หลายหน่วยงานร่วมลงนามหนุนขับเคลื่อน"อปท.ปลอดบุหรี่"ทั่วประเทศ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และภาคีเครือข่าย ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนงานควบคุมบริโภคยาสูบของอปท.เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในระดับท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนงานควบคุมบริโภคยาสูบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่าง 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในระดับท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การสร้างสังคม สภาพแวดล้อม และปรับพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ให้ลดการสูบบุหรี่ลง ผ่านกลไกต่างๆ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยในงานมีตัวแทนส่วนท้องถิ่น 49 แห่ง เป็นพื้นที่ต้นแบบในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวระหว่างเปิดงานว่า การบริโภคยาสูบเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของคนไทยในขณะนี้ เป็นภาระที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ปัจจุบันมีผู้ป่วยเกือบ 1.1 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบมาจากบุหรี่ และยังมีผู้ที่สูบบุหรี่กว่า 10.7 ล้านคนในทุกจังหวัด เฉลี่ยจังหวัดละแสนคน บางพื้นที่ อยู่ที่ประมาณ 2 – 3 แสนคน ซึ่งในช่วง 10 ปีหลัง แม้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง แต่ก็ยังไม่มากนัก ถือเป็นปัญหาและความท้าทาย ดังนั้นการลงนามในวันนี้ เปรียบเสมือน “จุดเปลี่ยนเกม” เนื่องจากจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามาดำเนินการตามแผนควบคุมยาสูบที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ ผ่านกลไกของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทั้งการสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพของคนไม่สูบบุหรี่ ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และส่งเสริมให้คนที่อยากเลิกเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งจะทำให้ตัวแทนท้องถิ่นทั้ง 49 แห่ง ที่มาร่วมงานในวันนี้ ได้เห็นภาพการส่งเสริมนโยบายลดการบริโภคยาสูบ และตัวแทนจากหน่วยงานที่มาร่วมลงนาม ได้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า จะมีความร่วมมือกันอย่างไร ใช้กลไกใดเพื่อร่วมขับเคลื่อน ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนทำงานได้ง่ายขึ้น
ด้านนพ. ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการจัดเก็บ พร้อมส่งต่อข้อมูลและเสริมองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวในการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ เริ่มเห็นสถิติผู้สูบบุหรี่กำลังเข้าสู่อัตราคงที่ ดังนั้นจะต้องหาผู้ที่เข้ามาสร้างโมเดลต้นแบบในแต่ละท้องถิ่น และสร้างคู่มือให้กับแต่ละพื้นที่ว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรในการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในตอนนี้ก็กำลังจะขยายผลไปสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ เพราะการจะให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี จะต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นทั้งหมดในการขับเคลื่อนโยบายนี้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การควบคุมยาสูบเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ สสส. จึงพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อควบคุมยาสูบในทุกระดับ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมสุขภาพในระดับตำบลแล้วกว่า 3,000 แห่ง และการสนับสนุนผ่านภาคีเครือข่าย ทั้งสื่อและองค์ความรู้ต่าง ๆ ทำให้การควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมคาดหวังว่า การลงนามครั้งนี้ จะสร้างมาตรการควบคุมยาสูบในรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลออกไปด้วย
ด้าน นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของสุขภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยของประชาชน และถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ตั้งแต่ครอบครัว สังคม ชุมชน โดยมีทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งกรมพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนทั้งการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการไม่สูบบุหรี่
ส่วน นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มาจากสถานการณ์ควบคุมยาสูบที่ต้องเกิดการขยายวงที่กว้างขึ้น โดยการทำงานของคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัดจำเป็นต้องมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ช่วยดูในภาพรวม และขับเคลื่อนลงสู่ระดับพื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดกลไกชัดเจนมากขึ้น เช่น มีคณะทำงานของ อปท. ที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน หรือสถานที่สาธารณะภายใต้การดูแลของ อปท. ต้องปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย รวมถึงเรื่องของการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ และการบูรณาการร่วมกันตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน ให้เกิดประชาคมที่มีการควบคุมยาสูบ โดยคิดว่าการลงนามครั้งนี้ เป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้การควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ได้ผล สามารถคัดกรองคนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่และนำเข้าสู่ระบบบริการได้ดีขึ้น พร้อมคาดหวังว่าการลงนามในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการขยายผลโมเดลการควบคุมยาสูบที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้ในการขับเคลื่อนงานในท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ด้วยการเปิดให้มีพื้นที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยภารกิจของท้องถิ่นคือ ต้องทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สังคมที่ดี และเศรษฐกิจที่ดี หากในระดับครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรง ก็จะมีผลดีต่อสังคม แต่หากเกิดปัญหาในเรื่องของสุขภาพของคนในครอบครัวแล้ว ทุกอย่างก็จะเกิดปัญหาตามไปด้วย และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมยาสูบ