"ประภัตร"คิกออฟโครงการแพะ – แกะล้านนาสร้างรายได้เกษตรกร
รมช.เกษตรฯเปิดโครงการแพะ – แกะล้านนา ประเดิม จ.ลำปางดันเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง พัฒนาแพะให้ตรงตามความต้องการตลาด
รมช.เกษตรฯเปิดโครงการแพะ – แกะล้านนา ประเดิม จ.ลำปางดันเกษตรกรสู่ความเข้มแข็ง พัฒนาแพะให้ตรงตามความต้องการตลาด
เมื่อวันที่15 ก.ย.นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิด“โครงการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนโครงการแพะ – แกะล้านนา ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะ” พร้อมกับมอบป้ายอนุมัติเงินกู้ยืมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แก่ตัวแทนกลุ่มเกษตรจ.ลำปาง ลำพูน และ เชียงใหม่ และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อ-ขาย แพะ ระหว่างเครือข่ายเกษตกรเลี้ยงแพะ-แกะ ตามโครงการฯ ในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ บริษัทเอ วาย เค มัทเทิน จำกัด โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผวจ.ลำปาง และนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ณ ห้องประชุมอบจ.ลำปาง จ.ลำปาง
นายประภัตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมให้เกษตรกร รวมตัวเป็นองค์กรเกษตรกรที่เข้มแข็ง และเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ส่งเสริมอาชีพ ด้านแพะ-แกะ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จึงได้อนุมัติเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการแพะ-แกะล้านนา ในพื้นที่ 3 จังหวัด กลุ่มเกษตรกรรวม 22 กลุ่ม เกษตรกรรวม 220 ราย วงเงินอนุมัติรวม 44 ล้านบาท เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรสามารถเริ่มอาชีพการเลี้ยงแพะ หรือ พัฒนาการเลี้ยงแพะให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ สร้างรายได้แก่เกษตกรตลอดปี จนสามารถทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวได้ ทดแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจหลักที่อาจประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง
อย่างไรก็ตาม จากการรายงานพบว่า ในปี 2562 มีจำนวนแพะในประเทศไทยทั้งสิ้น 832,533 ตัว (แพะเนื้อ 803,768 ตัว แพะนม 28,765 ตัว) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จำนวน 65,850 ครัวเรือน ในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งแก่ชมรมเกษตรกรเลี้ยงแพะระดับจังหวัด 64 ชมรม สมาชิกเกษตรกรเลี้ยงแพะ 7,551 ราย สภาพการเลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สามารถผลิตและส่งออกแพะเนื้อบางส่วนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะแพะเนื้อ ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรเลี้ยงแพะในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ตลาดมีความต้องการ เพราะราคาดี ต้นทุนต่ำ
ด้าน นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเพื่อมุ่งให้เกษตรกรที่เข้าร่วมและผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงแพะ ได้รับรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้การเลี้ยงแพะ ตลอดจนการพัฒนาแพะด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการเลี้ยงในอนาคต และแนวทางในการดำเนินโครงการแพะ แกะล้านนา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้การเลี้ยงแพะของเกษตรกรภายใต้โครงการมีความยั่งยืน