posttoday

สภาฯ ไฟเขียวส่งศาลตีความ ส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญ

09 กุมภาพันธ์ 2564

พลังประชารัฐ-250 ส.ว. ไฟเขียว ส่งศาลตีความอำนาจรัฐสภาตั้ง ส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทย เสนอ เปิดชื่อประจาน

วันที่ 9 ก.พ. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อขอมติจากรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหา เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 210 (2) ที่สมาชิกรัฐสภา จำนวน 73 คน นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ  ส.ว. เป็นผู้นำเสนอ

โดยก่อนหน้านี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐเปิดเผยว่า ที่เสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด แต่เมื่อมาทำหน้าที่เป็นรองประธานกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ ก็พบประเด็นข้อกฎหมายว่า รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่  เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ให้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น  ดังนั้นหากไม่ทำให้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ อาจจะมีปัญหาในการลงมติวาระ 3 สมาชิกรัฐสภาไม่กล้าให้ความเห็นชอบ จนงดออกเสียง ทำให้เสียงเห็นชอบในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ

ทั้งนี้การอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาวันนี้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล อย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วย เพราะเสมือนเป็นการดึงให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า และการแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.  ก็สามารถทำได้ตามมาตรา 256  ในขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้ได้ข้อยุติในความเห็นที่ขัดแย้งกัน และเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดความเสียหาย

หลังอภิปรายครบทุกฝ่าย ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ เห็นด้วย 366 ต่อ 315 งดออกเสียง 15 เสียง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาต่อไป

ขณะที่นายวิสาร เตชะธีระวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นทันทีหลังมีมติ ส่งญัตติดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ขอให้ประธานใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เปิดเผยการลงมติว่าสมาชิกรัฐสภาคนใดมีมติอย่างโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล ผลการลงมติดังกล่าวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิก แต่นายพรเพชร ได้ตัดบทเข้าสู่วาระการประชุมต่อไปทันที โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องที่นายวิสารร้องขอแต่อย่างใด สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลเช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้โหวตคว่ำมติดังกล่าว ร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน แต่แพ้เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรค พปชร. และ ส.ว.