นมควายไทย...ให้อะไรมากกว่าที่คิดของดีจาก"สอนศิริฟาร์มควายไทย"
โดย มานิตย์ สนับบุญ
โดย มานิตย์ สนับบุญ
ย้อนหลังไปเมื่อราว 50 กว่าปี ที่เกษตรกรไทยยังใช้แรงงานควายไถนา –ทำนา ไปทางไหนจะพบ “ควาย” ได้ไม่ยาก ปัจจุบันเกษตรกรมักใช้รถไถนาแทนควาย ทำให้ควายไม่มีงานทำ เกษตรกรก็ไม่เลี้ยง จึงเป็นผลให้ควายพันธุ์ดี ๆ เหลือน้อยลงทุกที ทั้งๆที่ อดีตชาติพันธุ์ไทยคงอยู่ได้เพราะควายนี่เอง…ยุคปลายกรุงศรีอยุธยาชาวบ้านบางระจันในประวัติศาสตร์สุดกล้าหาญถึงกับขี่ควายออกประจัญบานกับข้าศึกรักษาผืนแผ่นดินเอาไว้
เรื่องราวต่อไปนี้เมื่อได้พบ -ฟังแล้วต้องทึ่ง!...กับ หนึ่งเดียวในไทย ผลิตภัณฑ์นมควายไทย อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี "สอนสิริฟาร์มควายไทย"ได้ปรับปรุงพันธุ์ –อนุรักษ์ควายไทย ให้คงอยู่พร้อมสร้างผลผลิตจากควายมากกว่าใช้แรงงานสร้างรายได้มหาศาล เลี้ยงดูครอบครัว เป็นแหล่งเรียนรู้ –ศึกษาวิจัย “ควายไทย” ไม่ให้สูญหาย
นายพรหมพิริยะ สอนสิริ อายุ 52 ปี เจ้าของสอนสิริฟาร์มควายไทย เลขที่ 66/1 หมู่ 2 ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เล่าว่า มาอยู่ อ.บ้านสร้างเมื่อปี 2543 และได้ทำฟาร์มควายไทย โดยเลี้ยงในระบบปิดมากกว่า 300 ตัว มีแม่พันธุ์ 180 ตัว พ่อพันธุ์ 2 ตัว บนเนื้อที่รวมทั้งหมดกว่า 55 ไร่ เลี้ยงควายไทยมานานกว่า 17 ปีเศษ
โดยก่อนหน้าหลังจบการศึกษาด้านสัตว์บาล ได้ไปทำงานด้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ-ยากุ้ง พร้อมเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ อาทิ เลี้ยงกุ้ง ทำฟาร์มเลี้ยงม้า,แกะ,แพะ ล่าสุดทำฟาร์มโคนม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งมีเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ดีกรีระดับดอกเตอร์ด้านควายไทย ได้แนะนำให้ลองเลี้ยงควายไทยที่เป็นสัตว์พื้นเมือง –เลี้ยงง่ายดีที่สุดในโลก
การลงทุนไม่สูง ควายเลี้ยงง่ายกินหญ้าทุกชนิด ที่บ้านสร้าง มีบ่อปลาเป็นหมื่นไร่ ตามคันบ่อปลาก็จะมีหญ้าขึ้นจำนวนมาก ก็ไปขอตัดได้ผลประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญควายเป็นสัตว์ประจำชาติไทยที่มีพันธุกรรมดั้งเดิมอยู่ในประเทศ แต่วัวต้องไปหาสายพันธุ์มาจากต่างประเทศ จึงจะได้พันธุ์แท้จึงได้ค่อย ๆ ขายวัวออกไป
จากนั้นเลือกซื้อแม่พันธุ์ –พ่อพันธุ์ลักษณะดี จากแหล่งการจัดประกวดพันธุ์ควายไทยทั่วประเทศมาเลี้ยงในฟาร์ม พร้อมกับพัฒนาจนทำให้ได้พันธุ์ควายที่มีรูปร่างขนาดใหญ่ สมบูรณ์ ถูกต้องตามคุณลักษณะควายไทยแท้ทุกอย่าง อีกทั้งยังได้ลูกควายที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายได้ในราคาสูง
