยในเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ไว้เป็นที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8132/2561 ว่าไม่ใช่เป็นการกระทำของกลุ่ม นปช.
ศาลยังเห็นอีกว่า การปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนทำการต่อต้านการทำรัฐประหารนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกฯ ขณะนั้นประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ก็เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศแนวทางการต่อสู้มาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ และยังได้ปฏิเสธเข้ามาดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กับพวกซึ่งมีแนวทางการต่อสู้คนละแนวกันตลอดมา
การดำเนินการของ พล.ต.ขัตติยะ กับพวก จึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม นปช. เพราะแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ประกาศจุดยืนมาโดยตลอดว่าเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธี สงบและปราศจากอาวุธ โดยการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จึงอาจมีบุคคลผู้ไม่หวังดีแฝงตัวเข้ามาเพื่อสร้างสถานการณ์ ให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นได้
สำหรับกรณี "นายยศวริศ" จำเลยที่ 7 กับพวก ที่ถูกฟ้องว่าขัดขวางการลำเลียงกำลังพลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้านั้น การยึดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ก็นำไปแสดงต่อสื่อมวลชนบริเวณเวทีปราศรัย ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจะใช้อาวุธกับกลุ่มผู้ชุมนุมก็เท่านั้น โดยต่อมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายเหล่านั้นกลับคืนไปหมดแล้ว
การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้ประสงค์เอาทรัพย์นั้นเพื่อไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ ส่วนเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้านั้นก็เกิดขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 7 นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ไปแสดงต่อสื่อมวลชนแล้ว ทางนำสืบยังฟังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 7 เดินทางกลับไปจุดนั้นอีก กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 ร่วมกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย
ศาล พิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้รวม 5 สำนวน บรรยายฟ้องโดยรวมลักษณะการกระทำความผิดต่างๆ ให้ครบองค์ประกอบความผิดก่อการร้ายเท่านั้น แต่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงพฤติการณ์จำเลยเป็นรายๆ ในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ มาด้วย ซึ่งหากช่วงวันเกิดเหตุการณ์ในแต่ละสถานที่นั้นถ้ามีการกระทำที่จะเป็นความผิดเกิดขึ้นก็ย่อมที่จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไปตามพยานหลักฐาน
ในส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะ "นายอริสมันต์" จำเลยที่ 24 ในความผิดมาตรา 116 ,215,216 ฟังได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันกับคดีที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องจำเลยที่ 24 กับพวกต่อศาลจังหวัดพัทยา กรณีพาพวกไปขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียน และศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)
สำหรับความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ห้ามชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนนั้น แม้รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล แล้วต่อมาศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในท้องที่ดังกล่าว
การออกประกาศนั้นก็เพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ซึ่งได้ร่วมชุมนุมต่อเนื่องติดต่อกันมาแล้วหลายวัน แต่ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้วจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบก็ยังฟังไม่ได้ว่าแกนนำกลุ่ม นปช. ได้จัดการชุมนุมที่อื่นใดอีกนอกเหนือจากสถานที่ที่มีการชุมนุมอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 - 15 และจำเลยที่ 18 - 24 จึงไม่เป็นความผิด พิพากษาให้ยกฟ้องทั้งหมด ทุกข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ ผลคำพิพากษาคดี แกนนำ นปช. ก่อการร้าย วันนี้ ยังคงเป็นเพียงคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในการตัดสินคดี ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมายฝ่ายอัยการโจทก์ ยังสามารถพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีต่อหรือไม่ หากยื่นอุทธรณ์ต้องดำเนินการภายใน 1 เดือนนับจากวันที่อ่านคำพิพากษา
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 24 คนประกอบด้วย 1.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. 2. นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ ประธานนปช. 3.นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. 4.นพ.เหวง โตจิราการ 5. นายก่อแก้ว พิกุลทอง 6.นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา 7. นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก 8.นายนิสิต สินธุไพร 9. นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล 10.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท
11.นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุจินดาทอง อดีตลูกน้อง คนสนิท พล.ต.ขัตติยะ หรือเสธ.แดง สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก 12.นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ 13.นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล 14.นายอำนาจ อินทโชติ 15.นายชยุต ใหลเจริญ 16.นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง 17.นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อดีตคนสนิท เสธ.แดง 18.นายรชต หรือกบ วงค์ยอด 19.นายยงยุทธ ท้วมมี 20.นายอร่าม แสงอรุณ หัวหน้าการ์ด นปช.อดีตลูกน้องคนสนิท เสธ.แดง
21.นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ อดีตคนสนิท เสธ.แดง 22.นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง กลุ่มการ์ด นปช. 23.นายสมพงษ์ หรืออ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม 24.นายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงศ์เรืองรอง
ทั้งนี้ นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ จำเลยที่ 21 หลบหนี จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง จำเลยที่ 16 เสียชีวิตระหว่างพิจารณาจำหน่ายคดีเหลือผู้ต้องหาทั้งหมด 22 คน