posttoday

"กนก"ชู 3 แนวทางจัดการภัยแล้ง เตือนปีนี้ฝนแล้งหนัก

25 พฤษภาคม 2563

"กนก วงษ์ตระหง่าน" เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาภัยแล้ง ชี้ปีนี้เกษตรกรอ่วมทั้งเจอฝนแล้ง และพิษโควิดกระทบเศรษฐกิจ

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ว่าส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเกษตรกรในชนบท และเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ผันตัวเองกลับภูมิลำเนา และหวังจะสร้างชีวิตใหม่กับงานด้านการเกษตร

“ปี 2563 จะเป็นปีที่ฝนแล้งอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อประสานกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อาทิ การตกงาน เนื่องจากโรงงานปิดตัว หรือบริษัทลดจำนวนพนักงานลง ก็เปรียบเสมือนเป็นฝันร้ายของคนว่างงาน ที่หวังจะกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่กับงานด้านการเกษตร ดังนั้น ฝนไม่ตก น้ำไม่พอ รายได้ไม่มี จึงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการดูแลปากท้องของพี่น้องประชาชนในชนบท ทั้งที่ผันตัวกลับไปด้วยผลกระทบจากไวรัส และที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถผ่านความยากลำบากเช่นนี้ไปได้”

ศ.ดร.กนก กล่าวอีกว่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศสามารถเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาประมาณ 755,000 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ได้เพียง 43,000 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับ 5.7% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น น้ำที่เหลือส่วนใหญ่ไหลลงสู่ทะเลและอีกเล็กน้อยซึมลงใต้ดินไปสะสมเป็นน้ำบาดาล ซึ่งอาจสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วประเทศไทยไม่ขาดน้ำ แต่เรากักเก็บน้ำได้น้อยต่างหาก มันจึงกลายเป็นปัญหา และได้เสนอแนวทางที่เกษตรกรในทุกพื้นที่สามารถมีน้ำใช้ได้เพียงพอต่อระยะเวลาในการเพาะปลูก โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น ดังนี้

1. การเพิ่มความจุแหล่งกักเก็บน้ำ กล่าวคือ ในทุกพื้นที่ของประเทศจะมีแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระ บ่อ ห้วย หนอง ลำคลอง บึง กระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่เก็บน้ำเหล่านี้ไม่ได้รับการขุดรอกมาอย่างยาวนาน จนหลายส่วนตื้นเขิน และหมดสภาพเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไปแล้ว ตัวอย่างเช่น บึงบอระเพ็ด และบึงสีไฟ ที่บริเวณรอบบึงตื้นเขิน ถูกคนบุกรุกปลูกบ้านกันเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่กักเก็บน้ำลดลงไปมหาศาลเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพื้นที่บึงเหล่านี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เป็นต้น

2. การกระจายน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูก กล่าวคือ แหล่งน้ำที่กักเก็บน้ำไว้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราสามารถกระจายน้ำไปยังไร่นา หรือแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรได้ ดังนั้น ระบบส่งน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำไปยังพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกรที่อยู่โดยรอบจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการประหยัดต้นทุนของการกระจายน้ำ และเพื่อให้มีน้ำเพียงพอ ดังนั้น การจัดระเบียบและผังการเพาะปลูกต่อการใช้น้ำที่ต้องสัมพันธ์กัน

3. การทำน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรน้ำน้อย กล่าวคือ ปัญหาที่ใหญ่มากๆ ของเกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องแหล่งน้ำก็คือ พื้นที่เพาะปลูกอยู่ห่างไกลเกินกว่าการกระจายน้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำจะไปถึง ดังนั้น กระบวนการหาน้ำใต้ดิน หรือการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะประเทศไทยมีน้ำใต้ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีเพียงพอกับการทำเกษตร แต่การขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ก็ต้องมีเงื่อนไขในการส่งเสริมการใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งก็มีแนวทางของการเกษตรน้ำน้อยออกมาแนะนำกันแล้ว ซึ่งการันตีว่า สามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลุกข้าวที่ต้องใช้น้ำอย่างมหาศาล

ประธานอนุกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า โครงการเงินกู้ 400,000 ล้าน เพื่อการฟื้นเศรษฐกิจและสังคม ควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เพราะนอกจากการแก้ปัญหาภัยแล้ง และการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือการสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจให้กับประชาชนฐานรากได้ นี่แหละคือของคำตอบที่ผมอยากได้ และน่าจะเป็นของขวัญที่ประชาชนต้องการจากรัฐบาล มากกว่านโยบายการแจกเงินใดๆ