ที่มาของการทำนมควาย เนื่องลูกควายที่เพิ่งคลอดออกมาถูกตะขาบกัดตาย ต้องรีดนมแม่ตลอด เพื่อไม่ให้นมคัดเต้าได้ทดลองทำการพาสเจอไรซ์น้ำนม พบกลิ่นนมควายที่ได้หอมหวาน ไขมันสูงกว่านมท้องตลาด จึงได้ทำเริ่มรีดนมควายไทยตั้งแต่นั้นมา พร้อมยังขยายผลิตภัณฑ์จากนมหลายอย่าง อาทิ โยเกิร์ตขายให้แก่กลุ่มผู้รักสุขภาพในชื่อแบรนด์ “SIAM BUFF MILK” ,พุดดิ้งนมควาย ,หวีจากเขาควาย ,สบู่น้ำนมควาย,ง่ามหนังสะติ๊กเขาควาย
“สอนศิริฟาร์มควายไทย” เป็นฟาร์มที่เลี้ยงควายแบบยืนโรง ตลอดการเลี้ยงควายทำด้วยใจรัก มีความประณีต ทุกคอกมีความสะอาดเป็นหลักทุกขั้นตอน พร้อมกับการดูแลปรับอุณหภูมิในคอกเลี้ยงให้มีความเหมาะสมด้วยการตั้งสเปรย์ละอองน้ำเป็นจังหวะอัตโนมัติไว้
อาหารที่ให้วันละ 3-4 กิโลกรัมร่วมกับหญ้าและฟางทำให้ควายมีสุขภาพดี อ้วน ส่วนที่พื้นคอกจะมีที่นอนฟองน้ำสำหรับให้ควายนอน หรือเมื่อลุกขึ้นยืนแบบชันเข่าจะได้ไม่มีแผล ส่วนภายนอกโรงเรือนคลุมด้วยมุ้งอีกชั้น เพื่อป้องกันยุงและแมลงเข้ามา
ตลอดจนจ้างเจ้าหน้าที่เป็นสัตว์บาลกว่า 10 คนเข้ามาทำงาน เพราะตั้งใจใช้บุคลากรมืออาชีพที่มีความชำนาญมารับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ ในที่สุดผลแห่งความสำเร็จทำให้ฟาร์มแห่งนี้มีพันธุ์ควายไทยทั้งเพศผู้-เมีย ที่ล้วนแต่มีความสมบูรณ์สวยงาม ตามคุณลักษณะควายไทยแท้ จนได้รางวัลจากการประกวดมากมาย อีกทั้งลูกควายทุกตัวที่เกิดใหม่ล้วนมีคุณภาพมีความสมบูรณ์ตามมาตรฐาน ลูกควายที่มีอายุ 1 ปีได้น้ำหนักอย่างน้อยตัวละประมาณ300 กิโลกรัม ที่ผ่านมาจำหน่ายลูกควายได้มากกว่า 50- 60 ตัว ราคาขายขั้นต่ำ 1 -2 แสนบาท
สำหรับนมควายพาสเจอไรซ์ หลายคนอาจไม่เคยดื่มนมควาย เพราะยังไม่รู้ถึงคุณค่า ความจริงนมควายดื่มได้ ที่สำคัญมีคุณประโยชน์ทางโภชนาการมากมาย ทั้งโปรตีน ฟอสฟอรัส วิตามินเอ ธาตุเหล็กและแคลเซี่ยมสูง อีกทั้งไม่มีกลิ่นคาว มีรสชาติหวานมันแล้วมีคอเลสเตอรอลต่ำ
นอกจากนั้น น้ำนมควายยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงเหมาะกับคนที่แพ้แล็กโทสในนมวัว แล้วไม่ต้องการดื่มนมแพะ พบว่าลูกค้าติดใจ เด็ก ๆที่แพ้นมวัวก็หันมาดื่มนมควายมีรสหวานโดยธรรมชาติ ซึ่งนมควายและโยเกิร์ต ขายดีในกลุ่มรักสุขภาพ- นักกีฬา แต่ผลิตไม่ทัน
ปัจจุบันได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงควายไทย โดยหวังให้สมาคมเป็นแหล่งศูนย์กลางการติดต่อหาซื้อพันธุ์ควาย รวมทั้งยังเพื่อต้องการหาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงควายเชิงพาณิชย์ด้วย แล้วการเข้าเป็นสมาชิกสมาคม ถือเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ได้เรียนรู้แล้วเข้าใจธรรมชาติของควายไทยมากยิ่งขึ้น
การออกตระเวนไปดูควายตามสถานที่ต่างๆ ทำให้ไปพบเห็นควายที่มีรูปร่างสูงใหญ่ สมบูรณ์และมีความเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของควายไทย แล้วมองว่ามีความต่างอย่างสิ้นเชิงกับควายที่เขาเลี้ยงอยู่ในฟาร์ม ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้เขาตั้งใจที่จะพัฒนาควายที่เลี้ยงอยู่ทุกตัวให้มีคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงยังไปหาซื้อพันธุ์ควายที่เด่นที่สุดในประเทศ หรือควายที่ได้แชมป์เข้ามาเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ แล้วตั้งเป้าหมายว่า ฟาร์มของเขาจะต้องเพาะพันธุ์ควายไทยที่ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อขายให้แก่ชาวบ้านในราคาไม่แพง
