posttoday

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก

29 กันยายน 2563

โดย สมาน สุดโต

****************

นโยบายทางการทูตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 300 ปีเศษ ทำให้สยามเป็นที่รู้จักของประเทศตะวันตก ซึ่งได้รับการจารึกในพงศาวดาร เป็นประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังต้องศึกษาดังที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดโครงการศึกษาดูงานเส้นทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์การทูตไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2563 ที่จังหวัดลพบุรี

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกจังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งศึกษา เพราะเป็นเมืองโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์ ในการนี้ได้เชิญ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากร ท่านเล่าเรื่องที่น่าสนให้ฟังในหลายแง่มุม เพราะอิฐโบราณก้อนเดียว ก็มีเรื่องเล่ามากมาย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก

ดร.ปรีดี วิทยากร เล่าถึงการเดินทางไปจังหวัดลพบุรี ถ้าเดินทางจากพระนครศรีอยุธยา โดยทางเรือ ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน หากใช้ม้าเร็วก็ใช้เวลา 1 วัน เทียบกับปัจจุบันจากกรุงเทพฯไปลพบุรีใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง

เมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่ 2 รองจากกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพ.ศ.2209 เพื่อเป็นที่ประทับและเพื่อความปลอดภัยของพระองค์ เพราะเพียงปีแรกที่ขึ้นครองราชสมบัติ ก็มีความพยายามก่อการปฏิวัติถึง 3 ครั้ง

เมื่อสร้างเมืองลพบุรีเสร็จแล้ว พระองค์ประทับที่เมืองใหม่แห่งนี้ ปีละ 8 เดือน นอกจากประทับที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์แล้ว ก็มีพระที่นั่งนอกเมือง ชื่อ ไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็น ตั้งอยู่ที่ทะเลชุบศร เป็นที่ประทับเพื่อสำราญพระอิริยาบถ และใช้เป็นที่ทอดพระเนตรจันทรุปราคากับคณะมิชชันนารีจากประเทศต่างๆ ด้วย

ลพบุรีในเวลานั้นมีชาวต่างชาติทำมาค้าขายมาก มิชชันนารีมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ คณะทูตจากนานาประเทศมาเจริญสัมพันธไมตรี ทำให้ต้องใช้ภาษาต่างๆ ติดต่อกันคือ ปอร์ตุเกส ฮอลันดา มุสลิมและฝรั่งเศส

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก

คณะชมพระที่นั่ง ได้ชมพระที่นั่งจันทรพิศาล ซึ่งปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงผลงานความสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศ เช่น แผนที่เดินเรือสยามกับฝรั่งเศส เขียนโดยเมอซิเออร์ เดอ โชมอง ราชทูตฝรั่งเศส ภาพสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส และภาพเขียนสมเด็จพระนารายณ์เสด็จรับพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสที่อัญเชิญมาโดยราชทูต

พระราชกรณียกิจที่เลื่องลือได้รับการจารึกลงในพงศาวดาร ได้แก่ การส่งเสริมสัมพันธไมตรี กับประเทศฝรั่งเศส กล่าวคือ โปรดให้ส่งคณะราชทูตเดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อถวายพระราชาสาส์น และเครื่องบรรณาการแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้ง

แต่ที่เลื่องลือมีชื่อปรากฏในพงศาวดาร คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งเป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสเมื่อพ.ศ. 2229

การทูตครั้งนั้นสร้างความประทับใจพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จนกระทั่งทรงให้สร้างของที่ระลึก คือ ภาพเขียนขนาดใหญ่ที่คณะราชทูตไทยเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งแวร์ซาย เหรียญที่ระลึกด้านหนึ่งเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อีกด้านหนึ่งเป็นรูปคณะราชทูตเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น นอกจากนั้นให้แต่งหนังสือเล่าเรื่องการทูตของสยามกับฝรั่งเศสด้วย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) กับคณะที่อยู่ที่ฝรั่งเศส 7 เดือน เดินทางกลับกับคณะราชทูตของฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม โดยถึงปากน้ำไทยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2230

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) มีเชื้อสายมอญ เป็นหลานพระยาเกียรติ พระยาราม ที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย ท่านเกิดพ.ศ. 2176 และถึงแก่อสัญกรรมพ.ศ. 2242

การเมืองในสยามช่วงนั้นเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น แม้ว่าสมเด็จพระนารายณ์จะประสบความสำเร็จด้านการทูตกับประเทศตะวันตกก็ตาม ด้วยว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีก สมุหนายกที่มีอำนาจบัญชาการเหมือนนายกรัฐมนตรี ได้รับการโปรดปรานให้มีอำนาจมาก เริ่มจากตำแหน่งหลวงสุรสาคร ก็เติบโตเป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในเวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น จึงทำให้ขุนนางไทยชั้นสูงหลายคนไม่พอใจ ยิ่งได้เห็นบ้านหลวงรองรับราชทูต ที่มีขนาดใหญ่โต มีโบสถ์คริสต์ตั้งอยู่ในบ้านด้วยแล้วก็สร้างความไม่พอใจมากขึ้น ความไม่ไว้ใจมีเพิ่มมากขึ้นเมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ชักชวนพระสงฆ์ให้สึกมารับราชการซึ่งสะเทือนใจชาวพุทธอย่างมาก

วันหนึ่ง พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ก็สามารถยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ได้สำเร็จ จับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ไปสำเร็จโทษนอกเมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 5 มิถุยายน พ.ศ. 2231

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก

ที่ถูกสำเร็จโทษพร้อมๆ กับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คือ พระอนุชา 2 พระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ และเจ้าฟ้าน้อย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตด้วยความตรอมพระทัย ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ปราสาททองสมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 27 แห่งอยุธยา ประสูติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2175 เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปราสาททอง ขึ้นครองราชย์วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2199 ขณะเสด็จสวรรคตนั้น ทรงมีพระชนมายุ 56 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา 32 ปี

รศ.ดร.ปรีดี กล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงริเริ่มการทูตสยามออกสู่สากล ทำให้ประเทศตะวันตกรู้จักประเทศทางตะวันออก โดยเฉพาะสยามมากยิ่งขึ้น ทรงดำเนินวิเทโศบาย โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เปิดให้ต่างชาติค้าขายมิชชั่นนารีได้อย่างเสรี ฝรั่งเศสจึงบรรจุพระนามว่า ทรงเป็นจักรพรรดิ์ของโลกพระองค์หนึ่ง เอกสารชาวตะวันตกถวายพระราชสมัญญานามว่า King Narai, the Great ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปิดโลกทัศน์สยามสู่ประเทศตะวันตก