posttoday

ส่อง 10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตาม ประจำปี64

16 ธันวาคม 2563

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย 10 เรื่อง "ดาราศาสตร์" น่าติดตามในปี 2564 พร้อมเดินหน้า "เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย" หนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 63 ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แถลงข่าวผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เชิญชวนประชาชนติดตาม 10 เรื่องราวดาราศาสตร์สำคัญในปี 2564 ดังนี้

1) ดวงจันทร์บังดาวอังคาร (Occultation of Mars by the Moon) 17 เมษายน 2564

เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร เริ่มปรากฏการณ์เวลาประมาณ 20:12 น. จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และดาวอังคารจะโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น.

2) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้ - ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon & Micro Full Moon)

ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ Super Full Moon (27 เมษายน 2564) และดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ Micro Full Moon (19 ธันวาคม 2564)

3) จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) : 26 พฤษภาคม 2564

สังเกตได้ทุกภูมิภาคของประเทศ ในประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์โผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:42 น. ทำให้ผู้สังเกตจะมองเห็นจันทรุปราคาบางส่วนตั้งแต่เวลา 17:42 - 18:52 น. รวมเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 10 นาที

4) ปรากฏการณ์สำคัญเกี่ยวกับดาวเคราะห์

ดาวเสาร์ใกล้โลก (8 สิงหาคม 2564) ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก (20 สิงหาคม 2564) และดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งสว่างที่สุด (7 ธันวาคม 2564)

5) การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์สู่สังคม : AstroFab (Astronomy Fabrication Laboratory)

เปิดแลปดาราศาสตร์ ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงาน ต่อยอดความคิด สู่การประดิษฐ์คิดค้นชิ้นงาน สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมืออันทันสมัยทั้ง Hardwares และ Softwares ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญแนะนำการใช้งาน สู่การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีต้นแบบ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เสริมสร้างศักยภาพกำลังคนของประเทศ ให้สามารถต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจได้

6) ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ (Optics and Photonics Center)

สดร. จัดตั้งศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ มีห้องปฏิบัติการฯ ตั้งอยู่ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อออกแบบ พัฒนา และผลิตเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เชิงทัศนศาสตร์ที่ทันสมัย พัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านทัศนศาสตร์และเทคโลยีทัศนศาสตร์ศักยภาพสูงสำหรับใช้งานด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ และการป้องกันประเทศ และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อประยุกต์สู่ภาคอุตสาหกรรม

7) จับตา 2 ภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศ/ อวกาศแห่งประเทศไทย

ภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย (Thailand Consortium for Atmospheric Research: TCAR) ผนึกกำลัง 28 หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา จัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการ วิจัยบรรยากาศที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศไทยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัญหามลภาวะทางอากาศ เช่น PM2.5 เป็นต้น

ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) จับมือ 9 หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา ร่วมกันออกแบบ พัฒนาและสร้างดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ โดยทีมวิศวกรไทย ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง นำความรู้ความสามารถของแต่ละหน่วยงานภาคีมาบูรณาการร่วมกันเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศของประเทศ ต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม พร้อมวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวไปสู่วงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ

8) Dark Sky in Thailand เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศ

สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง รณรงค์ให้เกิดสถานที่ที่สงวนความมืดของท้องฟ้าเวลากลางคืน เชิญชวนชุมชน หน่วยงาน ผู้ประกอบการ ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย พร้อมจับมือ ททท. จัดแคมเปญท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

9) การสำรวจสำคัญในแวดวงดาราศาสตร์โลกปี2564

ยานโฮป (Hope) รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) ยานเทียนเวิ่น 1 (Tienwen-1) ยานจันทรายาน 3 (Chandrayaan-3) ยาน Double Asteroid Redirection Test (DART) กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope หรือ JWST) เที่ยวบินอาร์ทีมิส 1 (Artemis 1) ยานเบปีโคลอมโบ (BepiColombo) และยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ (Solar Orbiter)

10) เปิดนิทรรศการชุดใหม่ Astronomy Insight และ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อพวช. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ตื่นตาตื่นใจกับนิทรรศการโซนใหม่ อาทิ ห้องแห่งเอกภพ หลุมดำ กล้องรูเข็ม สุริยุปราคาในเมืองไทยในอีก 100 ปี ฯลฯ และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อพวช. ความร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ร่วมสร้างพื้นที่เรียนรู้อาชีพสายวิทย์ และแหล่งพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน คาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี 2564

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านติดตาม 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และขอเชิญชวนทุกคนมาเยี่ยมชมนิทรรศการดาราศาสตร์ชุดใหม่ และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรียนรู้เรื่องราวดาราศาสตร์ สำหรับผู้ที่สนใจข่าวสารดาราศาสตร์เพิ่มเติม สามารถติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