เมื่อต้นปี 2561 จุดเปลี่ยนในอาชีพก็เกิดขึ้นอีกเมื่อมีควายคลอดลูก แต่ลูกควายถูกตะขาบกัดตาย ขณะที่แม่ควายก็เจอปัญหานมคับเต้า จึงต้องนำมารีดนมออกเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับแม่ควาย แล้วนำไปให้ลูกควายตัวอื่นกินแทน ได้นำนมควายไปผ่านกระบวนการแบบพาสเจอไรซ์ พร้อมกับนำมาดื่มในครอบครัวก็พบว่า มีรสอร่อย มัน หอม แต่จากการรีดนมควายเช้า-เย็น แล้วได้ปริมาณถึงวันละประมาณ 8 ลิตรจากแม่ควายเพียงตัวเดียว จึงทำให้จำเป็นต้องใช้กระบวนการเดียวกันแล้วแจกจ่ายให้แก่คนใกล้ตัวลองดื่ม ซึ่งหลายคนพอใจในคุณภาพ รสชาตินมควาย
เมื่อเป็นเช่นนั้นเลยเกิดเป็นความคิดใหม่ผลิตนมควายสดขาย รวมถึงยังพัฒนาเป็นโยเกิร์ต จากนั้นได้นำไปเปิดตัวในงานของทางปศุสัตว์ พร้อมแจกให้ผู้สื่อข่าวดื่มกัน ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งมีกลุ่มสุขภาพได้มารู้จักกับนมควาย แล้วรู้ดีถึงคุณค่าทางโภชนาการของนมควาย จึงติดต่อมาซื้อเหมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการขายนมควายในเชิงธุรกิจ
จากแนวโน้มความสนใจผู้บริโภคนมควายเพิ่มขึ้น ได้เปลี่ยนจากคนรีดมาใช้อุปกรณ์รีดนมแทน เพื่อทำให้เกิดความรวดเร็วต่อการผลิต จนถึงตอนนี้มีแม่ควายที่ใช้รีดนมอยู่จำนวน 29 ตัว พร้อมกับเตรียมเสริมเข้ามาอีกนับสิบตัว ทุกวันนี้สามารถผลิตน้ำนมควายสดได้ปริมาณเฉลี่ย 40-50 กิโลกรัมต่อวัน และ จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ เพื่อจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 250 บาท
สำหรับผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตได้แบ่งนมสดที่รีดไว้ เพื่อนำมาผลิตเป็นโยเกิร์ตแบบโฮมเมด พร้อมกับติดแบรนด์ตัวเองว่า สยาม บัฟ มิลก์ (Siam Buff Milk) โดยได้รับการแนะนำ ส่งเสริมแล้วให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากทางปศุสัตว์ และกำหนดราคาขายขวดละ 55 บาท ขนาดบรรจุ 180 ซีซี ส่วนโยเกิร์ตผลิตบรรจุใส่ขวดแบรนด์ขนาด 70 ซีซี ขายราคาขวดละ 45 บาท พุดดิ้งนมควาย กระปุกละ 40 บาท ตั้งเป้าสร้างผลิตภัณฑ์จากนมควายให้ครบทุกด้าน
พร้อมชูฟาร์มเป็นสถานที่ท่องเที่ยวการเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ทำให้นายพรหมพิริยะมองถึงศักยภาพของนมควายว่า ไม่เพียงผลิตเป็นนมสดและโยเกิร์ต แต่ยังสามารถนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม กาแฟ ชา หรือแม้แต่มอสซาเรลล่าชีสหรือเนยแข็ง และบลูชีส
เนื่องจากพบว่า ชีสที่ผลิตจากนมควายมีคุณภาพได้มาตรฐานทัดเทียมกับชีสจากต่างประเทศ แล้วหากทำสำเร็จจะช่วยลดการนำเข้าชีสจากต่างประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนและเป้าหมายก็จะรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในแบบเป็นระบบได้มาตรฐาน เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมกัน และพบมีตลาดต่างประเทศสนใจที่จะขอซื้อพันธุ์ควายไทยเพื่อไปขยายพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ด้วย อาทิ จีน, เวียดนาม,มาเลเซีย
นอกจากนั้น จะเปิดให้เป็นแลนมาร์คให้เด็กออทิสติก-สมาธิสั้นได้ขี่ควาย พร้อมกันในบริเวณนี้ ได้ซื้อข้าวจากชาวนาที่ต้นข้าวไม่อยากขึ้นแซมแปด้วยต้นหญ้า ปีละหลายร้อยไร่ มาเป็นอาหารให้ควายสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น พร้อมกันนี้ยังมีผู้สนใจตั้งฟาร์มควายไทยเพิ่มอีก 2 แห่งในต่างจังหวัดโดยทางสอนสิริฟาร์มได้ลงทุนร่วมด้วย
สำหรับ ขั้นตอนของการรีดนมควาย หลังจากแม่ควายอาบน้ำสะอาดเรียบร้อยแล้ว จะรอให้ตัวแห้ง จากนั้นนำเข้าซองรีด ใช้เชือกมัดขาหลังสองข้างให้ติดกับหลักเพื่อป้องกันการดิ้นหรือสะบัด ระหว่างนั้นอาจให้อาหารหรือสเปร์ยละอองน้ำเพื่อไม่ให้ควายเครียด ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้า เพื่อช่วยกระตุ้นให้นมออกง่าย การรีดนมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต่อตัว เมื่อได้น้ำนมดิบแล้วจึงใช้ผ้าขาวบางกรองก่อน โดยน้ำนมดิบส่วนหนึ่งนำไปเข้ากระบวนการทำพาสเจอไรซ์ อีกส่วนไว้ใช้สำหรับทำโยเกิร์ต
ดังนั้น ในแต่ละวันประมาณ 2 ทุ่มจะแยกลูกควายกับแม่ออกมาอยู่ต่างคอกเพื่อไม่ต้องการให้ลูกควายกินนมแม่ในช่วงกลางคืน ขณะเดียวกันจะมีอาหารข้นกับน้ำไว้ให้ลูกควายหลังจากที่จับแยกกับแม่ควายแล้ว พอในตอนเช้าจะอาบน้ำให้แม่ควายด้วยแชมพูอย่างสะอาด รอให้ตัวแห้งสนิท แล้วจึงนำเข้าช่องรีดนมต่อไป
โดยจะรีดนมเพียงตัวละ 1 ครั้งต่อวัน ดังนั้น จึงไม่ทำให้ควายเกิดความเครียดจากการยืนนาน จึงส่งผลต่อน้ำนมที่ออกมาเป็นน้ำนมที่มีคุณภาพ อีกทั้งในช่วงเวลา 180 วันที่รีดนมจากควาย จะมีการนำตัวอย่างนมไปตรวจสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนมดิบและนมพาสเจอไรซ์
ในปี 2560 นายพรหมพิริยะ สอนศิริ ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จึงมีความตั้งใจและมุ่งมั่นว่า จะอนุรักษ์ควายไทยสมบัติของชาติไว้ รวมถึงยังตั้งใจจะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านเกษตรกรในการจัดหาควายไทยที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์เข้ามาเลี้ยงเพื่อหารายได้ยังชีพ
อย่างไรก็ตาม คนรักสุขภาพน้ำนมควายถือว่าตอบโจทย์ด้านสุขภาพ หากท่านใดสนใจซื้อผลิตภัณฑ์นมควายให้ติดต่อโดยตรงผ่านผู้แทนจำหน่ายที่โทรศัพท์ (094) 626-9561 หรือสนใจเข้าเยี่ยมชมหาความรู้ ติดต่อได้ที่ “สอนศิริฟาร์มควายไทย” โทรศัพท์ (061) 287-1545